ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

คำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้วยื่นหนังสือผู้ว่าปราจีนบุรี คัดค้านการทำประชามติเหมืองแร่ทรายแก้ว

 

 

           วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว ตำบลคำโตนด อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ที่ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี ให้ยุติกระบวนการประชามติเพื่อประกอบกิจการเหมืองทรายแก้ว ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 นี้

           ชาวบ้านกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้วจึงเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่ในฐานะที่เป็น (1) เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่  (2) คณะกรรมการแร่จังหวัด  (3) คณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ยุติกระบวนการประชามติที่จะจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม 2565

           โดยทางกลุ่มชาวบ้านมีข้อกังวลเกี่ยวกับความชอบธรรมในกระบวนการขอประธานบัตรเหมืองทรายแก้วเนื่องจาก

           1. หากย้อนกลับไปที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดของชาวบ้านหนองเลิง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 พบว่าในช่วงนั้นมีประชาชนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง เพียง 175 คน เท่านั้น ส่วนการลงประชามติในครั้งนี้พบว่ามีผู้มีสิทธิลงชื่อออกเสียงประชามติตามเอกสาร ปม.2 ถึง 273 คน จึงแสดงว่าในระยะเวลาประมาณ 3 ปีกว่า มีผู้สามารถใช้สิทธิได้เพิ่มขึ้นถึง  98 คน คิดเป็นร้อยละ 35.9 กล่าวคือ ในพื้นที่มีประชากรใหม่เพิ่มขึ้นโดยเป็นบุคคลภายนอกย้ายเข้ามาอยู่เป็นบุคคลในพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 จากจำนวนประชากรทั้งหมดในปัจจุบัน

           2. หลักการสำคัญของการทำประชามติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ให้ยึดตามรัศมีผลกระทบเป็นหลัก  ไม่ใช่ยึดตามเขตหมู่บ้านในพื้นที่ตั้งคำขอประทานบัตรเป็นหลัก  ซึ่งหากมีการทำเหมืองเกิดขึ้นจริงก็เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผลกระทบจะจำกัดอยู่เฉพาะในเขตหมู่บ้านหนองเลิง หมู่ที่ 12 เท่านั้น  ผลกระทบต่อดิน  น้ำ  อากาศ  การใช้ถนน  ฯลฯ จะต้องกระจายตัวออกไปไกลกว่าหมู่บ้านหนองเลิง หมู่ที่ 12 อย่างแน่นอน

           3. คำขอประทานบัตรที่ 3/2560 เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมตามมาตรา 17 วรรคสี่  ซึ่งจะนำไปประกาศเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ เพื่อนำไปขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ชนิดใด ๆ ไม่ได้

           และยืนยันว่า ‘กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว’ จะดำเนินการเรียกร้องทุกช่องทางเพื่อเอาผิดกับผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีและบริษัทฯและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างถึงที่สุดต่อไป

           การทำเหมืองแร่ทรายแก้ว เป็นโครงการหรือกิจการที่กฎหมายมิได้กำหนดให้จัดทำรายงานการประเมิณผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

           บริษัท สินทรัพย์ธรรมชาติ จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้ว ในพื้นที่ตำบลคำโตนด อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 3 คำขอ โดย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีได้รับจดทะเบียนคำขอในวันที่ 15 มิถุนายน 2560

           คำขอที่ 1/2560 มีเนื้อที่ 122 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา

           คำขอที่ 2/2560 มีเนื้อที่ 149 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา

           คำขอที่ 3/2560 มีเนื้อที่ 256 ไร่ 51 ตารางวา

           ต่อมา พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 บังคับใช้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำประชามติ

           โดยได้มีการจัดทำประชามติทั้ง 3 คำขอในวันที่ 6 กันยายน 2563 มีผลการประชามติ ดังนี้

           1)คำขอประทานบัตรที่1/2560 เห็นด้วย 102 คะแนน ไม่เห็นด้วย 155 ไม่ประสงค์ลงคะแนน 5 คะแนน

           2)คำขอประทานบัตรที่ 2/2560 เห็นด้วย 98 คะแนน ไม่เห็นด้วย 157 คะแนน ไม่ประสงค์ลงคะแนน 8 คะแนน

           3)คำขอประทานบัตรที่ 3/2560 เห็นด้วย 68 คะแนน ไม่เห็นด้วย 68 คะแนน ไม่ประสงค์ลงคะแนน 9 คะแนน

           30 กันยายน 2563 บริษัท สินทรัพย์ธรรมชาติ จำกัด ได้ยื่นถอนคำขอที่ 1/2560 และ 2/2560 โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้ถอนคำขอดังกล่าวแล้ว

           คำขอที่ 3/2563 ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านหนองลิง หมู่ 12 ตำบลคำโตนด อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี จะมีการจัดทำประชามติใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 โดยมีข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า ในพื้นที่แปลงขอประทานบัตร มีการนำตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งขอทะเบียนบ้าน และมีการโอนย้ายชื่อบุคคลเข้ามาเพื่อเปลี่ยนผลการประชามติ ให้สามารถประกอบกิจการเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ดังกล่าว

           ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ มีข้อกังวลในประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หากมีการดำเนินโครงการเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ ได้แก่ ปัญหาดินยุบตัว ฝุ่นละอองจากการขนส่ง มลภาวะทางเสียง ขาดแคลนน้ำสำหรับการทำการเกษตร

           เหตุการณ์วันนี้

           13.10 กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว เดินทางมายื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี

           13.15 ผอ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดปราจีนบุรี มาพูดคุยกับกลุ่มชาวบ้าน โดยรับปากว่าจะประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี

           13.30 รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ลงมารับหนังสือจากชาวบ้าน กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว โดยมีตัวแทนชาวบ้านอ่านหนังสือทั้งฉบับให้ฟังก่อนการยื่นหนังสือ

           14.35  ชาวบ้านขึ้นมาที่หน้าห้องผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อมาฟังคำตอบจากผู้ว่าที่หน้าห้อง เนื่องจาก ผู้ว่าราชการ ไม่ออกมาให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องการให้ยุติกระบวนการประชามติ ในพื้นที่

           14.59 รองผู้ว่ามาคุยอีกครั้งที่บริเวณหน้าห้องรองผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้แจงว่าต้องดูตามกฎหมายระเบียบ กระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า การประชามติ เป็นกระบวนการหนึ่งในการประกอบการขอประทานบัตร ทางจังหวัดมีหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมาย แต่เรื่องจะยังมีการประชามติอยู่ไหม ให้รอผู้ว่ามาตอบอีกครั้ง

           15.03 ผู้ว่าราชการจังหวัดเดินทางมาโดยจะเปิดห้องประชุมในศาลากลางเพื่อให้ทุกคนได้ฟังร่วมกัน

           16.43 ยุติการหารือร่วมกัน โดยยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับการชะลอหรือยกเลิกการประชามติไปก่อนได้ มีเพียงคำสัญญาจากผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ว่าจะให้อำเภอ เข้าไปสำรวจความต้องการและผลกระทบในพื้นที่