ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

กลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า จ.มุกดาหาร บุกศาลากลางยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ

เมื่อ 27 กันยายน 64 ณ ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ชาวบ้านในพื้นที่ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าพื้นที่ป่าดงหมู แปลงที่ 2 ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เพื่อขอให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหากลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยพื้นที่ดังกล่าวหน่วยป้องกันรักษาป่า มห.1 (คำป่าหลาย) ได้เข้าตรวจยึดพื้นที่ ตัดฟันต้นยาง พร้อมข่มขู่ชาวบ้านไม่ให้เข้าไปทำกินในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านก็ได้ยื่นหนังสือเพื่อร้องเรียนพฤติกรรมและได้มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการขอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม และทางจังหวัดมุกดาหารได้มีการเสนอแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารแต่ปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าใด

 

เวลา 09.30 น. ชาวบ้านกลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่าประมาณ 40 คน ได้ทำการตั้งแถวแบบเว้นระยะห่างทางสังคมพร้อมถือป้ายรณรงค์เพื่อเดินเท้าจากลานจอดรถไปยังอาคารศาลากลางจังหวัดมุกดาหารและต่อมาจังหวัดมุกดาหารได้เปิดห้องประชุมและเชิญชาวบ้านไปยังห้องประชุมแก่งกระเบา ชั้น 3 โดยเวลาประมาณ 11.47 น. นายเอกราช มณีกรรณ์ ปลัดจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู แปลงที่ 2 ท้องที่ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร ได้เดินเข้ามาในห้องประชุมเพื่อเป็นตัวแทนจังหวัดมุกดาหารรับฟังปัญหาของชาวบ้านกลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

 

โดยตัวแทนชาวบ้านกลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่าได้กล่าวต่อนายเอกราชว่า “กลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่าได้มายื่นหนังสือหลายครั้ง ตอนนี้ติดปัญหาอยู่อย่างเดียวคือเรื่องของการเซ็นหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะฉะนั้นอยากให้เร่งรัดในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ชาวบ้านได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ ปี 2559 จากการยึดที่ดินจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ไม่ถูกต้อง ที่ไม่มีการพิสูจน์สิทธิก่อน จนมีการฟ้องคดีแห้งทิ้งไว้ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่กล้าเข้าไปทำกิน ข้อเสนอต่อมาพวกเราขอให้ยุติการดำเนินคดีที่เป็นคดีแห้งที่มีการฟ้องไว้ เพราะมีการข่มขู่อยู่ตลอดว่าถ้ามีใครเข้าไปทำกินจะมีการฟ้องร้องและถูกจับทันที และขอให้ชาวบ้านได้เข้าไปทำกินในระหว่างที่มีการแก้ไขปัญหา เพราะตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านไม่มีรายได้ไม่มีที่ดินทำกิน และสุดท้ายขอให้ชดเชยเยียวยา เนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้ปลูกมัน ปลูกอ้อย หรือทำอะไรในที่ดินได้เลย และอยากจะขอย้ำกับทางจังหวัดว่าให้รีบตั้งคณะทำงาน แก้ไขปัญหา ภายใน 7 วัน ถ้าไม่มีการตั้งคณะทำงานหรือเซ็นหนังสือจะกลับมาอีกรอบ และจะร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ยอมแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านพื้นที่ตำบลคำป่าหลาย”

 

ด้านนายเอกราชก็กล่าวต่อชาวบ้านว่า “เรื่องของคำสั่งที่เสนอรองผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งดูตามอำนาจหน้าที่คณะตอนนั้นไม่มีอำนาจในการเข้าไปดำเนินการใด ๆ นอกจากสำรวจว่าที่ดินที่เป็นปัญหาประกอบด้วยของใครบ้างจำนวนเท่าไร ซึ่งผมเป็นประธานผมไม่มีอำนาจที่จะไปตั้งใครเป็นคณะทำงานแก้ไขปัญหาได้ แต่พอดีว่ามีหนังสือคำสั่งใหม่เข้ามาเป็นคำสั่งของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐ หนังสือตัวนี้ก็จะเป็นทางออกของเราทางหนึ่ง ซึ่งตรงนี้เราจะไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการชุดใหญ่แต่คณะกรรมการที่พวกเราเสนอจะอยู่ในคณะกรรมการชุดคณะทำงาน ซึ่งคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐเป็นผู้ออกคำสั่ง ส่วนในข้อเสนอที่อยากจะขอให้ยุติการดำเนินคดีต่างๆ ที่มีอยู่หรือขอให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินในช่วงแก้ไขปัญหาหรือค่าชดเชยต่าง ๆ ตรงนี้เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจังหวัดที่จะพิจารณาว่าให้ได้หรือไม่ได้ แต่จังหวัดมีหน้าที่ที่จะรับข้อเสนอและส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบที่จะแก้ไขปัญหาให้ได้”

 

ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านก็ได้กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมต่อนายเอกราชว่า “อาจจะเกิดความไม่เข้าใจตรงกันเล็กน้อย เพราะว่าเราขอให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม ไม่ใช่ตั้งเพื่อเป็นคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา เราเห็นด้วยกันในการประชุมว่าการตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมจากกลุ่มเดิมจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ร่วมกันในการพิสูจน์ เพราะฉะนั้นคำสั่งของจังหวัดมุกดาหารที่มีอยู่แล้วคิดว่ายังใช้ได้ ไม่มีปัญหาในเรื่องของอำนาจจะเกินขอบเขต เพราะในเรื่องของการตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมชุดนี้ก็ตั้งเพื่อพิสูจน์สิทธิ ตรวจสอบการครอบครองป่าสงวนเหมือนเดิม เพียงแต่ตั้งคณะทำงานเพิ่ม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ตามที่กำหนดไว้

 

 

นายเอกราชจึงได้กล่าวว่า “ถ้าเป็นในเรื่องของการตรวจสอบพิสูจน์สิทธินี้ได้ ก็คือหาข้อมูลว่าที่ดินตรงนี้มีใครเป็นเจ้าของ มีเนื้อที่ขอบเขตเท่าไร ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นไม่มีปัญหาก็จะเป็นคณะทำงานที่เพิ่มเติม เป็นการเพิ่มเติมบุคคล ก็จะได้มาทำงานควบคู่กับคณะใหญ่ ก็ต้องเสนอผู้ว่าเซ็น แต่ถ้าเป็นคณะทำงานย่อยที่เราตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือการทำงานในชุดใหญ่อันนี้ผมเซ็นเองในฐานะประธาน”

 

ซึ่งหลังจากที่นายเอกราชกล่าวจบชาวบ้านได้ขอเวลาประมาณ 10 นาที เพื่อปรึกษาหารือระหว่างชาวบ้านกลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในเรื่องที่นายเอกราชได้เสนอมา โดยหลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่าได้ทำการปรึกษาหารือกันเป็นที่เรียบร้อยก็ได้กล่าวต่อนายเอกราชว่า “เรื่องข้อเสนอของการตั้งคณะทำงานชุดเล็กภายใต้คณะทำงานชุดใหญ่อันนี้เรารับ เพราะเราเห็นว่าการดำเนินการจะได้ไปต่ออย่างรวดเร็ว แต่ว่าอยากให้มีการนำคณะทำงานชุดเล็กเข้าไปสู่คณะทำงานชุดใหญ่เช่นกันจะหลังจากนี้ก็ได้ ซึ่งยังเป็นข้อเสนอของเราอยู่เพื่อให้คณะทำงานชุดใหญ่มีอัตราส่วนที่เท่ากัน เพราะเราค่อนข้างกังวลว่าถ้าเกิดสุดท้ายแผนที่ออกมาไม่ตรงกัน ใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ฉะนั้นข้อแรกขอให้มีการตั้งคณะทำงานชุดเล็กในเร็ว ๆ นี้ และเสนอให้เพิ่มชื่อที่มีอยู่ในชุดเล็กเข้าไปในคณะทำงานชุดใหญ่ด้วย

 

ด้านนายเอกราชก็ได้กล่าวต่อชาวบ้านว่า “รับไว้ในข้อเสนอของคณะทำงานชุดเล็ก เมื่อแต่งตั้งเสร็จแล้วอยากจะขอให้เชิญหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่มานั่งคุยกันก่อน เพื่อวางแนวทางร่วมกันว่าขั้นต้นจะดำเนินการอย่างไรจะได้เดินไปอย่างถูกต้อง” และหลังจากนั้นชาวบ้านกลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่าก็ทำการยื่นหนังสือต่อนายเอกราช มณีกรรณ์ ปลัดจังหวัดมุกดาหาร อย่างเป็นทางการ