ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

แอมเนสตี้ยื่นรายงานและข้อเสนอแนะถึงทางการไทยเรียกร้องคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ

 

วันนี้ (8 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา เกียกกาย ตัวแทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยยื่นรายงานวิจัยฉบับล่าสุดเรื่อง “หน้าแสบร้อนเหมือนโดนไฟไหม้” (My face burned as if on fire) เรียกร้องรัฐบาลส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้สิทธิมนุษยชนของตนที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์ เรียกร้องไทยต้องเคารพสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ โดยยื่นรายงานและข้อเสนอแนะให้กับชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและตัวแทนพรรคการเมือง โดยมี นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนมารับมอบ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า เนื้อหาในงานวิจัยได้มีการพิสูจน์และเปรียบเทียบหลักฐานการใช้กำลังโดยมิชอบของตำรวจไทย รวมถึงการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง สารเคมีที่มีความระคายเคือง (แก๊สน้ำตา) และกระสุนยาง ตำรวจมีการฉีดน้ำแรงดันสูงที่ปนเปื้อนสารเคมีที่มีความระคายเคืองโดยตรงเข้าใส่ผู้ชุมนุม หรือบางครั้งเป็นการฉีดแบบไม่เลือกเป้าหมายเข้าใส่ผู้ชุมนุม การ์ดอาสา และผู้ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ตลอดจนสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน จึงถือเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ดังนั้นทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยดังนี้

  • กำหนดแนวทางดูแลการชุมนุมในภาพรวม ให้เป็นไปในแนวทางการอำนวยความสะดวกและรับประกันสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบของผู้ชุมนุม โดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ
  • ให้ความสำคัญในการใช้วิธีการที่ไม่รุนแรง เช่น การเจรจา การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการไกล่เกลี่ยเพื่อลดการปะทะที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง และให้การประกันว่าการใช้กำลังใดๆ ระหว่างการชุมนุม สามารถทำได้เมื่อมีความจำเป็นอย่างถึงที่สุดแล้วเท่านั้น และต้องใช้อย่างสอดคล้องกับหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน
  • แยกแยะระหว่างผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมที่ไม่ใช้ความรุนแรง และปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรงที่กระทำความผิดเท่านั้น
  • ให้มีการสืบสวนอย่างรวดเร็ว เป็นอิสระ ไม่ลำเอียงและเห็นผลต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน รวมถึงตำรวจตระเวนชายแดนที่ใช้กำลัง รวมถึงฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารเคมีที่มีความระคายเคืองใส่ผู้ชุมนุมอย่างสงบในปี 2563 ตลอดจนให้มีการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมต่อผู้เสียหายจากการใช้กำลังโดยมิชอบ รวมทั้งการจ่ายค่าชดเชย ฟื้นฟู และรับประกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นอีก
  • ยกเลิกข้อหาทั้งหมดที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม ที่ตกเป็นเป้าหมายเนื่องจากการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และให้แก้ไขหรือยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงเพื่อให้เกิดการชุมนุมโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าได้ และยกเลิกข้อจำกัดที่เกินกว่าเหตุในการปิดกั้นการชุมนุมโดยสงบ

 

นอกจากนั้นแอมเนสตี้ยังเรียกร้องทางการไทยปรับปรุงหลักสูตรในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้มีการฝึกอบรมโดยละเอียดตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การใช้กำลังและอาวุธที่ชอบด้วยกฎหมาย และการรับมือกับการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายด้วย

 

 

 

 

**********
 
เนาวรัตน์ เสือสอาด
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร
Naowarat Suesa-ard
Media and Communications Supervisor