webmaster@thaingo.org

กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย รุดยื่นหนังสือถึง คนร. ค้านการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 และให้จัดทำแผนแม่บทฯ ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.แร่

Back
26 Jan 2023

 

           24 พฤศจิกายน 2565 ที่ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร เวลา 11.00 น. ตัวแทนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชจังหวัดมุกดาหาร ในนามเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เพื่อยื่นหนังสือผ่านจังหวัดมุกดาหาร ถึงคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) เรื่อง ขอคัดค้านการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 และขอเรียกร้องให้การจัดทำแผนแม่บทฯ ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.แร่ โดยการยื่นหนังสือในครั้งนี้ได้มี นายธนิศร์ เสถียรนาม ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมุกดาหารเป็นตัวแทนผู้ว่าราชการมารับหนังสือ

           ซึ่งหนังสือระบุว่า หลักการบริหารจัดการแร่นั้นเป็นการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งในการจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ทำเหมืองและพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบต้องครอบคลุมและเป็นธรรม

           แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับแรก (พ.ศ. 2560 - 2564) มีความพยายามในการลดความซับซ้อนของขั้นตอนกระบวนการ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการยื่นขอสำรวจและทำเหมืองแร่และการขออนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ เน้นการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และตัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน อีกทั้งยังจงใจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 อย่างชัดเจน เพราะตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยการสำรวจทรัพยากรแร่ แหล่งแร่สำรอง การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ พื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้ และพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่สงวนหวงห้ามตามมาตรา 17 วรรคสี่ ดังนั้น การกำหนดพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการจำแนกพื้นที่ศักยภาพแร่ และต้องกันเขตพื้นที่หวงห้ามที่กำหนดไม่ให้มีการทำเหมืองตามมาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง แต่การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมาจนถึง (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) กรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายแต่อย่างใด  เมื่อไม่มีการสำรวจพื้นที่จริง และไม่มีการกันพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายก่อน ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยว่าการบริหารจัดการแร่จะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

           ด้วยกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ได้ติดตามโครงการเหมืองแร่หินทรายอุตสาหกรรม  ตามคำขอประทานบัตรที่ 2/2559 บริษัท ทรี มาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด ในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านนาคำน้อย ต.คำป่าหลาย อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร เนื้อที่คำขอ 215 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลงที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นคำขออนุญาตประทานบัตรและขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงหมูแปลงที่ 2 แต่ทางกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า  ขั้นตอนกระบวนการไม่ถูกต้อง ดังนี้

           กรณีที่ 1 พื้นที่คำขอประทานบัตรเลขที่ 2/2559 บริษัท ทรีมาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด ขัดต่อ พระราชบัญญัติ แร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่ ว่าด้วยการห้ามนำแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึมไปเป็นแหล่งแร่เพื่อทำเหมือง  มาตรา 188  บรรดาคำขอทุกประเภทที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคำขอตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 189 บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510  ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ บังคับ ให้ถือเป็นอาชญาบัตร  ประทาน บัตรหรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ฯ ฉะนั้นคำขอประทานบัตร  บริษัท ทรีมาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด จึงต้องปฏิบัติหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.แร่ 2560 โดยมีข้อเท็จจริง ตามลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

           วันที่ 1 สิงหาคม 2561 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร ได้มีการปิดประกาศคำขอประทานบัตร 30 วัน ก่อนจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นชุมชน ตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งชาวบ้านได้ใช้สิทธิ์คัดค้านตามระเบียบ

           ต่อมากลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายได้ยื่นหนังสือคัดค้านผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร  4 สิงหาคม 2561 เลขหนังสือยื่นที่พิเศษ 2561  เรื่อง คัดค้านคำขอคัดค้านประทานบัตร เลขที่ 2/2559 บริษัท ทรี มาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด  โดยมีเลขรับที่ ร. 291  ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และได้ทำหนังสือยื่น ขอยืนยันสิทธิในที่ดินทำกิน เลขที่ 10/2561 มีรายชื่อพร้อมสำเนาบัตรประชาชนเจ้าของที่ดิน 4 ราย คัดค้านด้วย ในวันเดียวกัน โดยมีเลขรับที่ ร 1654 ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด

           วันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ได้มีบันทึกการตรวจสอบ ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร และเจ้าหน้าที่กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี ร่วมกับตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ได้ลงตรวจสอบพื้นที่คำขอและพื้นที่ข้างเคียง คำขอประทานบัตรเลขที่ 2/2559 ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 พบแหล่งต้นน้ำและแหล่งน้ำซับซึม ในพื้นที่ จึงได้จัดทำบันทึกร่วมกันในเวลาต่อมา    

           วันที่ 24 มิถุนายน 2562  เทศบาลตำบลคำป่าหลายได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแสวงข้อเท็จจริง ที่ 603/2562 มีบันทึกข้อมูลผลการตรวจสอบของคณะกรรมการแสวงหาเท็จจริง จากที่คณะทำงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในพื้นที่ในวันที 11 กันยายน 2562 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากเทศบาลตำบลคำป่าหลายและชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง สภาพในพื้นที่คำขอประทานบัตร  ซึ่งปรากฏรายละเอียดข้อเท็จจริง และเป็นสาระสำคัญที่จะส่งผลต่อการพิจารณาอนุมัติอนุญาตประทานบัตร ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560

           ประเด็นที่ 1 พบบ่อน้ำซับ(ชื่อบ่อน้ำบุ้น) จำนวน 3 บ่อ ที่อยู่ในรัศมี 500 เมตร ในที่ข้างเคียงคำขอประทานบัตรพบบ่อน้ำซับซึม 3 บ่อ บริเวณทิศตะวันออกของพื้นที่คำขอประทานบัตรซึ่งมีน้ำไหลตลอดทั้งปี ประชาชนในพื้นที่ใช้ในการอุปโภค-บริโภค

           ประเด็นที่ 2 ความเดือดร้อนของราษฎรและความกังวลในอนาคต พบผู้ถือครองที่ดินจำนวน 82 คน ที่มีเอกสารสิทธิ์บริเวณโดยรอบรัศมี 500 เมตร ที่มีแนวเขตจากเขตประทานบัตรบางส่วนไม่ได้เข้าร่วมการประชาคมในครั้งนั้น มีข้อกังวลหากเกิดเหมืองหินอาจเกิดผลกระทบต่อภูมิทัศน์ทางกายภาพของพื้นที่จะเปลี่ยนแปลงไป เกิดมลภาวะทางเสียง มีฝุ่นละออง มีปัญหาเรื่องการสัญจรและโครงสร้างพื้นฐานอาจเกิดความเสียหาย ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชนและสุขภาพอนามัยอาจเปลี่ยนไป

           ประเด็นที่ 3  มีลำธารหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ประเด็นนี้จากการลงตรวจสอบพื้นที่คำขอประทานบัตรในวันที่ 10 กันยายน 2562 พบมีร่องน้ำในพื้นที่จำนวน 2 ร่อง พบเป็นแหล่งต้นน้ำ ร่องแรก (ฮองด่านกระลอม) เป็นร่องน้ำที่ไหลจากบริเวณพื้นที่คำขอประทานบัตรจากทิศตะวันออก ไปทิศตะวันตก ซึ่งไหลลงสู่ห้วยปง อยู่ระหว่างหมายเลขหลักเขตเหมืองแร่ หลักที่ 7 และ หลักที่ 8 ร่องที่สอง (ฮองถ้ำสูง) ) เป็นร่องน้ำที่ไหลจากบริเวณพื้นที่คำขอประทานบัตรจากทิศตะวันออก ไปทิศตะวันตก อยู่ระหว่างหมายเลขหลักเขตเหมืองแร่ หลักที่ 11 และ หลักที่ 13 การใช้ประโยชน์จากร่องน้ำดังกล่าวในฤดูฝนใช้ เพื่ออุปโภค - บริโภค เป็นแหล่งต้นน้ำไหลลงสู่ห้วยปง และลำห้วยบางทราย ซึ่งแหล่งน้ำลำธารนี้ไม่ได้ระบุในการยื่นคำขอประทานบัตรดังกล่าวนี้ด้วย พบบ่อน้ำซับซึม 3 บ่อ บริเวณข้างเคียงบริเวณทิศตะวันออกของพื้นที่คำขอประทานบัตรซึ่งมีน้ำไหลตลอดทั้งปี ประชาชนในพื้นที่ใช้ในการอุปโภค-บริโภค

           ประเด็นที่ 4 การทำประชาคมหมู่บ้านนาคำน้อยหมู่ที่ 6 เป็นเท็จ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวคณะทำงานฯ เห็นว่ามิได้เป็นประเด็นอันเป็นสาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากองค์กรอิสระ (ป.ป.ท.) แต่หลังจากคณะทำงานได้ทำการตรวจสอบพบรายชื่อประชาชน นายสาร ไชยบัน ซึ่งไม่ได้ร่วมประชาคมด้วย แต่ปรากฏภายหลังมีชื่อแนบท้ายประชาคมในวันนั้นด้วย เบื้องต้นคณะทำงานได้ทำบันทึกข้อเท็จจริงกับนายสาร ไชยบันไว้แล้ว ขณะที่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติแร่ 2560 เหมืองประเภทที่ 2 ต้องทำการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในรัศมี 500 เมตร ซึ่งมีหมู่บ้านอีก 3 หมู่บ้าน ที่มิได้ทำประชาคม ปรากฏแค่หมู่ 6 บ้านนาคำน้อยหมู่เดียวเท่านั้น จึงเป็นการประชาคมที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ

           วันที่ 26 กันยายน 2562 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร ได้รับผลการตรวจสอบต้นกำเนิดของแหล่งน้ำและทิศทางการไหลของชั้นน้ำใต้ดิน จากสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 10 ในบริเวณพื้นที่คำขอประทานบัตร และข้างเคียงพบแหล่งน้ำผุดจำนวน 2 จุด มีแหล่งน้ำซับซึมซึ่งเป็นแหล่งน้ำผิวดินที่มีคุณภาพดีมีประมาณอัตราการไหล 2-10 ลบ.ม./ชม. ทิศทางการไหล ไหลจากทิศตะวันออก เฉียงเหนือลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่โครงการ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ที่ประสานความร่วมมือกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด ทำให้ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนแล้วว่าในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่คำขอประทานบัตรมีแหล่งน้ำซับซึมอย่างชัดเจน และหากมีการทำเหมืองแร่ขึ้นในเขตคำขอประทานบัตรย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแหล่งน้ำซับซึมในพื้นที่อย่างแน่นอน

           ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 เทศบาลตำบลคำป่าหลาย ได้ขอเปิดประชุมวิสามัญสมัยที่ 1 ประจำปี 2562 เรื่อง พิจารณาขอทบทวนมติสภาเทศบาลตำบลคำป่าหลายในการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่หินทรายเพื่ออุตสาหกรรม เลขที่ 2/25559 ของบริษัท ทรีมาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด ที่ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว  สืบเนื่องจากมีข้อมูลใหม่ จึงขอเปิดประชุมสภาใหม่ ซึ่งในวันนั้นมีมติสภาเทศบาล ไม่เห็นชอบ 11 เสียง ต่อการยื่นคำขอประทานบัตร ดังกล่าว จึงถือเป็นเอกฉันท์ในระเบียบวิธีการ ในการยื่นคำขอของเจ้าหน้าที่เหมืองแร่ประจำท้องถิ่น

           หากพิจารณาแล้ว พื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 2/2559 ของบริษัท ทรีมาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด เข้าข่ายพื้นที่ที่อาจกำหนดเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมตามมาตรา 17 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีหลักฐานข้อมูลเอกสาร ปรากฎชัดเจนแล้ว ว่าพื้นที่คำขอประทานบัตรดังกล่าว ตามประกาศ กำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ 7 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 เนื้อที่ 300 ไร่ มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 17 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 อย่างแน่นอน

           แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การจัดทำแผนแม่บทฉบับนี้ยังคงให้ความสำคัญกับ “มูลค่าแร่” มากกว่าชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เน้นการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการอนุมัติ/อนุญาตให้มีการทำเหมืองที่สะดวกรวดเร็วและเพิ่มพื้นที่ทำเหมืองให้มากที่สุด โดยไม่คำนึงว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมต่อการทำเหมืองหรือไม่ เป็นพื้นที่เปราะบางหรือควรสงวนหวงห้ามไม่ให้ทำเหมืองหรือไม่ หน่วยงานรัฐยังคงเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เฉกเช่นเดียวกันกับแผนแม่บทฯ ฉบับแรก ที่อ้างการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในระยะเริ่มแรกโดยหลักการให้เป็นไปเพื่อให้กิจการเหมืองแร่ที่เปิดดำเนินการอยู่ก่อนหรือได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ และมีความจำเป็นเร่งด่วน จึงมีการกำหนดพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ พื้นที่ตามประทานบัตร คำขอต่ออายุประทานบัตร คำขอประทานบัตร และพื้นที่ตามอาชญาบัตรที่ได้ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ รวมถึงพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรม และพื้นที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการทำเหมืองประเภทที่ 1 หรือกรณีการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ให้ถือเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ โดยไม่มีการสำรวจและกันพื้นที่หวงห้ามตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนแต่อย่างใด

           ในขั้นตอนกระบวนการจัดทำแผนแม่บทฯ ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและอาจจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองอย่างครอบคลุมและเพียงพอ ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีข้อมูลเกี่ยวกับความเห็น ข้อร้องเรียนของประชาชน ที่เคยยื่นหนังสือไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนหลายครั้ง แต่หน่วยงานรัฐไม่เคยนำมาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดทำแผนแม่บทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและเป็นระบบ อีกทั้ง ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อ้างถึงการมีส่วนร่วมยังไม่มีความจริงใจอย่างเห็นได้ชัด ผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ สมควรที่จะเป็น “ผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่” ไม่ใช่กลุ่มที่มีข้อวิตกกังวล เพราะผู้ที่สนับสนุน หรือหน่วยงานราชการและสถาบันทางวิชาการ ก็มีข้อวิตกกังวลด้วยเช่นกัน การกำหนดผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่ชัดเจนดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ไม่ได้เห็นว่าการทำเหมืองแร่สร้างผลกระทบมากมายและมีประชาชนจำนวนมากต้องการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในนามผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่

           นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐยังหลีกเลี่ยงปัญหาที่แท้จริงของการทำเหมืองแร่ ว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือกระบวนการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของการประกอบกิจการเหมืองแร่ การปล่อยปละละเลยของหน่วยงานรัฐจนทำให้เกิดการทำเหมืองในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ความอ่อนแอของมาตรการตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การไม่ตรวจสอบการทำเหมืองว่าเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนหรือไม่ การไม่ติดตามว่ามีชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ และกระบวนการฟื้นฟูทั้งในระหว่างและหลังทำเหมืองแร่  ความล้มเหลวในการปฏิบัติงานเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ไม่เคยนำมาพิจารณา และด้วยเหตุนี้ปัญหาจึงไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด เมื่อไม่แก้เรื่องนี้ย่อมไม่ต้องพูดถึงเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)  โมเดลเศรษฐกิจ BCG  โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเพียงเรื่องหลอกลวง

           ดังนั้น จึงขอให้ชะลอการใช้บังคับ (ร่าง) แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) เอาไว้ก่อน และขอให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติสั่งการให้คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กลับไปเริ่มกระบวนการสำรวจพื้นที่ใหม่ เพื่อดำเนินการจำแนกพื้นที่ศักยภาพแร่ และต้องกันเขตพื้นที่หวงห้ามที่กำหนดไม่ให้มีการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนจะนำพื้นที่มาพิจารณาตามหลักดุลยภาพ และกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันทั้งผู้สนับสนุนโครงการ และผู้ไม่สนับสนุนโครงการ ประกอบกับต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่อย่างครอบคลุม

           ทั้งนี้หลังจากยื่นหนังสือ นายธนิศร์ เสถียรนาม ได้กล่าวต่อตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายว่า จะดำเนินการส่งหนังสือฉบับนี้ไปให้หน้วยงานที่เกี่ยวข้อง

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

วิลาศินี ศรีวงษา : ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112