Back

มุมมองผู้ประสานงานเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ต่อสถานการณ์การเมืองไทย

12 September 2021

1502

มุมมองผู้ประสานงานเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ต่อสถานการณ์การเมืองไทย

 

 

เชื่อว่า คนไทยไม่น้อย ณ เวลานี้ ล้วนอยากเห็นมุมมอง ทัศนะ หรือ บทวิเคคราะห์ ข้อเสนอทางออก ทางแก้ไข ปัญหา บ้านเมือง เศรษฐกิจจากทุกๆ ฝ่าย ที่ไม่ได้มีอคติ ที่ยืนอยู่บน สิทธิเสรีภาพ และ ผลประโยชน์ของประชาชน  โดยเฉพาะ พี่น้องชาวบ้าน คนยากคนจน

คำถามที่คนไทย ไม่น้อยอยากได้ยิน หรือ ยืนยันเสียงดังๆ ว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหาร
2557 รัฐบาลมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ต่างๆ อย่างไร บ้าง ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และ นายกรัฐมนตรี  

 

          “ประเทศไทยภายใต้การรัฐประหารตั้งแต่ ปี 2557 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แรกเริ่มอาศัยสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังวุ่นวายก่อรัฐประหาร จริงอยู่ในช่วงนั้นนับว่าสามารถกุมสภาพได้ แต่หลังจากนั้นพบว่า 6 ปี ที่รัฐบาล คสช. เข้ามาดูแลกิจการภายในประเทศ กลับทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซึ่งโดยสภาวะวิสัยของทหารคือ การใช้อำนาจ สร้างการยอมรับ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า มาตรา 44 ถูกนำมาใช้มากที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อรัฐประหารในประเทศไทย ซึ่งการบริหารประเทศแบบใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ยิ่งทำให้ประเทศเดินหน้าไม่เป็น ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องรอคำสั่ง ไม่กล้าตัดสินใจ คนที่มีศักยภาพไร้ที่ยืน  ประการสำคัญที่เห็นได้ชัด และทุกรัฐบาลก่อนหน้าไม่สามารถทำได้ คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ และปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ที่วางไว้ โดยไม่สนใจคำครหา หรือวิพากษ์วิจารณ์ จากประชาชนในประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดผลกระทบกับวิถีความเป็นอยู่ของประชาชน และสิ่งแวดล้อม ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่น และฉีดยาเร่งอย่างต่อเนื่อง มีการปรับแก้กฎหมาย เกือบ 100 ฉบับต่อวัน เพื่อเปิดทาง และส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมความพร้อมปูทางก่อนจะลงจากตำแหน่ง และสร้างการยอมรับด้วยการยอมให้เกิดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

ต่อมาถึงแม้ว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือก แต่ด้วยการเตรียมความพร้อมไว้รอบด้านในสมัย คสช. จึงทำให้ไม่เกินความคาดหมายที่ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และทำหน้าที่บริหารประเทศต่อ ถึงแม้กระบวนการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะค้านสายตาของคนทั้งโลกก็ตาม  

โดยส่วนตัวมองว่า 8 ปี ที่ผ่านมา ยังไม่เห็น ความสำเร็จด้านใดเป็นที่ประจักษ์ชัด ที่จะสามารถนำพาประเทศไปในทางที่ดีขึ้น มีเพียงภาพฝัน คิดว่า หาก มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะสามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นได้ ตามแผนพัฒนาภาคใต้ โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงปรากฏเมกะโปรเจค ขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย กระจายอยู่ทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ อาทิเช่น 1) โครงข่ายการขนส่ง (ท่าเรือ สนามบิน รถไฟฟ้ารางคู่ คลองไทย ฯลฯ)  2) แหล่งน้ำ (เขื่อน อ่าง คลองผันน้ำ ฯลฯ) 3) ไฟฟ้า (ถ่านหิน นิวเคลียร์ ชีวมวล/ขยะ ฯลฯ) และ 4) ปิโตรเคมี (นิคมอุตสาหกรรม โรงกลั่น โรงแยกก๊าซ ฯลฯ) การส่งเสริมสนับสนุนโครงการต่างๆ มีทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน ซึ่งหลายโครงการได้เคยถูกยกเลิกไปแล้ว แต่พบว่า 8 ปี ที่ผ่านมาโครงการต่างๆนั้นถูกปลุกคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง และเร่งให้เร็วขึ้น โดยไม่ฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งแน่นอนผลที่ตามมาคือ ถึงแม้โครงการยังไม่เกิดแต่สร้างความแตกแยกให้กับชุมชน ผ่านกลุ่มทุนและนักการเมืองบางรายที่หวังผลประโยชน์”

 

 

 ในกรณี ปัญหา ที่ทำงานอยู่ ปัญหาสำคัญคืออะไร คุณมีแนวคิดหรือทางแก้ไข อย่างไร ทั้งในเชิงนโยบายเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว

“ตัวอย่าง ประเด็นปัญหาเรื่องประมง ที่ดูเหมือนจะจริงจังในการแก้ปัญหา แต่ก็เพื่อต้องการแก้ปัญหา IUU ที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองเท่านั้น พอหลังจากที่สหภาพยุโรปยกเลิกใบเหลือง ปัญหาเดิมๆ ก็เริ่มกลับมา เรือประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือลาก คราด ปันไฟปลากะตัก ทั้งที่พิสูจน์ชัดว่าเป็นเครื่องมือที่ทำลายระบบนิเวศและสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่ก็ยังสามารถออกทำการได้อย่างชอบธรรม และสามารถออกทำหารประมงได้ในตั้งแต่ 3 – 200 ไมล์ทะเล แต่ในขณะที่ประมงพื้นบ้าน ไม่เกิน 10 ตันครอส 85% ของเรือทั้งหมด ตาม พรก.ประมงปี 2558 และ 2560 ยังคงให้สามารถทำการประมงอยู่ที่ไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล สำหรับเรือใหญ่ที่มีปัญหาไม่สามารถไปต่อได้ก็หันกลับมาสร้างเรือเล็กๆ แต่ยังคงใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายและทำลายนิเวศอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญกลับพบว่ามีนายทุนและนักการเมืองในนามของพรรคพลังประชารัฐบางราย ได้อาศัยบารมีอำนาจของพรรครัฐบาลคอยช่วยเหลือกลุ่มชาวประมงที่ยังใช้เครื่องมือผิดกฎหมายและทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้กล้าแสดงความก้าวร้าว ไม่เกรงกลัวกฎหมาย บุกแย่งชิงของกลาง ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ และข่มขู่คุกคามกลุ่มชาวประมงที่ทำกิจกรรมอนุรักษ์ โดยมีประเด็นแนวทางแนวทางแก้ไข ดังนี้

          ประเด็นที่ 1 ประเด็นเร่งด่วน

  1. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งเร่งดำเนินการ ป้องกัน และปราบปรามการใช้เครื่องมือผิดกฎหมายและทำลายนิเวศ อย่างจริงจัง
  2. จัดส่งชุดปฏิบัติการเพื่อปราบปรามการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย และหรือการสนธิกำลังร่วมกับทหารบก และ ศร.ชล. เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้กำลังอันนำไปสู่การสูญเสียได้ในอนาคต
  3. ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมและดูแลลูกบ้าน ห้ามมิให้ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย หากพบว่าลูกบ้านยังมีการใช้เครื่องมือผิดกฎหมายในพื้นที่ใด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย
  4. ขอให้เร่งสั่งการคุ้มครอง (กรณีพื้นที่อ่าวปากพนัง)

 

ทั้งนี้หลังจากที่มีกลุ่มประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ข่มขู่คุกคาม ทำให้ขณะนี้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ต้องหลบๆซ่อนๆ เพื่อปกป้องชีวิต

 

 

ประเด็นที่ 2 แนวทางการแก้ปัญหาต่อเนื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย (กรณีอ่าวปากพนัง)

  1. ส่งเสริมและสนับสนุนแผนปฏิบัติการ “ปากพนังโมงเดล” อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงที่ไม่มีจิตสำนึก เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น และป้องกันมิให้ประเทศไทยต้องเจอใบเหลือง IUU ในอนาคต
  2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบชาวประมงที่ยังใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย และจัดเก็บข้อมูล รายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบ (จำนวนเรือและเครื่องมือที่ใช้) แพปลาและแม่ค้ารายย่อย ที่ได้รับผลกระทบ อย่างละเอียด แล้วเร่งหามาตรการช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวทันที (ห้ามใช้เครื่องมือผิดกฎหมายแบบเดิม)
  3. บังคับใช้กฎหมายตามประกาศจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง ห้ามมิให้ผู้ใด มีไว้ครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำโดยรู้ว่าได้มาโดยการกระทำความผิด (ประกาศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562) อย่างจริงจัง
  4. ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของ สว. และ สส. บางราย ที่นำเสนอข้อมูลในรัฐสภา โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน อันส่อเจตนาทำให้การปฏิบัติงาน (จับกุมเครื่องมือผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่) เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และสังคมรุมประณาม ในขณะที่กลุ่มที่อ้างเป็นประมงพื้นบ้านเหล่านั้นเป็นผู้ที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย
  5. อ่าวปากพนังไม่ควรปล่อยให้มีการสัมปทานแปลงหอย จากบทเรียนของอ่าวบ้านดอน เครือข่ายฯ มีความเห็นร่วมกันว่าทะเลไม่ควรมีเจ้าของ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน

 

กฎหมาย (พระราชกำหนดการประมงฉบับปี พ.ศ. 2558 และ 2560)

  1. ยกเลิก มาตรา 34 ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง หรือปรับแก้เป็น ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน สามารถทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง ตามศักยภาพของเรือแต่ละลำ เว้นแต่ประมงพาณิชย์ ห้ามเข้ามาทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง
  2. บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ใน มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง และมาตรา 67 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือประการประมง

 

 

 

 

การส่งเสริมและสนับสนุน

  1. ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมและดูแลลูกบ้าน ห้ามมิให้ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย หากพบว่าลูกบ้านยังมีการใช้เครื่องมือผิดกฎหมายในพื้นที่ใด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย
  2. ขอให้ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์ของชุมชน อาทิเช่น กระโจมหรือโป๊ะบ้านปลา ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ของชุมชน เพื่อเป็นที่หลบภัยให้กับสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความตระหนักในการใช้เครื่องมืออย่างรับผิดชอบ และต้องเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะเท่านั้น

ปัจจัยคุกคามจากโครงการพัฒนาของรัฐ

  1. การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ ควรให้คนใต้เป็นผู้มีส่วนร่วมในกันกำหนด มิใช่รัฐส่วนกลาง ที่จะมากำหนดให้คนใต้เป็น หรือต้องทำ กิจกรรมอื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพและนิเวศเดิมของผืนแผ่นดินใต้
  2. การจัดทำหรือปรับแก้ผังเมือง ควรอยู่บนพื้นฐานของการออกแบบแปลนบ้าน เพื่อตอบสนองคนอยู่ ซึ่งปัจจุบันพบว่ากระบวนการจัดทำหรือปรับเปลี่ยนผังเมืองนั้น เป็นไปเพื่อตอบสนอง โครงการตามยุทธศาสตร์ของประเทศเท่านั้น
  3. ปัญหาของพื้นที่ปลายน้ำคือ ไม่ว่าจะมีโครงการอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่ ต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ ล้วนส่งผลกระทบกับพื้นที่ปลายน้ำ อันเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่สำคัญของภูมิภาคหรือของประเทศทั้งสิ้น ดังนั้นควรต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และต้นทุนเดิมของพื้นที่นั้นๆ อันนำไปสู่การกระจายรายให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ที่ไม่ต้องทำลายต้นทุนเดิมที่มี

 

 

 

 

 

 

 

 การเมืองภาคประชาชนควรจะมีบทบาทหรือไม่ อย่างไร ในสถานการณ์นี้

 

          “หากกล่าวถึงเรื่องการเมือง ล้วนเกี่ยวพันกับคนทุกระดับชั้นที่ไม่สามารถหลีกหนีได้ ดังนั้นโดยส่วนตัวคิดว่า การเมืองภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมี และควรเพิ่มบทบาทมากขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะการเมืองหลักปัจจุบันขาดความเชื่อมั่นกับคนในประเทศ จากการบริหารงาน 8 ปีที่ผ่านมาของ คสช.และรัฐบาลปัจจุบันที่รวมศูนย์ไว้ที่คนๆเดียวกัน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าล้มเหลว ดังนั้นแนวทางที่จะนำพาประเทศให้ก้าวข้ามคือ การกระจายอำนาจ และควรให้การเมืองภาคประชาชนมีบทบาทมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงปัญหา และความต้องการของประชาชนได้แท้จริง

          เดิมเคยคิดว่าไม่อยากยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง แต่ปัจจุบันนี้ทุกอย่างมันรวมศูนย์ ทุกปัญหาแก้ได้ที่ศูนย์กลาง การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมจึงต้องมีการปรับแผนยุทธวิธี จะทำเช่นเดิมก็มิได้ เพราะเดิมพันของเรามันใหญ่มาก คือ ชีวิตและผืนแผ่นดินที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังนั้นเดิมเราให้ใครก็ไม่รู้มาเขียนกฎหมายควบคุมเรา แต่วันนี้อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลุกขึ้นมาเขียนกฎหมายของเราเองบ้าง ประเด็นนี้เริ่มมีการพูดคุยและจัดวางขบวนการเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนมากขึ้นในพื้นที่ภาคใต้

          จากแนวคิดก็เริ่มก่อร่างสร้างรูปธรรม สร้างพื้นที่ต้นแบบ และขยายองค์ความรู้สร้างความตระหนักร่วมของผู้คนในรูปแบบ เครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทย ที่เชื่อมร้อยผู้คนในหลายส่วนทั้ง ประชาชน นักธุรกิจ นักวิชาการ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชน นักการเมือง และหน่วยงานองค์กรของรัฐบางกลุ่ม โดยมิได้คิดมองแต่ฝ่ายเดียวอย่างเช่นเมื่อก่อน เพื่อปลดเปลื้องการผูกขาดของรัฐ กลุ่มทุน และกลุ่มศักดินา ที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์บนคราบน้ำตาของประชาชนที่มีมาหลายศตวรรษ”
 

ผู้ตอบสัมภาษณ์ : นายศรเดช คำแก้ว ผู้ประสานงานพื้นที่ มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
ผู้สัมภาษณ์ : นายอัฎธิชัย ศิริเทศ ทีมงานไทยเอ็นจีโอ

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112