ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

คุยกับ สมบูรณ์ คำแหง “ขบวนประชาชนภาคใต้ต้องสร้างยุทธศาสตร์เอง”

ห่างหายจากไปบทสัมภาษณ์บนหน้าสื่อไทยเอ็นจีโอไปนานมาก สำหรับหนุ่มใหญ่มาดเข้มอารมณ์ดีที่ชื่อ “บังแกน” ชื่อที่เราคุ้นปากคุ้นหูมานานมาก บังแกนเป็นหนึ่งในขบวนนักพัฒนา หรือ เอ็นจีโอภาคใต้ที่ทำงานปักหลักเคียงข้างพี่น้องชาวภาคใต้มายาวนานมาก โดยเฉพาะแถบฝั่งทะเลอันดามันตอนใต้ สตูล สงขลา ผ่านการต่อสู้ทั้งร้อนและหนาว บังแกน หรือ นายสมบูรณ์ คำแหง อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ หรือ กป.อพช.ใต้  ที่วันนี้ผันตัวเองมาทำธุรกิจร้านอาหารเล็กๆ ในบ้านตนเอง

Thaingo :  ตอนนี้ สถานการณ์การต่อสู้ทางใต้เป็นอย่างไรบ้าง ประเด็นที่เคลื่อนไหว เกาะติด เผชิญหน้ากันอยู่

นายสมบูรณ์ คำแหง ถ้าเป็นประเด็นที่เป็นที่รับรู้ทั่วไปก็จะเป็นเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และเทพา ซึ่งหลังจากการเคลื่อนไหวล่าสุดในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ ได้ทำให้โครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักไป หรือที่ใช้คำว่าชะลอโครงการก็ว่าได้  ทั้งนี้ได้เป็นไปตามข้อตกลงที่มีการทำกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่มีสาระสำคัญหลักคือ ต้องสั่งยกเลิกรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และให้หยุดกระบวนการที่กำลังศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ พร้อมกันนี้ให้ตั้งคณะกรรมการอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันเพื่อจัดให้มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้เห็นภาพรวมเรื่องพลังงานภาคใต้ทั้งหมด   ซึ่งต้องใช้เวลา 9 เดือนทำเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จ แล้วค่อยมาพิจารณาทางออกเรื่องนี้กันต่อไป 

 

นอกจากนี้แล้วยังพบว่าในพื้นที่ภาคใต้เกือบทุกจังหวัดต้องพบกับโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้เชื่อเพลิงจากชีวมวล,ขยะ หรืออื่นๆ ซึ่งได้สร้างความแตกตื่นให้กับชุมชนต่างๆในภาคใต้ บนความรู้สึกกังวล และไม่ไว้วางใจกับระบบการจัดการ และการควบคุมมลพิษของผู้ประกอบการเหล่านั้น และรวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ ที่ยังคงเป็นช่องโว่ทางกฎหมายของประเทศไทย ที่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจ และหวาดกลัวกับการควรคุม หรือการกำกับดูแลของภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราจึงยังคงเห็นโครงการเหล่านี้กำลังรุกไล่ชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ อย่างสนุกสนาน  โดยการอ้างเรื่องความไม่มั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้สร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา 

ส่วนเรื่องโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้ชุดโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือจะเรียกว่าโครงการขนาดใหญ่ที่ว่าด้วย โครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจสองฝั่งทะเล อันดามัน – อ่าวไทย (สงขลา – สตูล) ,โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล และโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 (สวนกง) เพิ่งจะมีการแถลงจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2661 ทำนองว่า รัฐบาลอาจจะต้องสั่งระงับการดำเนินงานในชุดโครงการเหล่านี้ไปก่อน ด้วยเหตุผลว่าเป็นโครงการที่มีการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่อย่างหนัก หากในความเป็นจริงแล้วยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆที่ทำให้บริษัทที่ปรึกษาโครงการ และกรมเจ้าท่าไม่สามารถดำเนินโครงการไปต่อได้ อย่างเช่น

 

  • ความบกพร่อง และผิดพลาดในกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA 
  • ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลต่อรูปแบบการเชื่อมทะเลทั้งสองฝั่ง ที่ระยะหลังเริ่มมีการผลักดันรูปแบบการขุดคลอง ที่เรียกว่าคลองไทย ที่นักลงทุนด้านโลจิสติกส์เห็นว่าน่าจะมีความเหมาะสม และเป็นจริงมากกว่าที่จะใช้วิธีการทำเป็น “แลนด์บริดจ์” เท่านั้น
  • การประกาศให้จังหวัดสตูลเป็นแหล่งธรณีวิทยาระดับโลก หรือ จีโอ พาร์ค

 

พร้อมกันนี้ยังพบว่าในการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่รวมตัวเป็นเครือข่ายสองฝั่งทะเลนั้น  มีการใช้เหตุผลและข้อมูลที่เป็นจริง ยืนยันถึงความไม่เหมาะสมที่จะสร้างโครงการดังกล่าวในหลายมิติ ทั้งด้านศักยภาพท้องถิ่น ทั้งแหล่งผลิตอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ทรัพยากร และสังคมวัฒนธรรมที่อาจจะต้องสูญเสียไปเพื่อแลกกับการเกิดขึ้นของโครงการ  จนทำให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว และอาจจะมีการสั่งยกเลิกโครงการทั้งหมดในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีการสั่งเดินหน้าโครงการอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้ โดยสรุปก็คือชาวบ้านในพื้นที่คงต้องเฝ้าระวังโครงการเหล่านี้กันต่อไป

 

      นอกจากนี้ก็จะมีอีกหลายประเด็นที่ยังมีการเคลื่อนไหวกันตามสถานการณ์ อย่างเช่นกรณีประมงพื้นบ้านกับการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ยังต้องเผชิญกับการทำประโยชน์ผิดกฎหมาย และกลุ่มทุนประมงที่ยังจับสัตว์น้ำแบบไม่รับผิดชอบ กับการต้องหาทางแก้ไข หรือหาทางออกกับปัญหาที่เกิดจากการออกกฏหมายการประมงฉบับใหม่ที่หลายมาตราได้ส่งผลกระทบกับชาวประมงพื้นบ้าน ,กรณีป่าไม้ที่ดิน ที่ยังเคลื่อนไหวให้มีการเปิดพื้นที่ทางนโยบายที่ต้องการให้คนกับป่าอยู่กันได้ รวมถึงการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการรับรองสิทธิในที่ดินในลักษณะโฉนดชุมชน และการคัดง้างกับนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ที่ดินในยุคของรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผินป่า , และยังมีประเด็นที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ หรือการรับรองสัญชาติในคนไทยพลัดถิ่น รวมถึงการเรียกร้องเรื่องเขตวัฒนธรรมพิเศษ ที่ต้องการให้มีการจัดพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกินให้กับกลุ่มชาวเล นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นของสังคมเมือง เรื่องที่อยู่อาศัย ,การรณรงค์เรื่องสิทธิผู้บริโภค และอื่นๆตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

 Thaingo :   อยากให้ขยายภาพขบวนการของชาวบ้าน หรือของประชาชนในพื้นที่กับเครือข่ายเอ็นจีโอ มีการทำงานร่วมกัน จับมือกันอย่างไร ถึงได้ดูเข้มแข็งมาก สำหรับในสายตาคนนอกมองเข้ามา
สมบูรณ์ คำแหง 
: การทำงานในพื้นที่ภาคใต้ขององค์กรพัฒนาเอกชนมีการทำงานเชื่อมโยงกันมากพอสมควร และมีความกลมกลืนกับขบวนภาคประชาชนที่มีลักษณะเป็นขบวนการ คือเห็นได้จากการทำงานของ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ หรือ กป.อพช.ใต้ ที่เป็นพื้นที่เชื่อมร้อยขบวนของคนทำงานที่หลากหลายประเด็น และมีการพบปะกันอย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นทางการ คือการจัดสมัชชาประจำทุกปี และไม่เป็นทางการตามแต่สถานการณ์จำเป็น  นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเพื่อนๆนักพัฒนาอิสระ หรือกลุ่มองค์กรที่ทำงานในประเด็นที่แตกต่างออกไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็มีการประสาน เชื่อมร้อย และมีการหารือร่วมกันในเชิงประเด็น เชิงพื้นที่ และมีการหารือถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับภาคร่วมกันอยู่บ้างเป็นระยะ ทั้งนี้รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีสนับสนุนอื่นๆทั้ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สำนักงานกองทุนส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) และอื่นๆที่มีการลงมาทำงานกับขบวนภาคประชาสังคมภาคใต้ ก็มักจะมีการทำงานร่วมกันตามความเหมาะสม

ในส่วนของขบวนภาคประชาสังคม ที่มีการร่วมตัวขององค์กรชุมชนในระดับฐานล่าง โดยเฉพาะสภาองค์กรชุมชนที่มีอยู่ทุกจังหวัด และรวมถึงภาคประชาสังคมที่รวมตัวกันในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐในประเด็นต่างๆ ก็มีการทำงานแบบส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือกันตามสถานการณ์อยู่เป็นระยะ แม้จะมีช่องว่างอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ปัญหาที่จะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเชื่อมร้อยขบวนการภาคประชาชนภาคใต้ให้เป็นเวที “สภาประชาชนภาคใต้”  ที่จะเป็นพื้นที่กลางของคนใต้เพื่อสร้างพลังของภาคประชาชนให้มีความเข้มขน และมีตัวตนที่ชัดเจนมากขึ้นในอนาคต 

 

Thaingo :  การเมืองในรัฐบาล ใต้เงา คสช. ทำให้ขบวนเอ็นจีโอ หรือพี่น้องประชาชน อ่อนแอ หรือมีอุปสรรคไหม ในการต่อสู้เคลื่อนไหวไหม

สมบูรณ์  ตำแหง
:   ต่อคำถามนี้ น่าจะมีรูปธรรมการเคลื่อนไหวให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า พื้นที่ภาคใต้น่าจะเป็นพื้นที่แรกๆที่ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมโดยไม่สนใจคำสั่ง คสช.แต่อย่างใด ตั้งแต่เรื่องขาหุ้น เรื่องโครงการแผนพัฒนาภาคใต้ เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือแม้แต่ประเด็นป่าไม้ที่ดินที่ออกมาชนกับนโยบายทวงคืนผืนป่า  ด้วยเพราะที่ผ่านมาความทุกข์ร้อนของประชาชนไม่เคยหยุดนิ่ง และมันก็เกิดขึ้นกับรัฐบาลทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน หรือการเมืองในระบบไหน ประชาชนก็จะต้องได้รับความเดือดร้อนจากแนวนโยบายการพัฒนาของรัฐแทบทั้งสิ้น และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนใต้จะต้องออกมาแสดงการเคลื่อ่นไหวอย่างไม่เกรงกลังอำนาจใดก็ตามที่ไม่ชอบ  ซึ่งส่วนตัวแล้วผมคิดว่านี่คือรากฐานที่มั่นคงของการปกครองที่ประชาชนจะต้องกล้าออกมาแสดงถึงความเดือดร้อนของตน ยิ่งในสถานะที่ถูกจำกัดสิทธิเช่นนี้ก็ยิ่งต้องออกมาให้มากขึ้น

           

Thaingo  :   มองทิศทางการทำงาน การเมือง ชุมชน ความเข้มแข็งขององค์กร ในอนาคตไว้ยังไง
สมบูรณ์  คำแหง 
:   ในระดับฐานล่างจะต้องสร้างขบวนการที่เข้มแข็ง และจะต้องสร้างรูปธรรมการพัฒนาที่มีคุณภาพ จับต้องได้ และเป็นทางเลือกทางออกให้กับสังคมการพัฒนาที่มุ่งเน้นที่จะยัดเยียดแนวทางการพัฒนาในเชิงวัตถุให้กับชุมชนเท่านั้น แต่เราต้องบอก และยืนยันให้ได้ว่าเราสามารถยืนหยัดในวิถีของเราได้บนฐานศักยภาพที่มีอยู่จริง ถ้าในภาคใต้เราจะเห็นชัดว่าฐานศักยภาพสำคัญ 3 ขา คือ การเกษตร การประมง และการท่องเที่ยว ถือเป็นจุดแข็งที่การพัฒนาจากส่วนบนจะต้องเข้าใจ และมากไปกว่านั้นคือวิถีวัฒนธรรมของคนภาคใต้ก็จะต้องสอดรับกับสิ่งที่จะเข้ามาพัฒนาในพื้นที่ด้วย  ซึ่งรัฐบาลจะต้องสร้างการพัฒนาบนฐานของสิทธิชุมชนกับการยอมรับการมีส่วนร่วมที่แท้จริงตั้งแต่เริ่มต้น

            ในระดับภาค ผมเชื่อว่าเราไม่สามารถดำรงอยู่ได้เพียงลำพัง แต่เราจะต้องนำจุดดี จุดเด่นของแต่ละแห่งมาร้อยรวมกัน และสร้างให้เห็นให้เป็นขบวนการของคนภาคใต้ ที่สามารถสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาของตนเองได้ เพื่อนำไปคัดง้างกับยุทธศาสตร์การพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เกิดขึ้นจากการออกแบบของคนบางกลุ่มเท่านั้น  และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมร้อยกับภาคอื่นๆ ให้เป็นเป็นภาพใหญ่ทั้งประเทศ

            การเติบโตของชุมชน และขบวนการของภาคประชาชนในระดับต่างๆ ถือเป็นรากฐานสำคัญของการเติมโตของสังคม และการเมืองในระบบประชาธิปไตย