ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว ค้านเวทีประชามติประทานบัตรไม่ชอบ เตรียมฟ้องศาลปกครอง

 

           กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้วติดตามการทำประชามติเพื่อประกอบกิจการเหมืองทรายแก้ว หลังพบมีการนำตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งขอทะเบียนบ้านและโอนย้ายชื่อบุคคลเข้าพื้นที่เพื่อเปลี่ยนผลการประชามติ ขณะที่ผลประชามติ เห็นด้วย 91 คะแนน ไม่เห็นด้วย 82 คะแนน ด้านกลุ่มฯไม่เชื่อผลคะแนนลั่นเตรียมเดินหน้ายื่นฟ้องศาลปกครองในเร็วนี้

           8 พฤษภาคม 2565 เวลา 07.45 น. กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว ตำบลคำโตนด อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เดินทางไปติดตามการทำประชามติ เพื่อประกอบกิจการเหมืองทรายแก้ว คำขอประทานบัตรที่ 3/2560 เนื้อที่ 256 ไร่ 51 ตารางวา ของบริษัท สินทรัพย์ธรรมชาติ จำกัด ณ ศาลาประชาคมบ้านหนองเลิง หมู่ที่ 12 ตำบลคำโตนด อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากพบข้อมูลว่าในพื้นที่แปลงขอประทานบัตร มีการนำตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งขอทะเบียนบ้าน และมีการโอนย้ายชื่อบุคคลเข้ามาเพื่อเปลี่ยนผลการประชามติ ให้สามารถประกอบกิจการเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ดังกล่าว และมีข้อกังวลเกี่ยวกับความชอบธรรมในกระบวนการขอประธานบัตรเหมืองทรายแก้วเนื่องจาก

           1.หากย้อนกลับไปที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดของชาวบ้านหนองเลิง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 พบว่าในช่วงนั้นมีประชาชนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง เพียง 175 คน เท่านั้น ส่วนการลงประชามติในครั้งนี้พบว่ามีผู้มีสิทธิลงชื่อออกเสียงประชามติตามเอกสาร ปม.2 ถึง 273 คน จึงแสดงว่าในระยะเวลาประมาณ 3 ปีกว่า มีผู้สามารถใช้สิทธิได้เพิ่มขึ้นถึง 98 คน คิดเป็นร้อยละ 35.9 กล่าวคือ ในพื้นที่มีประชากรใหม่เพิ่มขึ้นโดยเป็นบุคคลภายนอกย้ายเข้ามาอยู่เป็นบุคคลในพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 จากจำนวนประชากรทั้งหมดในปัจจุบัน

           2.หลักการสำคัญของการทำประชามติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ให้ยึดตามรัศมีผลกระทบเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดตามเขตหมู่บ้านในพื้นที่ตั้งคำขอประทานบัตรเป็นหลัก ซึ่งหากมีการทำเหมืองเกิดขึ้นจริงก็เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผลกระทบจะจำกัดอยู่เฉพาะในเขตหมู่บ้านหนองเลิง หมู่ที่ 12 เท่านั้น ผลกระทบต่อดิน น้ำ อากาศ การใช้ถนน ฯลฯ จะต้องกระจายตัวออกไปไกลกว่าหมู่บ้านหนองเลิง หมู่ที่ 12 อย่างแน่นอน

           3. คำขอประทานบัตรที่ 3/2560 เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมตามมาตรา 17 วรรคสี่ ซึ่งจะนำไปประกาศเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ เพื่อนำไปขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ชนิดใด ๆ ไม่ได้

           นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลในประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หากมีการดำเนินโครงการเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ ได้แก่ ปัญหาดินยุบตัว ฝุ่นละอองจากการขนส่ง มลภาวะทางเสียง ขาดแคลนน้ำสำหรับการทำการเกษตร

           ในเวลา 08.15 น. ชาวบ้านกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองทรายแก้วเดินทางถึงหน่วยลงประชามติ ซึ่งนายอำเภอประจันตคามได้เดินมาบอกรถเครื่องเสียงให้ทำการปิดเสียงและยังมีการข่มขู่ว่าถ้าไม่ปิดจะเอาตำรวจมาจับ แต่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ปิดเครื่องเสียงพร้อมทำการชูป้ายไวนิลขนาดใหญ่ที่มีข้อความซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการมาคัดค้านเวทีประชามติครั้งนี้ว่า “เราไม่ได้คัดค้านการทำประชามติ แต่เราอยากให้ตรวจสอบ 98 คน ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาในพื้นที่ เราเกรงว่าจะไม่เป็นธรรมในการทำประชามติในครั้งนี้”  และ “ขอให้เลื่อนการทำประชามติออกไปก่อน จนกว่าจะมีการตรวจสอบ 98 คน แล้วเสร็จ” และป้ายเล็กที่มีข้อความว่า “เหมืองแร่ทรายแก้วทำลายระบบนิเวศ ไม่เอา” “ไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว” และเวลา 08.57 น. รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีได้เดินทางมาที่หน่วยประชามติ

           10.04 น. ชาวบ้านก็ได้เดินเข้ามายังแนวกั้นจุดสังเกตการณ์บริเวณด้านในแต่ขณะที่ชาวบ้านกำลังเดินเข้าประชิดแนวกันด้านใน นายอำเภอก็ได้เรียกให้ชาวบ้านที่มาชุมนุมเข้ามาบริเวณด้านในโดยเจ้าหน้าที่ก็ได้นำเชือกมาโยงทำแนวกั้นเขตใหม่ให้เป็นแนวกั้นชั้นที่ 2 อีกครั้ง และขณะเดียวกันก็เริ่มมีประชากรที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ในหมู่บ้านหมู่ 12 ทยอยลงประชามติ ซึ่งจากการตรวจสอบบัตรประชาชนของประชากรที่พึ่งย้ายเข้ามาอยู่ใหม่พบว่าในบัตรประชาชนได้ระบุวันออกบัตรเมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 ที่ผ่านมานี้เอง ขณะที่กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองทรายแก้วที่ปักหลักเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดก็ได้ตะโกนว่า “คิดถึงลูกหลานเราบ้าง”

           เวลาประมาณ 12.05 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลากินข้าวเที่ยงผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ซึ่งเป็นชาวบ้านกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองทรายแก้ว ได้ประกาศว่า “อาหารที่สั่งเตรียมไว้สำหรับชาวบ้านกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองทรายแก้ว ร้านที่สั่งแจ้งว่าถูกยึดไปทั้งหมดโดยบุคคลไม่ทราบฝ่าย ตอนนี้กำลังหากับข้าวกับปลามาเพิ่มเพื่อให้ชาวบ้านที่มาเฝ้าติดตามสถานการณ์ได้มีอาหารกิน” โดยหลังจากกินข้าวเสร็จชาวบ้านยังคงปักหลักเฝ้าติดตามสถานการณ์ที่หน่วยประชามติซึ่งจะปิดหีบในเวลา 15.00 น. และระหว่างที่ปักหลักรอจนกว่าจะนับคะแนนแล้วเสร็จชาวบ้านก็ได้มีการจักสานไผ่ไปด้วยในขณะเดียวกัน

           ต่อมาในเวลา 13.56 น. พบรถตู้มาจอดใกล้หน่วยประชามติให้คนลงจากรถและเดินไปที่ลงคะแนนประชามติเพื่อประกอบกิจการเหมืองทรายแก้ว

           เวลา 15.00 น. รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีได้เดินทางมาที่หน่วยประชามติอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ประกาศหมดเวลาลงประชามติ ทำการปิดหีบประชามติ และเจ้าหน้าที่เริ่มนับคะแนนประชามติ ซึ่งชาวบ้านกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองทรายแก้วได้เฝ้าติดตามการนับคะแนนประชามติอย่างใกล้ชิด

           และต่อมาในเวลา 15.31 น. เจ้าหน้าที่ทำการนับคะแนนแล้วเสร็จ ซึ่งผลการนับคะแนนประชามติคำขอประทานบัตรที่ 3/2560 ณ ศาลาประชาคมบ้านหนองเลิง หมู่ที่ 12 ตำบลคำโตนด อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี คือ เห็นด้วยกับการอนุญาตประทานบัตร 91 คะแนน ไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตประทานบัตร 82 คะแนน ไม่ประสงค์ลงประชาชน 7 คะแนน และบัตรเสีย 10 คะแนน ผลการลงประชามติสะท้อนเป็นที่ชัดเจนว่า หากไม่การนำชาวบ้านจากนอกพื้นที่ ที่มีทะเบียนบ้านเพิ่มมา ผลประชามติจะต้องเป็นไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้วอย่างแน่นอน เนื่องจากตลอดการประชามติ ชาวบ้านกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองทรายแก้ว ได้ติดตามสังเกตการณ์การลงประชามติ ให้เกิดความโปร่งใส่อย่างใกล้ชิด โดยพบว่า บ้านเลขที่ตั้งแต่ 72-77 ซึ่งเป็นบ้านเลขที่ใหม่ คาดว่าเป็นบ้านเลขที่ที่ได้มาจากการตั้งตู้คอนเทนเนอร์บริเวณพื้นที่ประทานบัตรเหมืองทรายแก้ว ในหมู่ 12 บางหลัง มีจำนวนผู้อยู่อาศัย ถึง 20 คน แต่ทั้ง 20 คนไม่เป็นเครือญาติกันเลย เนื่องจากมีนามสกุล และเลขบัตรประชาชน ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และบ้านเลขที่ทั้งหมดนี่มีผู้อยู่อาศัยรวมกัน เกือบ 70 คน ถึงแม้ว่าบ้านเลขที่ดังกล่าว จะมาลงคะแนนประชามติเพียงเกือบ 30 คนเท่านั้น แต่ก็มากพอที่จะเปลี่ยนผลการประชามติการอนุญาตประทานบัตรเหมืองทรายแก้ว ที่จะมีผลกระทบเกิดขึ้นกับชาวบ้านตำบลคำโตนดไม่เอาเหมืองทรายแก้วได้มากถึง 30 ปี

           ทั้งนี้ภายหลังจากนับคะแนนประชามติเสร็จสิ้นตัวแทนกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองทรายแก้วก็ได้กล่าวถึงความรู้สึกว่า “ผลคะแนนประชามติที่ออกมาในวันนี้ก็รู้สึกว่าดี เพราะได้เห็นถึงความสามัคคีของทุกคนที่ไปรวมให้กำลังใจเฝ้าติดตามสถานการณ์ และเห็นว่าชาวบ้านหมู่ 12 ก็ยังออกมาใช้สิทธิของตนเองอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีคนที่ไม่ใช่ เราก็ให้เขามาลงประชามติ เราก็ไม่ได้ขวาง ให้เป็นไปตามขั้นตอน ถึงแม้ว่าเราจะแพ้คะแนนเสียงแต่เราไม่เชื่อว่าจะเป็นคะแนนจริง ๆ ฉะนั้นเราจะเดินหน้าฟ้องศาลปกครองในขั้นตอนต่อไป”