ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

จับตา !  กลุ่มต้านเหมืองหินดงมะไฟรุกปลูกต้นไม้ฟื้นฟูเหมืองครั้งที่ 4 บนพื้นที่พิพาท 'เขตโรงโม่'

 

          ภายหลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ปักหลักชุมนุนพร้อมข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 64 มาจนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นการปิดเหมืองหินและโรงโม่ได้สำเร็จตามข้อเรียกร้องที่ 1 ซึ่งปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภูผาป่าไม้ตามข้อเรียกร้องที่ 2 เพื่อวางรากฐานไปสู่การพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดีในอนาคตตามข้อเรียกร้องที่ 3

          เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 64 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนฯ ได้สร้างเรือนเพาะชำพร้อมทำการเก็บเมล็ดพันธุ์ต้นไม้พื้นถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ เมล็ดพันธุ์ไม้ผล และเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ให้ดอกสวยงาม อย่าง เมล็ดพันธ์ต้นกุง ต้นจิก ต้นยางนา ต้นฮัง มะค่าโมง ต้นขี้เหล็ก ต้นหว้า ต้นขนุน ต้นหางนกยูง ต้นจามจุรี ต้นกาลพฤกษ์ ต้นคูณเหลือง ต้นคูณชมพู ต้นสะตอ ไผ่ หญ้าแฝก ฯลฯ นำมาเพาะพันธุ์กล้าไม้ เพื่อนำกล้าไม้ที่ได้ไปปลูกฟื้นฟูบน “ภูผาฮวก” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกทำลายจากการระเบิดหินเพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ให้กลับมาป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม

          โดยในช่วงที่ฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนฯ ก็ได้ทำกิจกรรมปลูกต้นไม้ฟื้นฟูภูผาป่าไม้บน “ภูผาฮวก” จำนวน 3 ครั้ง รวมต้นไม้ที่ปลูกฟื้นฟูภูผาป่าไม้จำนวน 4,374 ต้น

          ครั้งที่ 1 วันที่ 12-13 มิถุนายน 64 โดยกำหนดพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ 10 จุด ต้นไม้ที่ใช้สำหรับปลูกประกอบด้วย ต้นขี้เหล็ก ต้นหว้า ต้นขนุน ต้นมะค่าโมง ต้นหางนกยูง ต้นจามจุรี ต้นสะตอ ไผ่ และหญ้าแฝก จำนวน 1,400 ต้น

          ครั้งที่ 2 วันที่ 12-13 กรกฎาคม โดยกำหนดพื้นที่สำหรับการปลูกต้นไม้ 8 จุด ต้นไม้ที่ใช้สำหรับปลูกประกอบด้วย ต้นสะเดา ต้นยางนา ต้นประดู่ ต้นมะค่าโมง ต้นไผ่ ต้นมะม่วงและต้นจามจุรี จำนวน 1,974 ต้น      ครั้งที่ 3 วันที่ 25 กรกฎาคม 64 โดยกำหนดพื้นที่สำหรับการปลูกต้นไม้ครั้งนี้ไว้ 4 จุด ต้นไม้ที่ใช้สำหรับปลูกประกอบด้วย ต้นยางนา ต้นจิก ต้นฮัง ต้นกาลพฤกษ์ ต้นคูณเหลืองและต้นคูณชมพู จำนวน 1,000 ต้น

          ซึ่งตลอดการทำกิจกรรมทั้ง 3 ครั้ง ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนฯ และเยาวชนนักอนุรักษ์น้อยต่างร่วมมือร่วมใจช่วยกันปลูกต้นไม้อย่างขยันขันแข็งแม้ว่าพื้นที่บางส่วนจะมีหินมากกว่าดิน ซึ่งทำให้ยากต่อการขุดเจาะแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด กลับกลายเป็นแรงผลักดันให้มุ่งมั่งตั้งใจเพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่ต้องการฟื้นฟูภูผาป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม และต้องการวางรากฐานไปสู่การพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดีในอนาคต

          ซึ่งการจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ในครั้งที่ 4 ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 64 นี้นั้น จะมีความสำคัญและยากกว่า 3 ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนฯ จะทำการปลูกต้นไม้ในบริเวณ  ขอบเขตพื้นที่โรงโม่หินที่อยู่ติดพื้นที่เขตประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ซึ่งสิ้นสุดอายุลงเมื่อวันที่ 24 กันยายน 63 เมื่อประทานบัตรสิ้นอายุลง และไม่ปรากฏว่าบริษัทฯ ไม่ได้มีใบขออนุญาตในการแต่งแร่แต่อย่างใด สิทธิในการใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำโรงโม่หินย่อมต้องสิ้นสุดไปตามกัน

          เนื่องด้วยใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อปลูกสร้างอาคารเกี่ยวกับการทำเหมืองหรือจัดตั้งสถานที่เพื่อแต่งแร่ นอกเขตเหมืองแร่ ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด นั้นได้รับอนุญาตเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 56 – 10 เมษายน 67 แต่มีข้อกำหนดเงื่อนไขสำคัญที่ระบุแนบท้ายใบอนุญาตดังกล่าวว่า ‘ข้อ 2 เมื่อสิทธิในการทำเหมืองสิ้นสุดลง ในอนุญาตฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุด’ นั้นหมายความว่าเมื่อประทานบัตรสิ้นสุดลงแล้วใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ ฉบับดังกล่าวต้องสิ้นสุดลงไปด้วย บริษัทฯ จะไม่มีสิทธิ์ใด ๆ ในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 63 แต่ทว่าบริษัทฯ ยังคงดึงดันดื้อรั้นไม่ยอมออกจากพื้นที่และไม่ยอมขนย้ายรถและอุปกรณ์เครื่องจักรออกจากพื้นที่

          อีกทั้งเมื่อมีการตรวจสอบแนวเขต จากพิกัดที่มีการยื่นขออนุญาตการใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำโรงโม่หิน ยังพบข้อเท็จจริงว่า มีการบุกรุก แผ้วถาง และสร้างสิ่งปลูกสร้างเกินจากขอบเขตที่มีการขออนุญาตไว้อย่างชัดเจน ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ฯได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนในประเด็นการเพิกถอนใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ และการบุกรุกป่าสงวนของบริษัทฯ พิพาทแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.หนองบัวลำภู และ กรมป่าไม้) ก็ไม่ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบแต่อย่างใด การเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทฯอย่างชัดเจน เพื่อถ่วงเวลารอให้บริษัทฯพิพาท กลับมาใช้พื้นที่ได้อีกครั้ง  หากเทียบเคียงกันในกรณีชาวบ้านบุกรุกเขตป่าสงวน เรื่องราวคงจะไม่ล่าช้าเช่นนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนฯ ยังคงปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีการกลับมาทำเหมืองหินอีกครั้ง

          ดังนั้นการจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ ครั้งที่ 4 ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 64 ที่จะถึงนี้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน ฯ ต้องการกำลังใจแรงเชียร์จำนวนมาก เพื่อเป็นแรงใจในการขุดดินขุดหินปลูกต้นไม้ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม และต้องจับตาการปลูกต้นไม้ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการปลูกต้นไม้ครั้งนี้อาจจะถูกคุกคามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็เป็นได้ เช่น การข่มขู่ฟ้องคดี การข่มขู่ชาวบ้านไม่ให้กล้าออกมาร่วมปลูกต้นไม้กับกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนฯ หรือทำการตัดฟันกล้าไม้ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนฯ ปลูกทิ้ง ฯลฯ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา