ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เตรียมปลูกกล้าไม้ฟื้นฟูเหมืองหินดงมะไฟปี 2 ในฤดูฝนนี้!

 

           28 ปี ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้ยืนหยัดต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) เนื้อที่ 175 ไร่ และโรงโม่หิน เนื้อที่อีก 50 ไร่ ที่ตั้งอยู่บน ‘ภูผาฮวก’ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ตามประทานบัตรที่ 27221/15393 ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ที่ละเมิดสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชน

 

           เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เข้าเจรจากับรองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตการประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ เพื่อให้มีคำสั่งปิดและฟื้นฟูเหมืองแร่หินฯและโรงโม่ ที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู แต่รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูและหน่วยงานที่เกี่ยวได้ข้องปฏิเสธที่จะมีคำสั่งปิดและฟื้นฟูเหมืองแร่หินฯ และโรงโม่ กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงทำการปักหลักชุมนุมปิดบริเวณทางเข้า-ออกเหมืองแร่หินฯและโรงโม่ด้วยตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมเรียกร้อง 3 ข้อ คือ (1) ปิดเหมืองหินและโรงโม่ (2) ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และ (3) พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี ต่อด้วยการทำกิจกรรมทวงคืนภูผาป่าไม้ ‘เปลี่ยนเขตเหมืองหินให้เป็นเขตป่าชุมชน’ และกิจกรรม 26 ปี การต่อสู้ สู่ชัยชนะ ‘เปลี่ยนโรงโม่หินเป็นป่าชุมชน หยุดเหมืองหินถาวร’ ในวันที่ 4 กันยายน 2563 และวันที่ 25 กันยายน 2563 เนื่องจากใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง และใบประทานบัตรเพื่อทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด หมดอายุลงตามลำดับ ซึ่งการเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในครั้งนี้นับว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญที่สามารถปิดเหมืองแร่หินฯและโรงโม่ได้สำเร็จตามข้อเรียกร้องที่ 1 ที่ได้ตั้งมั่นไว้ หลังจากที่ปิดเหมืองแร่หินฯและโรงโม่หินได้สำเร็จกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทำการหว่านเมล็ดปอเทือง ปลูกเมล็ดทานตะวัน เพื่อปรับหน้าดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงทำการปลูกต้นไม้ประดับ ปลูกต้นตะไคร้ยึดหน้าดินให้แข็งแรง เพื่อเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการฟื้นฟูภูผาป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์แบบเดิมตามข้อเรียกร้องที่ 2

           ในปี พ.ศ.2564 กลุ่มอนุรักษ์ฯ เริ่มกระบวนการฟื้นฟูภูผาป่าไม้ด้วยการสร้างเรือนเพาะชำ เก็บเมล็ดพันธุ์ไม้พื้นถิ่นอย่าง ต้นกุง ต้นยางนา ต้นยางนาแดง ต้นชาด ต้นฮัง ต้นจิก ต้นสะเดา ต้นขี้เหล็ก ต้นสะแบง ต้นหว้า ต้นขนุน ต้นมะค่าโมง ต้นจามจุรี ไผ่ และหญ้าแฝก รวมถึงเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกสวยงาม เช่น ต้นกาฬพฤกษ์ ต้นราชพฤกษ์ ต้นกัลปพฤษ์ ต้นทองอุไร ต้นสุพรรณิการ์ ต้นหางนกยูง นำมาเพาะพันธุ์กล้าไม้ที่เรือนเพาะชำ เมื่อถึงฤดูฝนของปีช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ก็ร่วมแรงร่วมใจกันขนกล้าไม้จากเรือนเพาะชำที่ไปยังบริเวณ “ภูผาฮวก” ขุดหลุมด้วย จอบ เสียม หรือ อีเตอร์เหล็กขุดเจาะ นำต้นไม้ออกจากถุงดำปลูกลงดิน นำฟางมาปกคลุมโคนต้นไม้และนำไม้ไผ่มาเสียบไว้ตรงโคนต้นแล้วมัดด้วยเชือกฟาง เพื่อช่วยพยุงกล้าไม้ให้เจริญเติบโตผลิดอกออกใบเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ในอนาคต นอกจากนี้ยังนำอินทรียวัตถุต่าง ๆ เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ เศษผัก เปลือกหน่อไม้ ฯลฯ จากหมู่บ้านใกล้เคียงไปเทบนภูผาฮวก เพื่อให้อินทรียวัตถุย่อยสลายกลายเป็นดินและปรับสภาพหน้าดินให้พร้อมสำหรับการปลูกต้นไม้

           ผลของความมุ่งมั่นตั้งใจในการฟื้นฟูภูผาป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์จากความพยายามปรับหน้าดินและปลูกกล้าไม้ทำให้พื้นที่ภูผาฮวกซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่หินฯมาก่อน เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจากที่เคยมีแต่เศษหินปะปนดินเพียงเล็กน้อยไร้ซึ่งต้นไม้และใบหญ้า ได้กลายเป็นภูเขาที่มีชีวิตจากความเขียวของดอกไม้ ต้นหญ้า กล้าไม้ ที่ปลูกฟื้นฟูเริ่มเติบโต เช่น ต้นหางนกยูง ต้นขี้เหล็ก ต้นมะค่าโมง ต้นจามจุรี ไผ่ ต้นสุพรรณิการ์ ต้นกัลปพฤษ์ ฯลฯ รวมถึงระบบนิเวศเริ่มฟื้นตัวกลับมาสัตว์ป่าอย่างนกที่กลับมาสร้างรัง วางไข่ ฟักไข่ อยู่บนกิ่งไม้หรือต้นไม้ แมลงบินมากินน้ำหวานของเกสรดอกไม้ ถึงแม้กล้าไม้ที่ปลูกฟื้นฟูเมื่อปี 2564 จะเริ่มเติบโต แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลให้แข็งแรงและการปลูกกล้าไม้ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นในปี 2565 นี้ กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงเตรียมฟื้นฟูภูผาป่าไม้ในปีที่ 2 โดยทำการเพาะพันธุ์กล้าไม้ไว้ที่เรือนเพาะชำจำนวนกว่า 2,000 ต้น สำหรับปลูกฟื้นฟูภูผาป่าไม้ในช่วงฤดูฝนนี้ให้ครอบคลุมพื้นที่และปลูกซ่อมแซมในส่วนที่ตายจากการปลูกฟื้นฟูเมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากนี้จะทำการบำรุง ดูแล กล้าไม้ให้แข็งแรงเจริญเติบโต เพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดีในอนาคตตามข้อเรียกร้องที่ 3