ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

แอมเนสตี้ยื่นเกือบ 5,000 รายชื่อต่อ รมว.ยุติธรรม 

 

เรียกร้องปล่อยตัวและคืนสิทธิในการประกันตัวให้กับนักกิจกรรม 

วันนี้ (10 ส.ค. 65) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและนักกิจกรรม นำ 4,701 รายชื่อของประชาชนในประเทศไทยที่ร่วมเรียกร้องผ่านปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบให้กับนายสมศักดิ์ เทพสุทินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรับรายชื่อแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัว ยกเลิกข้อกล่าวหา และคืนสิทธิในการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมที่กำลังถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี และขอให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ  

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ตามที่สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนร่วมกันส่งจดหมายถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด ทั้งยังกระตุ้นให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ ลดการควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาให้น้อยสุด ซึ่งการรณรงค์นี้มีถึงวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา 

“ทางการไทยได้มีการปราบปรามอย่างกว้างขวางต่อการชุมนุมโดยสงบ และการอภิปรายทางออนไลน์ นับแต่เริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยที่มีความสงบเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เจ้าหน้าที่ยังใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาคลุมเครือเกี่ยวกับความมั่นคง สถาบันกษัตริย์ และความผิดด้านคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือเพื่อการปราบปราม และได้ตีความว่าการใช้สิทธิอย่างสงบเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย หรือเป็นความผิดต่อสถาบันกษัตริย์ และต่อมาได้มีการดำเนินคดีอาญากับนักกิจกรรม ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต” 

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทยยังระบุอีกว่า ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อภายใต้ปฏิบัติการด่วนที่มีการรณรงค์ไปทั่วโลก เรียกร้องให้ปล่อยตัวสองนักกิจกรรมที่อดอาหารประท้วง บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม และใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ เพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว โดยทั้งคู่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 และได้รับการปล่อยตัววันที่ 4 สิงหาคม 2565 ทางการได้ดำเนินคดีอาญากับทั้งสองคนที่ถึงแม้จะได้รับสิทธิในการประกันตัวแล้ว แต่ผลจากการอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 64 วันส่งผลให้ร่างการได้รับผลกระทบด้านสุขภาพซึ่งในตอนนี้ยังคงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ในขณะที่ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ถึงแม้จะได้รับการประกันตัวมาก่อนหน้านี้ แต่ยังถูกกักตัวในบ้าน 24 ชั่วโมงจากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นในที่สาธารณะ 

“แกนนำผู้ชุมนุมประท้วงยังมักถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาโดยพลการเป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อสิทธิด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของพวกเขา ปัจจุบันศาลยังได้กำหนดเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดมากขึ้น เท่ากับเป็นการจำกัดอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง การแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งข้อกำหนดให้พำนักอาศัยอยู่แต่ในบ้านนานถึง 24 ชั่วโมงต่อวัน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาล และให้ติดกำไลอีเอ็ม 24 ชั่วโมงต่อวัน”  

“ในระหว่างปี 2565 ทางการไทยได้ดำเนินคดีอาญากับผู้ชุมนุมเนื่องจากการเคลื่อนไหวโดยสงบ เจ้าหน้าที่ยังใช้การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นกับบุคคลที่เข้าร่วมในกิจกรรม ซึ่งทางการมองว่าเป็นการแสดงความเห็นต่าง รวมทั้งคนที่เป็นเด็ก และมีการใช้มาตรการต่างๆ มากขึ้นเพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ และการชุมนุมโดยสงบ และยังได้กำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดเพื่อควบคุมสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ” ปิยนุชกล่าว 

ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้ 

  • ปล่อยตัวและ/หรือยกเลิกข้อกล่าวหา และให้ยกเลิกเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุโดยทันทีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะใช้สิทธิของตนโดยสงบ และให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใดๆ ต่อนักกิจกรรม 
  • ในระหว่างรอการปล่อยตัวบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะการใช้สิทธิของตนโดยสงบ ให้การประกันว่าบุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเหมาะสม   
  • แจ้งต่อเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ