Back

ภาคประชาสังคมคือหุ้นส่วนการพัฒนา ไม่ใช่อาชญากร

2 March 2021

2334

ภาคประชาสังคมคือหุ้นส่วนการพัฒนา ไม่ใช่อาชญากร

ภาคประชาสังคมคือหุ้นส่วนการพัฒนา ไม่ใช่อาชญากร


ภาคประชาสังคมประสานเสียงยืนยันเอ็นจีโอเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา ไม่ใช่ผู้ร้ายที่ต้องควบคุมตรวจสอบ ชี้มีกฎหมายในการตรวจสอบอยู่แล้ว แสดงความผิดหวังต่อมติ ครม.23 กุมภาพันธ์ ที่ผุดร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ที่ต้องจดแจ้งองค์กรกับกรมการปกครอง มีลักษณะผิดขั้นตอนที่ไม่รับฟังความคิดเห็น ชี้รัฐต้องปรับทัศนคติในการมองภาคประชาสังคม


เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 เครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ....จัดเสวนาเรื่อง ภาคประชาสังคมคือหุ้นส่วนการพัฒนา  ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสรรพสิทธิ์   คุมพ์ประพันธ์   แกนนำขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.)  นางสุนี   ไชยรส  แกนนำขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับประชาชน  ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา  วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางกัลยทรรศน์  ติ้งหวัง  เครือข่ายผู้บริโภค นายสมชาย  หอมลออ   นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน  นางสาวเพ็ญวดี  แสงจันทร์ เครือข่ายเด็กและเยาวชน นายภาคภูมิ  วิธานติรวัฒน์  เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นายพีระพงษ์  จารุศาล  เครือข่ายคนพิการ นางสุนทรี  เซ่งกิ่ง   ดำเนินรายการ


นายสรรพสิทธิ์   คุมพ์ประพันธ์   แกนนำขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) กล่าวถึงความเป็นมาของร่างกฎหมาย ว่ารัฐบาลไม่สามารถพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน มติสหประชาชาติโดยเป้าหมายการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (SDG.)ก็สนับสนุนว่ารัฐบาลต้องเป็นหุ้นส่วนสำคัญกับภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเสมอภาค ดังนั้น เพื่อให้มีองค์กรที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือสังคม  ประเด็นของร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องของอำนาจแต่เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม ที่เปิดให้คนเข้ามามีบทบาทร่วมในการพัฒนา ไม่ได้แย่งอำนาจรัฐ แต่เป็นการเสริมหนุนซึ่งกันและกัน  มีบางส่วนของภาครัฐที่ไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้ เข้าใจไปว่าภาครัฐเป็นผู้นำ ผู้สั่ง โดยที่การใช้อำนาจของรัฐนั้นเป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง 
ในส่วนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่ามีเอ็นจีโอรับเงิน 30 เปอร์เซ็นต์แล้วไม่ทำอะไร  นายสรรพสิทธิ์ แสดงความเห็นว่า มีกฎหมายฉ้อโกงที่สามารถจัดการได้ ส่วนเรื่องที่ว่ามีบางองค์กรที่รับเงินต่างชาติมานั้น ควรนำข้อเท็จจริงมาโต้แย้ง และพิจารณาว่าโครงการขององค์กรนั้น ๆ มีประโยชน์อย่างไร มิเช่นนั้นประชาชนทุกคนต้องอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ เป็นความคิดที่ล้าหลังป่าเถื่อน


นางสุนี   ไชยรส  แกนนำขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับประชาชน กล่าวว่าการขับเคลื่อนเรื่องร่างพ.ร.บ.ภาคประชาสังคม มีการเคลื่อนไหวมายาวนานประมาณ 5-6 ปี โดยมีแนวคิดหลักเรื่องความร่วมมือในการทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคม ที่รัฐต้องมององค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เป็นหุ้นส่วนในการทำงาน เพื่อร่วมกันทำให้งานในสังคมก้าวเดินไป โดยการ “ส่งเสริม” นั้น จะแตกต่างจากการให้เงินทุนสนับสนุนในลักษณะของแหล่งทุน ไม่ใช่เพียงการให้เงินทุนอุดหนุนเพื่อทำกิจกรรม  แต่เน้นการสนับสนุนหลักการ นโยบาย และหากจะให้ทุนบ้างก็เป็นไปเพื่อให้ประชาสังคมเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพตนเองโดยเป็นอิสระจากรัฐ


เครือข่ายภาคประชาสังคมฯได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับประชาชน เมื่อ 9 กันยายน 2563 โดยร่างกฎหมายเข้าชื่อนี้ นางสุนีเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิประชาธิปไตยทางตรง เพื่อให้มีสิทธิมีเสียงในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายในโอกาสต่อไป เนื่องจากร่างกฎหมายของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ มีบางจุดที่แตกต่างจากร่างของภาคประชาสังคม ระหว่างที่รอนายกรัฐมนตรีรับรองเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ปรากฏว่าวันที่ 23 กุมภาพันธ์ คณะรัฐมนตรีกลับมีร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งออกมา นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน สร้างความสับสน และผิดหลักการ


ในส่วนของมติครม.เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่มีการอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.การดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ พร้อมกับร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …. ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นั้น  นางสุนี เห็นว่า เป็นการกระทำที่ให้ประชาชนสับสน มีลักษณะของการฉ้อฉล ละเมิดหลักการ เพราะมีร่างพ.ร.บ.ภาคประชาสังคม อยู่แล้ว แต่จู่ ๆ กลับมีร่างกฎหมายที่ไม่เคยมีใครรับรู้ และไม่มีการรับฟังความเห็น ผิดขั้นตอนการร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ และขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ตามรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องจดทะเบียนก็ได้ แต่ร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้กลับมีลักษณะบังคับให้ต้องจดแจ้งกับกรมการปกครอง มิเช่นนั้นจะมีความผิดทางอาญา
แกนนำขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับประชาชน เน้นย้ำว่า เนื้อหาร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ มีทัศนะแบบล้าหลัง มองเอ็นจีโอเป็นผู้ร้าย พยายามควบคุม ทั้ง ๆ ที่ ปัจจุบันการรวมกลุ่มเป็นสมาคม มูลนิธิของเอ็นจีโอ มีกฎหมายควบคุมและการตรวจสอบทางบัญชีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะรับเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศหรือไม่ก็ตาม


ด้านนางกัลยทรรศน์  ติ้งหวัง  เครือข่ายผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภคสตูล กล่าวว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะทำงานพัฒนา สนับสนุนหน่วยงานรัฐในพื้นที่ กลุ่มประชาสังคมต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศควรจะได้ทำงานอย่างมีอิสระ จากประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิผู้บริโภคมา 20 กว่าปี พบว่าคนในพื้นที่มีการทำงานที่คล่องตัว ช่วยงานภาครัฐได้เป็นอย่างมาก ในตอนที่เรายื่นร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ฉบับประชาชน นั้น ก็ด้วยหวังว่าเพื่อสนับสนุนการทำงานเครือข่ายและกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ทำงานในพื้นที่ ให้ทำงานได้อย่างยั่งยืนและเป็นอิสระ และคล่องตัว แต่เมื่อมีร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ออกมาประกบด้วยกลับกลายเป็นคนละเรื่อง แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของภาครัฐและมีลักษณะของการควบคุมไม่ให้โต ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการทบทวนร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯเสียใหม่ จะเอามาประกบกับร่างพ.ร.บ.ภาคประชาสังคม ไม่ได้ เราทำงานเพื่ออยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ  ทุกวันนี้มีการตรวจสอบการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนอยู่แล้ว
ในฐานะคนทำงานด้านเครือข่ายผู้บริโภค นางกัลยทรรศน์ เห็นว่า ในระดับพื้นที่มีการทำงานประสานงานกันได้ดี ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนแบ่งเบาการทำงานของส่วนรวม ให้คนเรียนรู้ตระหนักถึงสิทธิของตน แต่ระดับนโยบายมีทัศนคติที่แย่มาก อาจจะเป็นเพราะอยู่ในหอคอยงาช้าง และกลัวว่าประชาชนจะมีพลังต่อรองที่เข้มแข็ง


นายพีรพงศ์  จารุสาร  ฝ่ายกฎหมาย สมาคมสภาคนพิการทุกประเทศแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่สงสัยและระแวงคือคำถามเกี่ยวกับ ร่างกฎหมายว่าด้วยองค์กรไม่แสวงหากำไรฯ ที่ไม่ทราบมาก่อนว่ามีร่างกฎหมายลักษณะนี้ จนกระทั่งมติ ครม. 23 กุมภาพันธ์ ออกมา เพราะสาระสำคัญที่ต้องมีการจดแจ้งองค์กรกับกระทรวงมหาดไทย มิเช่นนั้นมีโทษทางอาญา แสดงว่าเป็นเรื่องที่ล้าหลัง อันเป็นการเพิ่มภาระประชาชน ที่ต้องไปยื่นเรื่องเอกสารซ้ำซ้อน ในกรณีขององค์กรด้านคนพิการมีการจดทะเบียนองค์กรกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อยู่แล้ว 
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา  นักวิชาการด้านสังคม กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการส่งเสริมส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) ทราบว่ากรรมการหลายคนรู้สึกผ่อนสั้นผ่อนยาวกับร่างพ.ร.บ.ภาคประชาสังคม อยู่พอสมควร โดยเปรียบเทียบกับกฎหมายที่มีมาในอดีต  แต่แนวคิดในร่างกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรฯ แสดงว่าคนที่ร่างกฎหมายนี้มีทัศนคติบางอย่างที่ยึดถืออยู่ ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดของระบบราชการ ที่มีขนาดใหญ่และมีสายการบังคับบัญชา ทุกหน่วยของรัฐแย่งงบประมาณก้อนเดียวกัน 
“เราไม่เชื่อว่าทัศนคติของคนจะอยู่กับคนนั้นตลอดชีวิต และทัศนคติจะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อมูลใหม่ ได้ศึกษา ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ จะทำให้ทัศนคติของคนเปลี่ยน ผมหวังว่ารัฐเองก็อยากชนะใจประชาชน ภาคประชาสังคมก็มีดี  ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติ รัฐก็จะมีภาระทำงานน้อยลงและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น” ผศ.ดร.จิตติ กล่าว


นายภาคภูมิ  วิธานติรวัฒน์  เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรพัฒนาเอกชนว่ามีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศนี้พอสมควร ทั้งยังได้สร้างปฏิบัติการไปสู่นโยบายหลายเรื่อง เช่น ป่าชุมชน การจัดการทรัพยากรชายทะเล การอนุรักษ์ช้าง เรื่องคนอยู่กับป่า เป็นต้น โดยองค์กรพัฒนาเอกชนมีบทบาทนำในการสะสมองค์ความรู้ มีนวัตกรรมจากการทำงานในเรื่องเล็ก ๆ แล้วพัฒนาขึ้นมา


ตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มองว่าหลักคิดของผู้ที่เสนอร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ คือการมองว่าเอ็นจีโอเป็นผู้ร้าย เป็นปัญหา มองจากความหวาดระแวงเป็นศัตรูบ่อนทำลาย ดังนั้นจึงต้องแก้ที่ความคิดให้เห็นว่าเอ็นจีโอก็เป็นกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจในประเด็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างร่วมกัน  หากมองได้เช่นนี้จะเห็นพลังของประชาชนที่จะลุกขึ้นมาเป็นประชาชนที่ตื่นรู้รับผิดชอบกิจกรรมสาธารณะของประเทศ ต้องมองให้เห็นว่าเป็นเพื่อน ไม่ใช่มาตรวจสอบ เพราะการตรวจสอบมีกฎหมายต่าง ๆ กำหนดไว้อยู่แล้ว
นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า อยากให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนต่อกฎหมายที่ออกมาจากรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่ได้ เพราะอำนาจนอกระบบและอำนาจเหนือระบอบ  
นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน หวั่นเกรงว่าเจตนาของการสอดไส้ร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯจะเป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งคนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล ที่ต้องการตรวจสอบการทำงานในประเด็นสิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 


นายสมชายกล่าวว่าการสอดไส้ร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯออกมาในครั้งนี้เป็นการดำเนินการที่น่าละอายที่สุด และเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประเด็นสำคัญในโลกาภิวัตน์และการสื่อสารในสมัยนี้ ไม่ได้มีเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่ยังมีความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติ ระหว่างกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเด็ก เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย ที่มีการติดต่อสนับสนุน ร่วมมือซึ่งกันและกัน หากปล่อยให้ร่างกฎหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯออกมาจะยิ่งทำให้เราต้องอยู่ภายใต้กะลาแลนด์ และเหมือนปิดประเทศ กฎหมายนี้ยังจงใจจำกัดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย 


ท้ายที่สุด ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นถึงจังหวะก้าวในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยจะมีการขอนัดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  พร้อมทั้งจะจัดเวทีให้ข้อมูลต่อสาธารณชนเพื่อให้เห็นความสำคัญในเรื่องกฎหมายเข้าชื่อต่อไป

 

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112