ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

ครบรอบ 2 ปี ยังไม่มีความยุติธรรมให้วันเฉลิมและครอบครัว  แอมเนสตี้เรียกร้องไทยยกเลิกข้อกล่าวหาต่อพี่สาววันเฉลิม  

 

 

วันนี้ (4 มิถุนายน 2565) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและสวนครูองุ่น จัดกิจกรรมครบรอบ 2 ปีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ “นินทากันสักนิด มิตรวันเฉลิม” โดยชวนเพื่อนมิตร ‘วันเฉลิม’ มาร่วมแบ่งปันความรู้สึกจากเพื่อนถึงเพื่อน และมีนิทรรศการภาพถ่ายสุดเอ็กซ์คลูซีฟ วงคุยจากเพื่อนนักกิจกรรม พร้อมทั้งยังส่งข้อเรียกร้องถึงทางการกัมพูชาและไทยในการตามหาความจริงและคืนความยุติธรรมให้กับเขาและครอบครัว โดยกิจกรรมนี้ปิดท้ายด้วยการร่วมจุดเทียนแห่งความหวัง แสดงสัญลักษณ์แห่งศรัทธาเพื่อสิทธิมนุษยชน 

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ครบรอบสองปีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่ถูกอุ้มหายในช่วงเย็นของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 บริเวณหน้าคอนโดแห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในทางคดี และทางครอบครัวยังไม่ทราบชะตากรรมเขา เห็นได้ชัดว่า ทางการกัมพูชาล้มเหลวในการสอบสวนเพื่อให้ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิม และไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายที่จะต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเหมาะสมต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้  

ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนลได้เข้าพบเพื่อหารือและส่งจดหมายเปิดผนึกถึงทางการไทย เพื่อเรียกร้องให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการสอบสวนและค้นหาข้อเท็จจริงของคดีนี้อย่างรอบด้าน เคารพสิทธิในการเข้าถึง ความยุติธรรมของผู้เสียหายและครอบครัว นำตัวคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม และยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง เช่น การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย  และเพื่อประกันความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของการสอบสวน ยังขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนอย่างใกล้ชิดด้วย 

“เรายังคงเรียกร้องต่อไปให้ทางการไทยต้องเข้ามาทำหน้าที่ และดำเนินการสอบสวนอย่างรอบด้าน อย่างไม่ลำเอียง และเป็นอิสระต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งเกิดขึ้นกับพลเมืองของตนเองในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยชาวไทยหลายคนถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสอบสวนที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล” 

 ด้าน นางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ได้ออกมาเรียกร้องทั้งต่อทางการไทยและกัมพูชาเพื่อให้ร่วมกันสืบหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา พร้อมทั้งเดินสายพูดคุยในเวทีต่างๆ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัว แต่สุดท้ายเธอต้องเผชิญหน้ากับการถูกตั้งข้อหาร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวม 2 คดี 

โดยคดีแรก จากการไปร่วมชุมนุม #ม็อบ5กันยา ที่ แยกอโศก เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 เพื่อถ่ายทอดความอยุติธรรมที่ตนเองได้รับจากเจ้าหน้าที่รัฐและเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเหยื่อการบังคับสูญหาย และอีกคดีจากไปยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเรียกร้องประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ซึ่งเธอได้ตั้งคำถามต่อทางการไทยว่า 'การทวงความยุติธรรมให้ครอบครัว เป็นภัยต่อความมั่นคงมากหรือ?' ซึ่งการชุมนุมทั้งสองครั้งนั้นเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  

“ที่ผ่านมา ทางการไทยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเพียงข้ออ้างแบบเหมารวม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มักพุ่งเป้าไปที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้ชุมนุม ทั้งนี้เพื่อปิดปากผู้เห็นต่างจากรัฐ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นจึงเรียกร้องทางการไทยให้ยุติการดำเนินคดีและหยุดคุกคามทั้งต่อสิตานัน พี่สาววันเฉลิมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ในประทศไทยด้วย” 

นอกจากนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องรัฐบาลไทยผ่านพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับด้วย 

ปิดท้ายกิจกรรมในวันนี้ด้วย ผู้เข้าร่วมงานช่วยกันจุดเทียนแห่งความหวัง แสดงสัญลักษณ์แห่งศรัทธาเพื่อสิทธิมนุษยชน และร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่า ไม่ควรมีใครถูกอุ้มหาย ทำให้เสียชีวิตหรือถูกดำเนินคดีเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐบาล บุคคลเหล่านั้นเพียงแค่ใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตราบใดที่การแสดงออกนั้นไม่สร้างความเกลียดชังหรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในสังคม 

//// 

 

 

**********

เนาวรัตน์ เสือสอาด

หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร

Naowarat Suesa-ard

Media and Communications Supervisor