ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเตรียมปิดสำนักงานในฮ่องกง 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะปิดสำนักงานสองแห่งในฮ่องกงภายในสิ้นปีนี้  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกงจะยุติการดำเนินงานในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ในขณะที่สำนักงานภูมิภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนักเลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะปิดตัวลงภายในสิ้นปี 2564 โดยจะมีการถ่ายโอนการดำเนินงานระดับภูมิภาคให้กับสำนักงานภูมิภาคในเอเชีย-แปซิฟิกอื่น ๆ แทน   

อันจูลา ไมอา สิงห์ พาย ประธานกรรมการสากลแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เราตัดสินใจด้วยความยากลำบาก โดยเป็นผลมาจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง ซึ่งทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงแทบไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นอิสระ และทำงานด้วยความหวาดกลัวที่จะถูกตอบโต้อย่างร้ายแรงจากรัฐบาล 

“ที่ผ่านมาฮ่องกงเคยเป็นฐานที่มั่นระดับภูมิภาคในอุดมคติขององค์กรภาคประชาสังคม แต่การพุ่งเป้าโจมตีกลุ่มสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ และกลุ่มสหภาพแรงงาน เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเร่งทำงานของทางการที่จะกำจัดเสียงที่เห็นต่างทั้งหมดในนครแห่งนี้ ทำให้พวกเราประสบปัญหามากขึ้นในการดำเนินงานเนื่องจากสภาพการทำงานที่ไม่มั่นคง”   

ปัจจุบันแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีสำนักงานสองแห่งในฮ่องกง โดยมีออฟฟิศในประเทศซึ่งเน้นการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาในเมืองแห่งนี้ และมีสำนักงานภูมิภาคซึ่งทำงานวิจัย รณรงค์ และผลักดันเชิงนโยบายสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก โดยจะมีการถ่ายโอนงานของสำนักงานภูมิภาคทั้งหมดให้กับสำนักงานในที่ใหม่ 

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เรารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อสมาชิกและเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ในฮ่องกง ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ได้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในและจากฮ่องกง ตั้งแต่การกดดันจนทำให้มีการยกเลิกการใช้โทษประหารทุกกรณีในฮ่องกงเมื่อปี 2536 ไปจนถึงการเปิดโปงหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการใช้กำลังจนเกินขอบเขตของตำรวจระหว่างการประท้วงในปี 2562 แอมเนสตี้ ฮ่องกงได้จุดไฟเพื่อเผยให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางคืนวันอันมืดมน 

“สำหรับในระดับภูมิภาค งานวิจัยและรณรงค์ของเรามุ่งแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกในเกาหลีเหนือ การไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหารด้วยเหตุจากมโนธรรมสำนึกในเกาหลีใต้ สิทธิในที่อยู่อาศัยที่มองโกเลีย การทารุณกรรมระหว่างสงครามที่ญี่ปุ่นกระทำต่อหญิงบำเรอ (comfort women) และการปราบปรามทนายความด้านสิทธิมนุษยชนในจีน   

“นอกจากนั้น โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง ยังจัดงานเสวนาและเทศกาลภาพยนตร์สารคดี เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกด้านสิทธิมนุษยชน ไม่เฉพาะตามโรงเรียนต่าง ๆ ในเมืองแห่งนี้ แต่สำหรับสาธารณชนทั่วไปด้วย ไม่มีบุคคลใดและอำนาจใดที่จะทำลายมรดกเหล่านี้ได้”   

กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติถูกประกาศใช้โดยรัฐบาลกลางของจีนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีเป้าหมายเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “การแบ่งแยกดินแดน” “การโค่นล้มอำนาจรัฐ” “การกระทำที่เป็นการก่อการร้าย” และ “การร่วมมือกับกองกำลังในต่างประเทศหรือภายนอก เพื่อคุกคามความมั่นคงของรัฐ”  

นิยามของคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” ที่กว้างขวางและคลุมเครือ ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งการของทางการจีน ได้ถูกนำมาใช้โดยพลการเพื่อเป็นเหตุผลในการจำกัดสิทธิมนุษยชนที่จะมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการสมาคม รวมทั้งการปราบปรามเสียงที่เห็นต่างและฝ่ายค้านทางการเมือง   

ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 แอมเนสตี้บันทึกข้อมูลความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วในฮ่องกง หนึ่งปีหลังมีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ  

“สภาพแวดล้อมของการปราบปรามและความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ทำให้เราไม่อาจทราบได้เลยว่า การดำเนินงานเช่นใดจะส่งผลให้ถูกดำเนินคดีอาญาบ้าง กฎหมายนี้ได้ถูกใช้ครั้งแล้วครั้งเล่ากับบุคคลที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับทางการด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่การร้องเพลงทางการเมือง ไปจนถึงการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในห้องเรียน” อันจูลา ไมอา สิงห์ พายกล่าว  

“การบุกตรวจค้น การจับกุม และการฟ้องคดีอย่างเป็นระบบต่อผู้ที่รัฐมองว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม เน้นให้เห็นว่าความคลุมเครือของกฎหมายนี้ อาจถูกใช้ในทางที่บิดเบือนเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลใดที่รัฐกำหนดเป็นเป้าหมาย”   

รัฐบาลมุ่งปราบปรามนักกิจกรรม นักการเมืองฝ่ายค้าน และสื่ออิสระ รวมทั้งยังขยายการปราบปรามไปยังองค์กรภาคประชาสังคม ตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายนี้ มีอย่างน้อย 35 กลุ่ม ที่ถูกยุบหรือเลิกการดำเนินงานไป ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงาน รวมไปถึงกลุ่มนักกิจกรรมใหญ่สุดในเมืองแห่งนี้ด้วย 

“นับเป็นสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ยากลำบากในอนาคตของฮ่องกง แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะยังคงยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวฮ่องกง เราจะต่อสู้เพื่อให้มีการเคารพสิทธิของพวกเขา และจะจับตามองเพื่อตรวจสอบบุคคลที่ปฏิบัติมิชอบต่อพวกเขาต่อไป”  

“แม้การเดินทางออกจากเมืองที่เป็นบ้านของเรามาหลายทศวรรษเป็นเรื่องที่ปวดร้าวใจ แต่เราก็ภูมิใจกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา และมั่นใจว่าพลังของผู้สนับสนุนกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกของแอมเนสตี้ จะช่วยให้เรายังสามารถยืนหยัดทำงานเพื่อยุติการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนในทุกแห่งหนต่อไป” แอกเนส คาลามาร์ดกล่าว   

ข้อมูลพื้นฐาน  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นขบวนการสิทธิมนุษยชนระดับโลกที่มีสมาชิก 10 ล้านคน มีสำนักงานในกว่า 70 ประเทศ เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อกดดันให้รัฐบาลทั่วโลกต้องรับผิดชอบตามมาตรฐานที่เท่าเทียมของกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง มุ่งทำงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนในเมืองแห่งนี้ โดยทุนสนับสนุนส่วนใหญ่จากเงินบริจาคของประชาชนในฮ่องกง   

สำนักงานภูมิภาคในฮ่องกงซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานภูมิภาคที่กรุงเทพฯ ทำงานวิจัย รณรงค์ กดดันและผลักดันเชิงนโยบายทั่วภูมิภาค รวมทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ มองโกเลีย เมียนมา ไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน สิงคโปร์ ติมอร์เลสเต ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะในแปซิฟิก   

รายได้ส่วนใหญ่ของแอมเนสตี้มาจากเงินบริจาคของประชาชนทั่วโลก การบริจาครายบุคคลและไม่ผูกพันกับองค์กร ช่วยให้ทางหน่วยงานดำเนินการโดยมีอิสระอย่างเต็มที่ ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาล อุดมการณ์ทางการเมือง ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ หรือศาสนา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่รับเงินทุนสนับสนุนในการทำงานวิจัยหรืองานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดๆ  

 

 

**********
 
เนาวรัตน์ เสือสอาด
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร
Naowarat Suesa-ard
Media and Communications Supervisor