ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

สัญญาณความรุนแรง ที่มาพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นดงมะไฟ

 

 

          ดงมะไฟกำลังจะร้อนเป็นไฟอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์ในพื้นที่กำลังพบกระแสของความรุนแรงระลอกใหม่ ที่มีความพยายามควานหาตัวแกนนำอีกครั้ง โดยมีเป้าประสงค์จะเอากองหินออกไปขายให้ได้ ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในระดับท้องถิ่นก็ร้อนระอุไม่แพ้กัน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่าย “เอาเหมือง” กับ “ไม่เอาเหมือง”

          ต้องท้าวความก่อนว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นดงมะไฟตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอด 27 ปีที่ผ่านมามีความเกี่ยวเนื่องกับเหมืองหินโดยไม่เคยแยกออกจากกัน แนบสนิทจนแยกไม่ออกราวกับผู้ประกอบการมาร่วมยกมืออยู่ในสภาท้องถิ่นด้วยตนเอง จนมีการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมเหมืองหินในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ

          โดยกระบวนการอนุมัติ/อนุญาตการใช้พื้นที่เพื่อประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองหิน มีการใช้เอกสารเท็จ (จากสมาชิกสภาฯในขณะนั้น) ซึ่งมีผลการฟ้องคดีโดยชาวบ้าน ผู้ดำเนินการใช้เอกสารเท็จศาลก็ตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริงแต่การกระทำดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่เรื่อยมา

          เคยมีเหตุการณ์การลอบสังหารแกนนำที่คัดค้านการมีเหมืองหินมากถึง 4 คน หนึ่งในนั้นเป็นกำนันตำบลดงมะไฟ ซึ่งในสมัยนั้นมีตำแหน่งพ่วงกับการเป็นประธานสภา อบต.ดงมะไฟ โดยตำแหน่ง

          การกระทำดังกล่าวหาผู้กระทำผิดยังไม่ได้ ทั้งที่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากการคัดค้านการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ที่มีประธานสภาฯ เป็นแกนนำหลักในการคัดค้าน การกระทำดังกล่าวอาจทำให้การอนุมัติ/อนุญาตการใช้พื้นที่สะดุดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตัวแทนผู้ประกอบการที่นั่งอยู่ในสภาขณะนั้นอย่างแน่นอน เพื่อให้การปฏิบัติการในสภาฯเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สาเหตุของการลอบสังหารจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เกิดเหตุการณ์อันป่าเถื่อนในพื้นที่จะไม่เกี่ยวข้องกับ ส.อบต.ดงมะไฟ และผู้ประกอบการ

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อบต. ชุดเดิมหน้าเดิมหลายคนที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องยังคงสวมเสื้อสีกากีท้องถิ่นมาจนถึงทุกวันนี้ และมีพฤติกรรมท่าที ที่จะผลักดันให้เหมืองกลับมาตลอด ไม่มีท่าทีที่จะหยุดกระบวนการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมที่จะสนับสนุนให้มีเหมืองเถื่อนในพื้นที่ตลอดเวลา หลายคนทำงานในทางลับ และบางคนก็มีการแสดงตัวตนทั้งในที่ลับและที่แจ้งในการสนับสนุนเหมืองอย่างชัดเจน จนชาวบ้านในพื้นที่ต่างรับรู้กันว่าผู้ประกอบการที่อุดรฯ เป็น “เจ้าของเหมือง” ในขณะที่ ส.อบต.ในพื้นที่เป็น “เจ้าของโรงโม่”

          ตลอดการต่อสู้กว่า 27 ปีที่ผ่านมา มีเพียง ส.อบต.คนเดิมที่เราส่งในนามกลุ่มอนุรักษ์ฯเท่านั้นที่ต่อสู้ร่วมกันกับพี่น้อง ในขณะที่ อดีต ส.อบต. คนอื่นๆ ไม่เคยสนใจปัญหาความทุกข์ยากของชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย นอกจากจะผลักดันให้เกิดเหมืองหินเพราะผลประโยชน์ที่ได้ตกลงกับผู้ประกอบการแล้ว ซ้ำร้ายคนกลุ่มนี้เองที่ส่งลิ่วล้อมาข่มขู่คุกคามชาวบ้าน ปล่อยข่าวลือสร้างความหวาดกลัวเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ยุติการคัดค้านเหมืองหิน

          สำหรับการเลือกตั้งรอบนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้สร้างสร้างความฮือฮาโดยการส่งผู้สมัคร ส.อบต ในนามกลุ่มและออกแบบนโยบายร่วมกัน นโยบายเพื่อปากท้องของชาวบ้าน รูปแบบการหาเสียงก็ได้ทำลายการเมืองท้องถิ่นรูปแบบเดิม ทางกลุ่มได้ร่วมเดินหาเสียงเป็นกลุ่มเข้าถึงบ้านเข้าถึงคน เพื่อบอกนโยบายของผู้สมัคร ก้าวข้ามความสัมพันธ์เชิงเครือญาติและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ก้าวออกจากอิทธิพลมืดในท้องถิ่น

          วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาทางกลุ่มจัดเวทีใหญ่ 5 หมู่บ้านมารวมตัวกัน เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร ทำให้ฝ่ายเหมืองสั่นสะเทือนทางจิตใจ กลัวว่าจะไม่ชนะการเลือกตั้ง

          จากนั้นผ่านไปเพียงหนึ่งวัน ฝ่ายเหมืองได้เข้ามาในหมู่บ้านเพื่อเจาะหาเบาะแสแกนนำ เพื่อสร้างสถานการณ์ ให้ชาวบ้านหวาดระแวง พฤติกรรมแบบนี้ หายไปสักพักหนึ่งในช่วงที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยืนหยัดปักหลักชุมนุม และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเหมืองแร่ แต่เมื่อฤดูกาลการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่กลับมาอีกครั้ง กระแสของความรุนแรงและความร้อนแรงจึงกลับมาเช่นกัน โดยเฉพาะรอบนี้ มีการปล่อยข่าว มีการเข้าหาชาวบ้าน เพื่อข่มขู่ คุกคาม ชาวบ้าน อย่างชัดเจน

          โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ มาพร้อมกับสัญญานเตือนว่าเหมืองกำลังจะกลับมา พร้อมกับ อบต.หน้าเดิม ที่ลงแข่งขันอีกครั้ง ที่มีความมั่นใจอย่างมากว่าฝั่ง “เอาเหมือง” ของตนจะได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน จนถึงขนาดกล้าพูดว่า ถ้าตนเอาหมาลง คนบ้านนี้ก็เลือกหมา

          แม้จะเห็นสัญญาณของความรุนแรงในพื้นที่ แต่ ส.อบต. ทีมกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ยังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้ เพื่อที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงดงมะไฟ เพื่อไม่ให้มีเหมืองแร่และโรงโม่หินในพื้นที่อีกต่อไป และเดินหน้าพัฒนาตำบลดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาเศรษกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้เห็นว่าตำบลดงมะไฟสามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้ โดยไม่ต้องมีเหมือง