ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

กลับมาอีกครั้งและเปิดตัวอย่างเป็นทางการ! กับแคมเปญ ‘Write for Rights’   กิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่สุดในโลก   

 

กลับมาอีกครั้งกับแคมเปญ Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ กิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่สุดในโลก ซึ่งผู้คนนับล้านทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของผู้อื่น โดยกิจกรรมนี้ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 21 แล้ว  

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า นักกิจกรรมทั่วโลกได้ร่วมกันเฉลิมฉลอง “วันสิทธิมนุษยชนสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี โดยในปีนี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่สุดของโลก ในแคมเปญ Write for Rights’ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งจัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2544 แคมเปญนี้เป็นกิจกรรมที่ประชาชนในกว่า 200 ประเทศและดินแดน  รวมถึงประเทศไทย โดยมีปฏิบัติการหลายล้านครั้งเพื่อสนับสนุนผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 

เมื่อคำนึงถึงภัยคุกคามระดับโลกมากขึ้นต่อสิทธิในการชุมนุมประท้วง และเพื่อสนับสนุนแคมเปญ “Protect the Protest” หรือ “ปกป้องสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วง” ซึ่งเป็นแคมเปญใหม่ระดับโลกของแอมเนสตี้ แคมเปญ Write for Rights’ ปี 2565 จึงเป็นการรณรงค์เพื่อบุคคล 13 คนที่ต้องเสียสละเพื่อจะได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตน   

“ในแต่ละปี แคมเปญ Write for Rights’ ช่วยให้เรารำลึกถึงพลังที่ยิ่งใหญ่ของปฏิบัติการร่วมกัน แคมเปญนี้พิสูจน์ให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่า เมื่อผู้คนมารวมตัวกันมากพอและรวมกันเป็นเสียงเดียวต่อสู้กับความอยุติธรรม ทางการก็ต้องรับฟัง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของหลายชีวิต"  

“ไม่ว่าจะมองไปที่ใดในโลกนี้ สิทธิในการชุมนุมประท้วงกำลังถูกโจมตี แค่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้จัดการชุมนุมประท้วงมากมายถูกปราบปรามโดยรัฐบาล ตั้งแต่อิหร่านถึงคิวบาและที่อื่นๆ จึงเป็นเหตุผลให้ผู้เข้าร่วมแคมเปญ ‘Write for Rights’ ปี 2565 จะร่วมกันเปล่งเสียงสนับสนุนผู้ที่ต้องสูญเสียจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตน” 

ในวันสิทธิมนุษยชนสากลปีนี้ จะมีการจัดกิจกรรมมากภายภายใต้แคมเปญ Write for Rights’ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมทั้งการจัดคอนเสิร์ตที่ไอวอรี่ โคสต์ การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่ซิมบับเว และกิจกรรมเขียนจดหมายสาธารณะที่เบลเยียม เดนมาร์ก แคนาดา อิตาลี ไอร์แลนด์ มาลี มองโกเลีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สโลวีเนีย เกาหลีใต้ สเปน สวีเดน ไต้หวัน และตุรกี จะมีกิจกรรมอย่างอื่นในระดับโลกตลอดทั้งเดือนธันวาคม   

ส่วนประเทศไทยได้จัดกิจกรรม "Taste of Rights: ผัสสะแห่งสิทธิ" ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ ณ The Jam Factory คลองสาน กรุงเทพ งานระดมทุนใหญ่เพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชนศึกษา และเน้นย้ำถึงสิทธิมนุษยชน ว่าคือสิทธิที่ติดตัวพวกเรามาตั้งแต่เกิด และไม่อาจมีใครพรากไปได้ ที่จะชวนผู้คนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับรู้ ดื่มด่ำ และเข้าใจเรื่องราวของสิทธิผ่านรสชาติ เสียง กลิ่น สัมผัสผ่านมือ และสัมผัสผ่านใจไปด้วยกัน 

โดยทุกเดือนธันวาคม ประชาชนทั่วโลกเขียนจดหมาย อีเมล โพสต์ทวีต เฟซบุ๊ก ส่งไปรษณียบัตรหลายล้านครั้ง เพื่อให้กำลังใจกับผู้ที่ถูกประหัตประหารและละเมิดสิทธิอย่างไม่เป็นธรรม แคมเปญ Write for Rights’ ได้ช่วยเปลี่ยนชีวิตของคนกว่า 100 ล้านคนตั้งแต่ปี 2544 ทำให้พวกเขารอดพ้นจากการทรมาน การคุกคาม หรือการคุมขังที่ไม่เป็นธรรม โดยในปี 2564 มีปฏิบัติการรวมกันกว่า 4.5 ล้านครั้ง  

หนึ่งในเป้าหมายการรณรงค์เมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมจากประเทศไทย จากเด็กขี้อายและเงียบขรึมได้กลายมาเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เธออาจถูกจำคุกตลอดชีวิตเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ในแคมเปญ Write for Rights’ ปี 2564 มีปฏิบัติการกว่าสามแสนครั้งเพื่อสนับสนุนเธอ ต่อมารุ้งได้รับการประกันและปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมกำหนด 5 เงื่อนไข อาทิ ไม่ทำกิจกรรมที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ ห้ามออกนอกเคหสถานตลอดเวลา ไปจนถึงให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ในวิดีโอที่ส่งถึงนักกิจกรรมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เธอกล่าวว่า  

“รุ้งได้อ่านจดหมายจากแคมเปญนี้ตอนออกมาจากคุกแล้ว ตอนนั้นถือเป็นช่วงที่มืดมนที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้  ข้อความที่เขียนให้มานั้นส่วนใหญ่เป็นข้อความให้กำลังใจ บอกว่ายังมีคนที่อยู่เคียงข้างเรานะ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในประเทศเดียวกัน ไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้ทำอะไรร่วมกันก็ตาม  เป็นคนแปลกหน้าที่เขียนให้กำลังใจ และบอกเราว่า ‘เราเชื่อมั่นใจตัวคุณ’ ‘เราเชื่อว่าคุณต่อสู้ได้’  และย้ำว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว  มันเป็นประโยคที่สร้างกำลังใจให้เราเป็นอย่างมาก ทำให้ช่วงเวลามืดมิดตรงนั้นสว่างขึ้นทันที จากการที่เราได้รับความรักจากคนแปลกหน้า”  

สำหรับเป้าหมายของแคมเปญ Write for Rights’ ในปีนี้ ได้แก่ บุคคล 13  คน ซึ่งชีวิตของพวกเขาได้รับผลกระทบด้านลบจากการปราบปรามของรัฐบาลต่อสิทธิในการชุมนุมประท้วง ในขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รณรงค์ช่วยเหลือในเเคมเปญนี้ในสามกรณี  ในประเด็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการเเสดงออก การใช้กำลังอย่างมิชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ  รวมถึงการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันทางเพศ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้  

ซีเน็บ เรอดวนย์ จากประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ขณะที่ซีเน็บกำลังเตรียมอาหารเย็นใน อพาร์ตเมนต์ชั้นสี่ของเธอ ด้านล่างที่ถนน เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ขณะที่ซีเน็บเดินไปปิดหน้าต่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เล็งเครื่องยิงระเบิดแก๊สน้ำตามายังจุดที่เธอยืนอยู่และทำการยิง เธอถูกระเบิดยิงเข้าที่หน้าและเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ  

ซีเน็บถูกสังหารจากการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาอย่างประมาทโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผ่านมาเกือบสี่ปี การสอบสวนถึงสาเหตุการเสียชีวิตของเธอยังคงดำเนินอยู่ และไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดถูกตั้งข้อหาหรือถูกพักงานจากการเสียชีวิตอันน่าเศร้าของเธอ ครอบครัวของซีเน็บยังรอความยุติธรรมอยู่ 

อีเรน โรเตลา และมารีอานา เซปูลเวดา จากประเทศปารากวัย พวกเธอต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ แต่ในฐานะผู้หญิงข้ามเพศ ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตน คนข้ามเพศในประเทศปารากวัยไม่สามารถเปลี่ยนชื่อหรือมีเอกสารระบุตัวตนตามกฎหมายที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศได้ รัฐกำลังพยายามทำให้ให้พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีตัวตนในสังคม เป็นเรื่องยากที่คนข้ามเพศจะเคลื่อนไหว ชุมนุมประท้วงและส่งเสียงให้สังคมรับรู้ถึงอุปสรรคที่พวกเขากำลังเผชิญ 

อีเรนและมารีอานา ต่อสู้มานานหลายปีเพื่อเปลี่ยนชื่อตามกฎหมาย หากพวกเธอสามารถครอบครองเอกสารที่ตรงกับตัวตนและอัตลักษณ์ของพวกเธอได้ แสดงว่ารัฐเริ่มรับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเธอในฐานะผู้หญิงข้ามเพศ อย่างที่อีเรนเคยพูดไว้ว่า "ฉันเกิดมาบนโลกนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าฉันเป็นใคร ไม่ใช่ให้คนอื่นมาบอกว่าฉันเป็นใคร" 

อเล็กซานดรา สโกชิเลนโก จากประเทศรัสเซีย เธอคือศิลปินชาวนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งถูกทางการควบคุมตัวหลังเปลี่ยนป้ายราคาสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นข้อความเกี่ยวกับสงครามในยูเครน ทำให้ต่อมาเธอถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดฐาน "เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับกองกำลังสหพันธรัฐรัสเซีย"  ซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้ล่าสุด 

ปัจจุบันเธออยู่ในศูนย์ควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีเพื่อรอคำตัดสินของศาล เธอยังถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมตัวและเพื่อนร่วมห้องขังของเธอ หากอเล็กซานดราถูกตัดสินว่ามีความผิด เธออาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ไม่นานมานี้ อเล็กซานดราถูกจัดเป็นหนึ่งในทำเนียบ 100 Woman ของ BBC ประจำปี 2022 จากความกล้าหาญในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อต่อต้านสงครามในยูเครน 

โดยปีนี้คุณสามารถร่วมเป็นส่วนของแคมเปญ Write for Rights’ - เขียน เปลี่ยน โลก’ ได้ที่ https://www.aith.or.th