ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

ชัยชนะของพลังประชารัฐ คือ ความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตย


เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักประชาธิปไตย ที่ติดตามการเมืองไทย มายาวนาน ว่า พรรคใดครองพื้นที่เลือกตั้งใด อาทิ บรรหาร ศิลปะอาชา ครองสุพรรณบุรี เนวิน ชิดชอบ ครองบุรีรัมย์ ชวน หลีกภัย ครองตรัง สุเทพ เทือกสุบรรณ ครองสุราษฎร์ธานี สนธยา คุณปลื้ม ครองชลบุรี เสนาะ เทียนทอง เจ้าพ่อวังน้ำเขียว ครองสระแก้ว  ฯลฯ หรือ พรรคประชาธิปัตย์ครองพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่สงขลาขึ้นมา จรดชุมพร เหนียวแน่นขนาดที่ว่า ต่อให้เสาไฟฟ้าลงสมัครก็เลือก

มันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ถ้าหากว่า บนเส้นทางการเมืองไทย นั้นราบรื่น และบทบาทพรรคการเมือง นักการเมือง รวมถึงระบบราชการไทย เป็นไปในทิศทางเดียว คือ สร้างระบอบประชาธิปไตย แต่ความเป็นจริงคือ มันมีความเบียดแทรก ครอบครอง ผลักใส กำจัด ศัตรูทางการเมือง และความผันผวน สั่นคลอนเสถียรภาพทางอำนาจ มีตลอดเวลา เรามีขบวนการภาคประชาชนที่เติบโต ตื่นตัวทางการเมือง และมีบทบาทมากขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ตลอด
30 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศนี้มีรัฐประหารไปแล้วถึง 3 ครั้ง เฉลี่ย 10 ปี ครั้ง และในทุกครั้ง พรรคประชาธิปัตย์มักจะมีบทบาทเกี่ยวข้อง ไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม กับรัฐประหาร ไม่ว่าก่อน หรือ หลัง จนมีคำถามจากนักวิเคราะห์ทางการเมืองและนักเลือกตั้งจากคนรุ่นใหม่ ว่า ทำไมถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองของคนภาคใต้ ในมิติประชาธิปไตย


การสั่งหารหมู่คนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ภายใต้การนำรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ไปจนถึงการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในนาม กปปส.โดยแนวร่วมสำคัญคือ พรรคประชาธิปัตย์ที่สมาชิกพรรคดาหน้าออกไปเป่านกหวีด แม้กระทั่งนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ ก็ออกไป จนไปสู่การรัฐประหารปี 2557 นำมาซึ่งร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยวไปจากทิศทางประชาธิปไตย  ไปสู่การเลือกตั้งที่ประหลาด การคำนวณ สส.แบบพิสดารและที่สำคัญ การกลับมามี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง (จากผู้นำรัฐประหาร) แต่มีบทบาท มีสิทธิลงคะแนน โหวต ในรัฐสภา ไปจนมีสิทธิ์เลือก นายกรัฐมนตรี (ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง)  ทำให้พรรคคะแนนเสียงข้างน้อย คือพลังประชารัฐ ได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะมีเสียง ส.ว. และไม่ต้องแปลกใจ พรรคคประชาธิปัตย์  ก็ร่วมรัฐบาลเช่นเดิม

หลังจากผลการเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราชปรากฏ ออกมา คำถามที่ชวนให้สงสัย ครุ่นคิด และหาคำอธิบายคือ ประชาชนชาวนครศรีธรรมราช มองทิศทางประชาธิปไตยกันอย่างไร เพราะการสนับสนุน เลือกพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่แค่การสนับสนุนพรรคเท่านั้น แต่สะท้อนถึงการยอมรับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ย่ำยีจิตวิญญาณประชาธิปไตย และที่สำคัญ ทำให้ประวัติการเมืองไทย ที่เขียนมาถึงห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสิทธิเสรีภาพ สังคมประชาธิปไตย กลับมามืดมนสิ้นหวังมากขึ้น

กระนั้น เรื่องนี้ อาจจะมีเบื้องลึกเบื้องหลัง ด้านผลประโยชน์ ทางการเมืองระหว่างสองพรรค แต่อย่าลืมว่า ชัยชนะของพลังประชารัฐ คือ ความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตย อย่างราบคาบ ....!!