กว่า 10 ปี แล้ว ที่สังเกตเห็นเด็กสาวคนหนึ่ง (ในยุคนั้น) เธอมาจากทางภาคใต้ ทุกครั้งที่มีภารกิจการชุมนุมต่อสู้ เคลื่อนไหว หรือรณรงค์ของพี่น้องชาวบ้านที่เดือดร้อน ทางภาคใต้ ผมจะเห็นเธอคนนี้ มาด้วยแทบทุกครั้ง เธอขยันยิ้มแย้มทักทาย แลกเปลี่ยนพูดคุย ถามไถ่ ชาวบ้าน ด้วยรอยยิ้ม ด้วยน้ำเสียง ทำให้อากาศร้อนๆ หรือ บรรยากาศเครียดๆ มีทางออก มีความหวังขึ้นมา
ทุกคนเรียกเธอว่า “บัณฑิตา อย่างดี” ตำแหน่งปัจจุบันคือ หัวหน้าศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) )
บัณฑิตาเป็นสาวสวยค่อนข้างขี้อาย ยิ้มง่าย แต่กระตือรือร้น เพราะจะเห็นเธอได้แทบทุกงาน ทุกเวที บนถนนที่ขบวนการชาวบ้านกำลังต่อสู้ หรือในซอกป่า ในหมู่บ้านห่างไกลที่ใครๆไม่อยากอยู่ แต่เธอจะอยู่ตรงนั้น อยู่จนกว่าชาวบ้านจะกลับ เธอทำหน้าที่ตรงนี้ ปีแล้วปีเล่า จนเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตา
คำถามแรกของผมที่อยากรู้มานานคือ “อะไรทำให้หันมาสนใจทำงานพัฒนา ครับ ?” เธอตอบว่า ก็เห็นว่างานพัฒนาเป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะต่อคนด้อยโอกาสและคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ ค่ะ” เสียงใส
ส่วนคำถามที่สอง “ได้แนวคิดอะไรมาปรับใช้บ้าง ระหว่างการดำเนินชีวิตกับการทำงานพัฒนาต่อสู้เคียงข้างพี่น้องชาวบ้านมานาน ?" คิดว่า “ เนื่องจากการพัฒนาของรัฐเอื้อประโยชน์ต่ออภิสิทธิ์ชน นายทุน และข้าราชการ ทำให้ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง ติดอันดับ 3 ของโลก สิทธิชุมชน สิทธิของประชาชนถูกละเมิดอยู่เสมอ ประชาชนต้องรวมกลุ่มกันสร้างอำนาจต่อรองเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น” คำตอบ สั้นๆ แต่ฟังดูแล้วหนักแน่น ส่วนคำถามต่อมา คำถามที่สาม เมื่อถามว่า “ปัญหา ชาวบ้านที่เราทำ ๆ เราต่อสู้มานานหลายปีมาก คิดจะสร้างบทเรียนอะไรให้สังคมไทยได้บ้าง
“อยากให้ความเหลื่อมล้ำลดลงคะ และต้องผลักดันให้มีการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายด้านที่ดินและทรัพยากร ด้านพลังงาน และด้านอื่น ๆ การต่อสู้ที่ยาวนานของประชาชนทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในหลายด้าน ขอยกตัวอย่าง 2 กรณี
1) ภาครัฐเริ่มยอมรับว่าคนอยู่กับป่าได้ มีการแก้กฎหมายให้คนอยู่กับป่าโดยมีเงื่อนไข
2) คนในสังคมเริ่มรู้ว่าวาทกรรมบางอย่างถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน วาทกรรม “ถ่านหินสะอาด” ไม่เป็นความจริง , หลายประเทศทั่วโลกสนใจใช้พลังงานหมุนเวียนทำให้มีราคาถูกลงเรื่อย ๆ วาทกรรม “พลังงานหมุนเวียนแพง” ไม่เป็นความจริง , ชาวบ้านคัดค้านโครงการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร และ วาทกรรม “ชาวบ้านขัดขวางความเจริญ” ก็ไม่เป็นความจริง ค่ะ”
งานหนักขนาดนี้ หากเป็นคนอื่นๆ คงอยากเปลี่ยนแปลง อยากสบายขึ้น อยากมั่นคงขึ้น และมีชีวิตอบอุ่นกับครอบครัวกับลูกๆ สำหรับกับเธอ เมื่อถามว่า “อยากหยุดพักบ้างไหม” และ “อยากหยุด จะไปทำอะไรต่อ ?” เธอนิ่งเงียบ เนิ่นนานก่อนจะตอบแค่เพียงสั้นๆ ช้าๆ “ยังอยากทำงานนี้ต่อค่ะ........”