Back

ดีเดย์ #ให้เหมืองจบที่รุ่นเรา 

14 August 2020

2736

ดีเดย์ #ให้เหมืองจบที่รุ่นเรา 

26 ปีการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวการต่อสู้ครั้งสำคัญของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองหินดงมะไฟกับการเจรจาให้ปิดเหมืองหินถาวรกับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมพบกับเวทีเปิดใจนักสู้ดงมะไฟ ทำอย่างไร #ให้เหมืองจบที่รุ่นเรา และความล้มเหลวของกลไกรัฐในการปกป้องประชาชน ในวันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

 

ตลอดระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา 6 หมู่บ้าน ประมาณ 4 พันคน จำนวนประมาณ 1,089 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากความเสียหายของการประกอบกิจการเหมืองหินในพื้นที่ และชาวบ้านได้ต่อสู้กับบริษัทเหมืองมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น ผ่านการสูญเสีย ทั้งที่ดิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำมาหากิน และสูญเสียชีวิตของนักปกป้องสิทธิฯแล้วถึง 4 คน  ในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ จึงขอเชิญสื่อมวลชน เพื่อจับตาและร่วมทำข่าว บริเวณหน้าศาลากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อร่วมเรียกร้องให้ปิดเหมืองหินถาวร ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ อนุรักษ์แหล่งโบราณคดี #ให้เหมืองจบที่รุ่นเรา

ในวันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม อีกสามวันที่จะถึงนี้ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จะเดินทางจากตำบลดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา  ไปยังศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตการประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ ในเวลา 10.00 น. เพื่อเรียกร้องให้มีคำสั่งปิดและฟื้นฟูเหมือง

หากการเจรจาเป็นไปไม่เป็นผล ชาวบ้านทั้งหมดจะร่วมอ่านข้อเรียกร้อง แสดงเจตนารมณ์ ที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู และใช้วิธีการอารยะขัดขืน (civil disobedience) ด้วยการเดินทางต่อไปยังบริเวณหน้าทางเข้า-ออกเหมืองแร่ ที่ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เพื่อปิดเหมืองด้วยตนเอง จนกว่าหน่วยงานที่มีอำนาจจะเดินทางลงมาเจรจาและมีคำสั่งให้ปิดและฟื้นฟูเหมือง  

กิจกรรมที่น่าสนใจในวันที่ 13 สิงหาคมมีดังนี้

· พบกับการเจรจาโต๊ะกลมครั้งแรกระหว่างตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ  สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 2 จังหวัดอุดรธานี อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู

 

· ร่วมรับฟังเวทีเปิดใจนักสู้ดงมะไฟ ทำอย่างไร #ให้เหมืองจบที่รุ่นเรา และความล้มเหลวของกลไกรัฐในการปกป้องประชาชน โดยมีตัวแทนจากชาวบ้านที่สู้มาแล้ว 3 รุ่น จากรุ่นตาสู่รุ่นหลาน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ทั้งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนจากการะเบิดเหมือง และผลกระทบทางเสียง จนบ้านเรือนได้รับความเสียหาย และชาวบ้านที่ถูกตัดสินจำคุกจากการลุกขึ้นมาคัดค้านการทำเหมือง และตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ที่จะพูดถึงความล้มเหลวของกลไกรัฐในการปกป้องประชาชนในการปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและยืนยันการเข้าร่วมงานได้ที่ 082-855-4507, 062-313-3510

 

ข้อมูลประกอบ

กลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เป็นการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ประมาณ 4 พันคน จำนวนประมาณ 1,089 ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ โดยชาวบ้านได้ต่อสู้เพื่อคัดค้านการสร้างเหมืองมาแล้ว 26 ปี เพราะต้องการปกป้อง “ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได” ที่มีเขาหินปูนที่สวยงาม เป็นต้นน้ำแหล่งน้ำซับซึมและอุดมสมบูรณ์หลายลูก คือภูผาฮวก ผาจันได ภูผายา ผาโขง และผาน้ำลอด ฯลฯ และยังเป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ อุดมไปด้วยหน่อไม้ “ภูผาฮวก” เป็นแหล่ง “หน่อไม้ฮวก” ที่สมบูรณ์ ที่ชาวบ้านได้พึ่งพิงหา อยู่หากินมาแต่ครั้งอดีต  เห็ดนานาชนิด และสมุนไพร ยังเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของชุมชน

 ในปี 2555 จากการสำรวจของชาวบ้าน พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สมุนไพร ชาวบ้านมีรายได้จากป่ามากกว่า 22 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่หมุนเวียนภายในชุมชน ทั้งนี้ชุมชนได้มีการบริหารจัดการให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน 

นอกจากนี้ ชาวบ้านต้องการปกป้อง แหล่งโบราณคดีแหล่งอารยธรรมโบราณคดีที่สำคัญควรค่าแก่การอนุรักษ์ และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมของจังหวัดหนองบัวลำภู ภายในถ้ำบริเวณพื้นที่ทำเหมืองหินปูน ได้มีการค้นพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภูผายาที่ปรากฏตามผนังถ้ำ  โดยมีการสันนิฐานว่า ภาพเขียนในถ้ำภูผายามีอายุระหว่าง 2,000 – 4,000 ปี  ซึ่งใกล้เคียงกับอายุของภาพเขียนที่ค้นพบที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี และมีลักษณะภาพเขียนคล้ายคลึงกับที่พบที่ผาลาย มณฑลกวางสี ประเทศจีน และยังมีการค้นพบเศษภาชนะดินเผาแบบเนื้อดินธรรมดาและแบบเนื้อแกร่งอยู่บนพื้นภายในถ้ำศรีธนและถ้ำผาน้ำลอด   โดยกรมศิลปากรได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี 2548    พ.ศ. 2555 สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดหนองบัวลำภู ได้มีการเก็บข้อมูลบริเวณพื้นที่ภูผายา ถ้ำผาโขง และมีแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ในระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากความเสียหาย ในการทำการผลิตพืชผลทางการเกษตร และมีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุจากหินที่กระเด็นออกมาจากการระเบิดหินปูน ผลกระทบทางสุขภาพ เนื่องจากการระเบิดหิน การทุบย่อยหิน การตักหิน การขนส่งหิน ก่อให้เกิดเสียงและแรงสั่นสะเทือน ส่งผลต่อชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ในรัศมีห่างจากพื้นที่ทำเหมืองแร่และโรงโม่หินไม่เกิน 1 กม. ทำให้เกิดความรำคาญตลอดทั้งวัน ไม่เพียงแต่ในช่วงที่มีการระเบิดเท่านั้น แต่หลังจากเวลา 17.00 น. การระเบิดหินเสร็จสิ้น ก็ยังมีการบดหิน ซึ่งทำให้เกิดเสียงดัง โดยช่วงเวลาดังกล่าวคือเวลานอนหลับพักผ่อน จึงส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และยังก่อให้เกิดความเครียด

การต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินทำให้นักปกป้องสิทธิฯ ในชุมชนที่คัดค้านโรงโม่หินถูกลอบยิงเสียชีวิตไปแล้วถึง 4 ศพ คือ นายบุญรอด ด้วงโคตะ นายสนั่น สุวรรณ กำนันทองม้วน คำแจ่ม และนายสม หอมพรมมา
 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและยืนยันการเข้าร่วมงานได้ที่ 082-855-4507, 062-313-3510

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112