ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยื่นหนังสือผ่าน จว.เลย ถึง คนร. คัดค้านการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 และเรียกร้องให้การจัดทำแผนแม่บทฯ ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.แร่

 

           วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เวลาประมาณ 13.00 น. นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเลย เพื่อยื่นหนังสือในนามเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ถึงคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.)  เพื่อขอคัดค้านการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 และขอเรียกร้องให้การจัดทำแผนแม่บทฯ ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.แร่ ซึ่งมี นางสาววิริยาภรณ์ อยู่นาน หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเลยเป็นตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเลยมารับหนังสือ

           โดยเนื้อหาหนังสือได้ระบุว่า หลักการบริหารจัดการแร่นั้นเป็นการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งในการจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ทำเหมืองและพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบต้องครอบคลุมและเป็นธรรม

           แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับแรก (พ.ศ. 2560 - 2564) มีความพยายามในการลดความซับซ้อนของขั้นตอนกระบวนการ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการยื่นขอสำรวจและทำเหมืองแร่และการขออนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ เน้นการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และตัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน อีกทั้งยังจงใจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 อย่างชัดเจน เพราะตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยการสำรวจทรัพยากรแร่ แหล่งแร่สำรอง การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ พื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้ และพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่สงวนหวงห้ามตามมาตรา 17 วรรคสี่ ดังนั้น การกำหนดพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการจำแนกพื้นที่ศักยภาพแร่ และต้องกันเขตพื้นที่หวงห้ามที่กำหนดไม่ให้มีการทำเหมืองตามมาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง แต่การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมาจนถึง (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) กรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายแต่อย่างใด  เมื่อไม่มีการสำรวจพื้นที่จริง และไม่มีการกันพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายก่อน ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยว่าการบริหารจัดการแร่จะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

           โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ขอยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีมาตรการและมาตรฐานเพียงพอในการทำเหมืองแร่ทองคำ เพราะจากการทำเหมืองในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย เห็นได้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการทำเหมืองแร่  เป็นพื้นที่สูงกว่าชุมชน และเป็นแหล่งต้นน้ำของชาวบ้านในพื้นที่ พบตาน้ำผุดจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวตามมาตรา 17 วรรค 4 ต้องกันออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง อีกทั้งเมื่อมีการทำเหมืองแร่ก็ปล่อยปละละเลย ไม่ติดตามตรวจสอบดูแล ว่ามีการทำตามมาตรการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หรือไม่ จนกระทั่งผลกระทบกระจายไปทั่วพื้นที่ ทั้งในน้ำและดิน จนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทั้งจากสารโลหะหนักที่อยู่ในกระแสเลือด และค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการที่ไม่สามารถใช้น้ำในพื้นที่ และไม่สามารถหาอาหารในท้องถิ่นรับประทานได้ จากการปนเปื้อนสารเคมี

           อีกทั้ง เมื่อมีการปิดเหมืองแร่ไปแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่กลับต้องพบกับอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ คือการเพิกเฉยต่อกระบวนการฟื้นฟูเหมืองแร่ หลังจากบริษัทฯ ปัดความรับผิดชอบด้วยการล้มละลาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างปัดภาระความรับผิดชอบ ผลักให้ชาวบ้านต้องเผชิญผลกระทบต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานที่เป็นที่ประจักษ์ว่า ประเทศไทยไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีเหมืองแร่ทองคำ และพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ก็ไม่สมควรที่จะถูกกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามที่แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฯ ได้กำหนดไว้

           จากแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การจัดทำแผนแม่บทฉบับนี้ยังคงให้ความสำคัญกับ “มูลค่าแร่” มากกว่าชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เน้นการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการอนุมัติ/อนุญาตให้มีการทำเหมืองที่สะดวกรวดเร็วและเพิ่มพื้นที่ทำเหมืองให้มากที่สุด โดยไม่คำนึงว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมต่อการทำเหมืองหรือไม่ เป็นพื้นที่เปราะบางหรือควรสงวนหวงห้ามไม่ให้ทำเหมืองหรือไม่ หน่วยงานรัฐยังคงเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เฉกเช่นเดียวกันกับแผนแม่บทฯ ฉบับแรก ที่อ้างการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในระยะเริ่มแรกโดยหลักการให้เป็นไปเพื่อให้กิจการเหมืองแร่ที่เปิดดำเนินการอยู่ก่อนหรือได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ และมีความจำเป็นเร่งด่วน จึงมีการกำหนดพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ พื้นที่ตามประทานบัตร คำขอต่ออายุประทานบัตร คำขอประทานบัตร และพื้นที่ตามอาชญาบัตรที่ได้ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ รวมถึงพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรม และพื้นที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการทำเหมืองประเภทที่ 1 หรือกรณีการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ให้ถือเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ โดยไม่มีการสำรวจและกันพื้นที่หวงห้ามตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนแต่อย่างใด

           ในขั้นตอนกระบวนการจัดทำแผนแม่บทฯ ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและอาจจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองอย่างครอบคลุมและเพียงพอ ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีข้อมูลเกี่ยวกับความเห็น ข้อร้องเรียนของประชาชน ที่เคยยื่นหนังสือไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนหลายครั้ง แต่หน่วยงานรัฐไม่เคยนำมาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดทำแผนแม่บทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและเป็นระบบ อีกทั้ง ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อ้างถึงการมีส่วนร่วมยังไม่มีความจริงใจอย่างเห็นได้ชัด ผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ สมควรที่จะเป็น “ผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่” ไม่ใช่กลุ่มที่มีข้อวิตกกังวล เพราะผู้ที่สนับสนุน หรือหน่วยงานราชการและสถาบันทางวิชาการ ก็มีข้อวิตกกังวลด้วยเช่นกัน การกำหนดผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่ชัดเจนดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ไม่ได้เห็นว่าการทำเหมืองแร่สร้างผลกระทบมากมายและมีประชาชนจำนวนมากต้องการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในนามผู้ไม่สนับสนุนโครงการเหมืองแร่

           นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐยังหลีกเลี่ยงปัญหาที่แท้จริงของการทำเหมืองแร่ ว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือกระบวนการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของการประกอบกิจการเหมืองแร่ การปล่อยปละละเลยของหน่วยงานรัฐจนทำให้เกิดการทำเหมืองในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ความอ่อนแอของมาตรการตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การไม่ตรวจสอบการทำเหมืองว่าเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนหรือไม่ การไม่ติดตามว่ามีชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ และกระบวนการฟื้นฟูทั้งในระหว่างและหลังทำเหมืองแร่  ความล้มเหลวในการปฏิบัติงานเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ไม่เคยนำมาพิจารณา และด้วยเหตุนี้ปัญหาจึงไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด เมื่อไม่แก้เรื่องนี้ย่อมไม่ต้องพูดถึงเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)  โมเดลเศรษฐกิจ BCG  โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเพียงเรื่องหลอกลวง

           ดังนั้น จึงขอให้ชะลอการใช้บังคับ (ร่าง) แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) เอาไว้ก่อน และขอให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติสั่งการให้คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กลับไปเริ่มกระบวนการสำรวจพื้นที่ใหม่ เพื่อดำเนินการจำแนกพื้นที่ศักยภาพแร่ และต้องกันเขตพื้นที่หวงห้ามที่กำหนดไม่ให้มีการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อนจะนำพื้นที่มาพิจารณาตามหลักดุลยภาพ และกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันทั้งผู้สนับสนุนโครงการ และผู้ไม่สนับสนุนโครงการ ประกอบกับต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่อย่างครอบคลุม

           หลังจากรับหนังสือ นางสาววิริยาภรณ์ อยู่นาน ได้กล่าวต่อกลุ่มว่า ตนจะดำเนินการส่งหนังสือฉบับนี้ไปยัง คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ