ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

แอมเนสตี้ ประเทศไทยยื่นจดหมายถึงรัฐบาลไทย เรียกร้อง “ยุติการนองเลือดในเมียนมา”  ในฐานะเจ้าภาพประชุมเอเปก 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยยื่นหนังสือและข้อเรียกร้อง “ยุติการนองเลือดในเมียนมา” ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ประจำปี 2022 ควรมีบทบาทสำคัญในการร่วมหารือเพื่อยุติการนองเลือดในประเทศเมียนมาและแสดงพลังในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา โดยมี นางนลินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการรับมอบหนังสือและข้อเรียกร้อง  

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า เป็นเวลาเกือบสองปีหลังการทำรัฐประหาร ประชาชนกว่า 1.4 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานในเมียนมา อีก 12,839 คนถูกควบคุมตัวในสภาพที่ไร้มนุษยธรรม และอย่างน้อย 73 คนตกเป็นนักโทษประหาร โดย 4 คนถูกประหารชีวิตไปแล้ว รวมถึงมีเด็ก 7.8 ล้านคนที่ต้องออกจากโรงเรียน กองทัพเมียนมาได้สังหารผู้ชุมนุมประท้วงและประชาชนทั่วไปหลายร้อยคน และอีกหลายพันคนเสียชีวิตจากการขัดแย้งกันด้วยอาวุธที่เกิดขึ้นทั่วประเทศภายหลังรัฐประหาร  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นำ 2,129 รายชื่อของประชาชนในประเทศไทยที่ร่วมเรียกร้องผ่านแคมเปญออนไลน์บนเว็บไซต์ Change.org เพื่อแสดงเจตจำนง “ยุติการนองเลือดในเมียนมา” มอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำเนาถึง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ประจำปี 2022 (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ควรมีบทบาทสำคัญในการร่วมหารือเพื่อยุติการนองเลือดในประเทศเมียนมาและแสดงพลังในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา 

“กองทัพเมียนมาเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเพิกเฉยต่อ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ของอาเซียน ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2564 ทางกองทัพเมียนมารับปากว่าจะดำเนินการตาม แต่ก็ล้มเหลวและไม่สามารถหยุดกองทัพกองทัพเมียนมาในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มากขึ้นต่อประชาชนชาวเมียนมาได้  

“ทางการไทยในฐานะรัฐภาคีอาเซียนและในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกต้องแสดงท่าทีอย่างเร่งด่วนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเมียนมา ทั้งการการสนับสนุนให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งการไม่บังคับส่งกลับผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยที่หลบหนีมาจากความรุนแรง และต้องให้การประกันว่าภาคธุรกิจหรือรัฐวิสาหกิจของไทยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา และหน่วยงานในเครือในฐานะผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องเรียกร้องให้กองทัพเมียนมารับฟังเสียงจากประชาชนชาวเมียนมาซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักด้วย” 

ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้ 

  • รัฐบาลไทยต้องใช้วิธีการทุกอย่างที่เป็นไปได้ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างชายแดน 
  • ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน กลุ่มพหุภาคี และองค์การระหว่างประเทศเช่นหน่วยงานในสหประชาชาติเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและด้านมนุษยธรรมในเมียนมา 
  • รับผู้ขอลี้ภัยและประกันการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศไทย รวมทั้ง ละเว้นจากการเนรเทศหรือการส่งกลับของผู้ขอลี้ภัยชาวเมียนมา และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ขอลี้ภัยและหยุดการดำเนินคดีกับพวกเขาระหว่างพำนักในประเทศไทย 
  • หน่วยงานของรัฐต้องออกประกาศ ระเบียบ หรือกฎกระทรวงอย่างเป็นทางการแก่ผู้ประกอบการธุรกิจและรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบของบริษัทอย่างเต็มที่ที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กองทัพเมียนมาและหน่วยงานในเครือในฐานะผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน