ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

โผล่อีก! สผ. แจ้ง หากปชช. อยากได้สำเนาอีไอเอ โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ต้องจ่ายกว่า 20,000 บาท

 

วันที่ 19 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงวันที่ 16 กันยายน 2564 แจ้งผลเรื่องการพิจารณารายงานโครงการบริหารจัดการน้ำโขงการโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงระยะที่ 1 ช่วง ปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ ว่าตามที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้ส่งหนังสือขอข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประเภทโรงการพัฒนาแหล่งน้ำและเกษตรกรรม โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ โดยพื้นที่โครงการจะครอบคลุม อ.เชียงคาน อ.ปากชม อ.นาด้วง จ.เลย อ.สุวรรณคูหา อ.นากลาง อ.โนนสัง อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู อ.น้ำโสม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี และอ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่นนั้น คณะผู้ชำนาญการได้พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ(คชก.) ได้พิจารณารายงานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 และมีมติให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือสทนช. และกรมชลประทาน ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายงานดังกล่าว และสทนช.จะต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามติของ คชก. จนกว่าจะผ่านการพิจารณา

ขณะเดียวกัน สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ได้ส่งหนังสือแจ้งต่อเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน อีก 1 ฉบับ โดยระบุหนังสือออกวันที่ 13 กันยายน 2564 ว่า สผ. ได้รับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ช่วงปากน้ำเลย เขื่อนอุบลรัตน์(ฉบับเดือนมีนาคม) ของกรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และบริษัทที่ปรึกษา ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด และรายงานดังกล่าวได้นำเข้าสู่การประชุมของ คชก. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา  ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติให้กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มเติมข้อมูลในรายงานตามแนวทาง รายละเอียด ประเด็นหรือหัวข้อที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ กำหนด ซึ่งปัจจุบัน ทางกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติยังไม่ได้จัดส่งรายงานที่ได้แก้ไขตามข้อคิดเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มายัง สผ. แต่อย่างใด และในกรณีการขอเอกสารการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ดังกล่าว ทาง สผ. ไม่ขัดข้อง แต่การขอคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการขอสำเนาเอกสารขนาดเอ 4 หน้าละ 1 บาท จำนวน 5,050 หน้า เป็นเงิน 5,050 บาท ขนาดกระดาษเอ 3 หน้าละ 3 บาท จำนวน 55 หน้า เป็นเงิน 165 บาท รวมเป็นเงิน 5,265 บาท และหากให้รับรองสำเนาเอกสาร อัตราคำรับรองละ 3 บาท (5,105) จะมีค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 15,315 บาท ดังนั้นมีค่าใช้จ่ายร่วมเป็นเงิน 20,530 บาท ตามที่กำหนดในประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561

นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง อีสาน กล่าวว่า โดยเชิงหลักการ ประชาชนจะเอาข้อมูลมาดู มันควรเป็นสิทธิอันชอบธรรม เพราะประชาชนเป็นผู้ได้เสียจากโครงการ กรณีการขอรายงานอีเอไอโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล และโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ขณะนี้  ยิ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ประกาศของ สผ. ดังกล่าว คือกลไกที่ขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง มีการแก้ระเบียบให้ประชาชนได้ข้อมูลมาอ่านเพื่อการตรวจสอบโครงการ

“โครงการแต่ละโครงการใช้เงินหลักล้านล้านบาททั้งในการจัดทำรายงานการศึกษาและการจัดทำโครงการ ดังกรณีโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล แต่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลยากมาก ซึ่งทางภาคประชาชนได้เตรียมล่ารายชื่อเพื่อยื่นคัดค้านโครงการนี้ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วย”

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน กล่าวว่า คิดว่าชาวบ้านไม่ควรจะต้องจ่ายเงินในการได้เอกสารรายงานผลกระทบดังกล่าว เพราะพวกเขาคือคนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ชาวบ้านจะมีแต่เสียกับเสีย ต้องเสียพื้นที่ให้กับโครงการ และต้องเสียสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ 

“รัฐไม่ควรจะมาเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ข้อมูลได้ถึงประชาชนมากกว่า อาจจะเป็นการคัดลอกข้อที่เป็นซีดีหรือออนไลน์ก็ได้ ทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านเข้าถึงรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางนโยบายที่สำคัญ” นายสิริศักดิ์ กล่าว

โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ระยะที่ 1  มีเป้าหมายเพื่อการผันปริมาณน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามายังพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย จุดเริ่มต้นโครงการที่ปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ด้วยการปรับปรุงปากแม่น้ำเลย ขุดคลองชักน้ำ 1 แถว เจาะอุโมงค์แบบทางเปิดน้ำจำนวน 3 ช่วง คลองลำเลียงน้ำ 5 ช่วง รวมระยะทางการผันน้ำทั้งหมด 174 กิโลเมตร คาดว่าจะมีปริมาณน้ำผันจากแม่น้ำโขง 1,894 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นในฤดูฝน 1307 ล้าน ลบ.ม. และ 587 ล้าน ลบ.ม. ในฤดูแล้ง ลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์  ยังไม่มีการพัฒนาระบบชลประทาน คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาโครงการทั้งหมด 9 ปี งบประมาณ 157,045 ล้านบาท  ทั้งนี้แผนการพัฒนาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูลทั้งระบบ มีทั้งหมด 5 ระยะ ด้วยการพัฒนาอุโมงค์ผันน้ำ 17 แถว งบประมาณกว่า 1.9 ล้านล้านบาท โดยระบุมีการเสนอให้สร้างเขื่อนปากชม บนแม่น้ำโขงสายหลักในระยะที่ 3 และเขื่อนบ้านกุ่มในระยะที่ 5 ในแผนการพัฒนาโครงการดังกล่าวอีกด้วย  ที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำโขง เลย มูล และชี  ได้แสดงจุดยืนในการคัดค้านโครงการผันน้ำ เนื่องจากกังวลต่อความไม่คุ้มค่าของโครงการและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานที่ผ่านมาเช่นกรณีโครงการโขง ชี มูล เป็นต้น