ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เข้ายื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ปมขอให้ชี้แจงประเด็นปัญหาและเร่งแก้ปัญหาความเค็มในพื้นที่โดยเร็ว

 

 

วานนี้ ( 26 กรกฎาคม 65 ) กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ที่มีการทำเหมืองแร่โปแตช ในลักษณะของการทำเหมืองใต้ดิน ที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

 

ในวันดังกล่าว กลุ่มชาวบ้านประมาณ 50 คน ได้เดินทางมาถึงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ในเวลาประมาณ 10.15 น. โดยร่วมกันสักการะขอพร แล้วเริ่มเดินรณรงค์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ผ่านป้ายผ้า การกล่าวปราศรัย และแจกเอกสารให้ข้อมูลตลอดสองฟากฝั่งถนนที่มีการรณรงค์ ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวก็ทำให้มีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก และเดินทางถึงจุดหมายในเวลา 11.20 น.

 

จุดหมายของการเดินรณรงค์ของชาวบ้านอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา และพักทานข้าวหน้าศาลากลางจังหวัดฯ ซึ่งการเดินทางกว่า 60 กิโลเมตร จาก ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด ไม่ได้มาเพียงแค่รณรงค์เพื่อให้คนโคราชรับรู้ข้อมูลผลกระทบจากการทำเหมืองโปแตชเท่านั้น แต่มีความตั้งใจมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาให้มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงประเด็นข้อซักถาม และเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยเร็ว

 

เวลาประมาณ 14.00 น. นายวิเชียร  จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มาถึงศาลากลางจังหวัด และสั่งการให้เปิดห้องประชุม เพื่อให้ชาวบ้านชี้แจงประเด็นปัญหา พร้อมทั้งเรียกให้ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัด ปลัดอำเภอ และ สิ่งแวดล้อมภาค 11 เข้าร่วมชี้แจงตอบข้อสงสัยแก่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯด้วย

 

ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุดทด ได้ชี้แจงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

  1. ชาวบ้านเห็นว่าการทำเหมืองแร่โปแตช ของบริษัทไทยคาลิ มีกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของพื้นที่ที่อยู่ติดชุมชน และมีการใช้แหล่งน้ำสาธารณะของชาวบ้านในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต
  2. พื้นที่โครงการทำเหมือง ของบริษัทไทยคาลิ เหตุใดจึงมีการก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่นอกเขตแผนผังโครงการทำเหมือง พร้อมทั้งมีการขุดบ่อน้ำนอกเขตแผนผังโครงการทำเหมืองเดิมอย่างมากมาย การกระทำเช่นนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
  3. ชาวบ้านในพื้นที่ได้บอกเล่าประเด็นปัญหาผลกระทบจากความเค็มที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และได้ชี้ให้เห็นว่าความเค็มดังกล่าวเริ่มอุบัติขึ้นหลังเหมืองแร่เข้ามาในพื้นที่ และเริ่มขุดเจาะ โดยมีประเด็นสำคัญคือการปล่อยน้ำลงสู่ที่ดินของชาวบ้านในปี พ.ศ. 2559 ที่ทำให้ความเค็มแพร่กระจายในพื้นที่ จนหลายหมู่บ้านทำประปาชุมชนไม่ได้ และมี 2 หมู่บ้านคือ บ้านหัวนา และ บ้านหนองกระโดน ต.หนองไทร ต้องซื้อน้ำจากเหมืองแร่ในราคาหน่วยละ 25 บาท ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งมีการแจ้งข้อมูลในพื้นที่ว่า เหมืองแร่จะได้ส่วนแบ่งหน่วยละ 18 บาท เป็นค่าน้ำ และกำนัน (ผู้ใหญ่บ้านหัวนา) ได้หน่วยละ 7 บาท เป็นค่าซ่อมบำรุง ทำให้ชาวบ้านต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น
  4. มีการตั้งข้อสงสัยว่าเหมืองแร่มีการทำตาม EIA ปล่อยให้มีน้ำเค็มรั่วไหลออกนอกพื้นที่ และมีการต่อท่อปล่อยน้ำออกจากเขตพื้นที่โครงการ ลงสู่แหล่งน้ำและที่ดินทำกินของชาวบ้าน ทำให้ขณะนี้หลายคนไม่สามารถทำการเกษตรใดๆได้ บ้านเรือนผุพังจากการกัดกร่อนของความเค็ม
  5. ปัญหาของการรั่วไหลของน้ำในอุโมงค์ขุดเจาะเดิม ที่ไม่มีการชี้แจงข้อมูลให้ชาวบ้านทราบแต่อย่างใด ทั้งที่มีการรั่วไหลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แต่มีการรายงานเมื่อ 2564 และชาวบ้านได้รู้จากข้อมูลมติ ครม. ในปีปัจจุบัน ทั้งยังไม่มีมาตรการป้องกัน หรือชดเชยความเสียหาย แต่กลับเดินหน้าในการทำอุโมงค์ขุดเจาะใหม่ 3 จุด โดยเพิกเฉยต่อผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่

 

บรรยากาศในห้องประชุม ผู้ว่าฯได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้ชี้แจงตอบข้อสงสัยของชาวบ้าน โดยระบุว่าในพื้นที่มีค่าความเค็มสูงอยู่แล้วจากการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบ่อน้ำสาธารณะ ที่มีการพังลงจนเกิดน้ำทะลักลงสู่ที่นาของชาวบ้านก็ไม่ได้เป็นบ่อน้ำของบริษัท แต่เป็นบ่อที่ทาง องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไทรแจ้งว่าเป็นบ่อขยะ และขอให้ทางบริษัทปรับปรุงให้ เมื่อมีฝนตกจำนวนมากขอบบ่อจึงพัง และทางบริษัทได้มีการจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านแล้ว และในส่วนของโครงการที่ทำเกินแผนผังโครงการทำเหมืองนั้นเป็นส่วนของโรงต้มเกลือ ที่ทำหน้าที่ทำให้เกลือบริสุทธิ์ก่อนนำไปจำหน่าย โดยทาง อุตสาหกรรมจังหวัดได้เน้นย้ำว่า บริษัทยังไม่ได้มีการผลิตแร่แต่อย่างใด พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางอุตสาหกรรมจังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท หลังพบว่ามีการขุดบ่อน้ำเพิ่มเติมจาก 5 บ่อ เป็น 10 บ่อ โดยไม่ได้รับอนุญาต

 

หลังจากฟังข้อมูลดังกล่าว ชาวบ้านที่มาต่างส่งเสียงทักท้วงถึงความไม่ถูกต้องของข้อมูลในหลายประเด็น เพราะแหล่งน้ำสาธารณะของชาวบ้านไม่เคยมีใครนำขยะไปทิ้ง เพราะเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านจะต้องไปใช้ดื่มกิน และในปี 2559 บ่อก็ไม่ได้พังแต่มีการใช้รถแบคโฮขุดขอบบ่อจงใจให้น้ำไหลออก อีกทั้งตัวแทนชาวบ้านยังแสดงภาพกองเกลือขนาดใหญ่ที่อยู่ภายในเหมืองแร่ให้ทางส่วนราชการได้ดูด้วย ว่าเหมืองแร่ดังกล่าวมีการแต่งแร่แล้ว ย่อมต้องมีน้ำเค็มที่เกิดการกระบวนการแต่งแร่ดังกล่าวจำนวนมาก

 

จากนั้นทางผู้ว่าฯ ได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก ตัวแทนสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 11 นครราชสีมา โดยทางตัวแทนได้ชี้แจงผลการตรวจน้ำ จากจุดที่พบการรั่วซึมจากขอบบ่อน้ำของบริษัทที่หลายจุดเกินค่ามาตรฐาน และบางจุดมีค่าความเค็มเกินกว่าน้ำทะเล ทั้งยังพบว่ามีการต่อท่อออกมาจากบ่อน้ำของบริษัท จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจมีการรั่วซึมของน้ำเค็มจากเหมืองแร่จริง

 

ในการประชุมยังไม่ได้ข้อสรุป ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงเสนอให้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันระหว่างหน่วยงานและชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีการนัดหมายกันในช่วงบ่ายวันที่ 7 สิงหาคม 65 ณ วัดหนองไทร ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาในพื้นที่

 

หลังปิดประชุมชาวบ้านในพื้นที่ได้มีการยื่นหนังสือเพื่อให้มีการตอบประเด็นปัญหาต่างๆเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะมีอีกหลายข้อที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่ประชุม เช่น การจ่ายค่าลอดใต้ถุน และการร่วมกันปกปิดข้อเท็จจริงด้วยการร่วมมือกันระหว่าง อบต.หนองไทร กับ บริษัทฯ ด้วยการขุดหน้าดินที่วัดหนองไทรออกไปที่อื่นแล้วนำดินใหม่มาถมทับ

 

โดยในวันดังกล่าวชาวบ้านหลายคนรู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่ได้มาร่วมกันรณรงค์บอกเล่าประเด็นปัญหาในโคราช และรู้สึกมีความหวังต่อการลงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพราะหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ต่างเพิกเฉย และข่มขู่ไม่ให้ชาวบ้านออกมาคัดค้านเหมือง หากผู้ว่าฯลงพื้นที่ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็จะได้ตั้งใจทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนมากขึ้น