เนื่องด้วยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ติดตามและรวบรวมข้อมูลการฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทย พบว่า การฟ้องคดีปิดปากส่วนใหญ่เป็นคดีอาญาและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้งจนมีจำนวนคดีมากมายจนเป็นที่น่าตกใจ โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาททางอาญา และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 รวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ถูกนำมาใช้กับการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ถูกนำมาตีความบังคับใช้อย่างกว้างขวางกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่เป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐ และคดีจำนวนมากริเริ่มโดยรัฐเอง
การฟ้องปิดปากโดยใช้ข้อหาทางอาญา เป็นการเอื้อให้เกิดการใช้กระบวนการยุติธรรมละเมิดสิทธิของประชาชนในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to Fair trial) ไม่ว่าจะโดยการจับกุมควบคุมตัวโดยอำเภอใจ หรือจับกุมโดยไม่มีหมายจับ การอายัดตัวซ้ำซาก การกีดกันการพบญาติและทนายความ การถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ทั้งยังสร้างภาระและความยุ่งยากให้ผู้ถูกฟ้องคดี ให้ได้รับความกดดันและเกิดความกลัว
สนส. จึงได้จัดทำรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (Policy Paper) ต่อการออกแบบกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) เน้นคดีอาญาเนื่องจากถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อให้มีกฎหมายให้ความคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยปราศจากการแทรกแซงอันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อให้เกิดรูปธรรมในการจัดการกับปัญหาการฟ้องคดีปิดปากเพื่อเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศต่อไป
ท่านใดสนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.slappdatabase.org/reports
สนส. ไม่สงวนสิทธิในการเผยแพร่ และะพัฒนาต่อยอด