ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

5 เรื่องเด่น ประเด็นเหมืองแร่ ปี 2563

 

 

1. ปิดถนนขึ้น-ล่องกรุงเทพ ชาวแม่พริกค้านขอประทานบัตรแมงกานีส

       การปิดประกาศคำขอประทานบัตรเหมืองแร่แมงกานีส  คำขอที่ 2/2561  พื้นที่ 199 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา  ของนางสาวกาญจนาพร พันธุ์สุข  ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านห้วยขี้นก หมู่ 7  และบ้านแพะดอกเข็ม หมู่ 11  ต.แม่พริก  อ.แม่พริก  จ.ลำปาง  เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่คัดค้านภายใน 30 วันนับแต่วันปิดประกาศ (ปิดประกาศตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2563)  เป็นต้นเหตุของความไม่พอใจจนสร้างความคุกรุ่นขึ้นในพื้นที่นำมาซึ่งการปิดถนนทางหลวงหมายเลข 1 ที่ด่านตรวจยาเสพติดแม่พริกในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา

       เนื่องจากว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ทราบเรื่องการปิดประกาศคำขอประทานบัตรดังกล่าวภายหลังจากวันติดประกาศผ่าน 30 วันไปแล้ว  จึงได้เริ่มรวมตัวกันออกมาคัดค้านถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการขอประทานบัตรที่หน่วยงานราชการปกปิดข้อมูลให้กับผู้ประกอบการเพื่อสร้างอุปสรรคขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน  และยิ่งสร้างความไม่พอใจมากขึ้นจากการที่นายอำเภอแม่พริกนิ่งเฉยและเตะถ่วงการแก้ไขปัญหาต่อข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านคำขอประทานบัตร  เพราะเป็นห่วงกังวลว่าพื้นที่คำขอประทานบัตรซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำจะได้รับความเสียหายจนก่อเกิดผลกระทบหลายด้าน  เนื่องจากว่าพื้นที่คำขอประทานบัตรเป็นป่าสาธารณประโยชน์ที่เป็นแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้าน  และเป็นพื้นที่ต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและประโยชน์ด้านอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ของคนทั้งอำเภอแม่พริก

       จึงเป็นที่มาของการปิดถนนทางหลวงหมายเลข 1 เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา  ท่ามกลางผู้ชุมนุมกว่าพันคนจาก 11 หมู่บ้าน ใน ต.แม่พริก  ตั้งแต่ 9 โมงเช้าไปจนถึง 4 โมงเย็น  โดยมีเจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางและรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางมาเจรจาแก้ไขปัญหา  จนได้ข้อตกลงร่วมกันสามข้อ  ดังนี้  1. ขอให้ชะลอหรือระงับการขอประทานบัตรไว้ก่อน  2. เมื่อปฏิบัติตามข้อ 1. แล้ว  ขอให้กลับไปทำความเข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบด้านในเรื่องกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย  และความสำคัญเชิงคุณค่าในมิติอื่น ๆ ของพื้นที่ก่อนที่จะถูกนำไปเป็นพื้นที่ขอประทานบัตร  ให้กับชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียในรัศมีผลกระทบทั้งหมด  และ 3. ห้ามดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมปิดถนน  จึงสลายการชุมนุม

       นับเป็นความสำเร็จอันภาคภูมิใจของประชาชนชาวอำเภอแม่พริกที่ร่วมแรงร่วมใจกันปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด

 

2. “คนจันกินผลไม้เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ได้กินแร่เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต”

          เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 63 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีได้ดำเนินการปิดประกาศคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ที่ 8/2549 และที่ 9/2549 ของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด รวมพื้นที่ 14,650 ไร่ ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ โดยมีพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง 22 หมู่บ้าน ใน ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ซึ่งทำให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการสำรวจและการทำเหมืองทองคำในพื้นที่ลุกขึ้นมาคัดค้านคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำดังกล่าว จนนำไปสู่การชุมนุมครั้งใหญ่ของชาวจันทบุรี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อแสดงพลังคัดค้านคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ พร้อมร่วมกันล่ารายชื่อกว่า 100,000 รายชื่อ และเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยืนยันไม่ให้มีการสำรวจและการทำเหมืองทองคำในจังหวัดจันทบุรี

          ซึ่งประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร โดยการปลูกผลไม้หลากหลายพันธุ์ เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ระกำ กระท้อน สละ เป็นต้น ซึ่งผลไม้เหล่านี้ล้วนเป็นผลไม้ที่สร้างมูลค่าและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ไม่เพียงเท่านั้นบริเวณที่ขอสำรวจแร่ทองคำยังเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำของชาวจันทบุรี ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 1,200,000 ไร่ ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อุทยานแห่งชาติเขาวง-เขาชะเมา อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาสอยดาว และอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ โดยถือว่าเป็นพื้นที่หวงห้ามตามมาตรา 17 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่ต้องถูกกันออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง

          นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่ยังหวั่นเกรงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิต ชุมชน สุขภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยชาวจันทบุรีได้ยืนยันว่า “จะคัดค้านจนกว่า กพร. จะเพิกถอนคำขออาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวให้สำเร็จ” ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์การคัดค้านเหมืองทองคำจันทบุรีต่อไปอย่างใกล้ชิด ‘ทองคำบนดินคือทุเรียนของเรา’

 

3. #Saveเขายะลา

          จากกรณีที่กรมศิลปากร ได้มีประกาศแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ตำบลลิดล ตำบลยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จากเดิมขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ให้ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากในพื้นท่ีจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียงได้ประสบปัญหาเกี่ยวกับแหล่งหินอุตสาหกรรม จากสาเหตุที่แหล่งหินอุตสาหกรรมหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงทำให้จำเป็นต้องอาศัยแหล่งหินอุตสาหกรรมจากภูเขายะลาซ่ึงเป็นท่ีต้ังของโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ดังนั้นเพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนผู้ก่อความไม่สงบในพื้นภาคใต้

          ซึ่งมีกระแสต่อต้านในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การเกิดแฮชแท็ก #Saveเขายะลา #เขายะลา เพื่อแสดงออกในการเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศของกรมศิลปากรดังกล่าว ที่เข้าข่ายเป็นการออกประกาศเอื้อผลประโยชน์ให้นายทุนเหมืองหินเข้าทำลายแหล่งโบราณคดีที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ บำรุงรักษา และฟื้นฟู เพื่อธำรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และวัฒนธรรม ของมนุษยชนต่อไปอย่างยั่งยืน

          โดยแหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ซึ่งถือเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุเก่าแก่มากถึงราว 3,000 ปี โดยได้มีการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สัมพันธ์กับการพำนักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน และภาพเขียนสี อยู่ตามถ้ำและเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง ซึ่งผลกระทบจากการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่บางส่วนของภูเขายะลาเพียงส่วนเดียวก็สามารถส่งผลกระทบในภาพรวมต่อภูเขาทั้งลูกและแหล่งโบราณคดีด้วย จนเกิดกรณีการที่ภาพเขียนสี ขนาดยาว 3 เมตร ได้พังถล่มลงมา และเกิดรอยร้าวบริเวณอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก

          ซึ่งการที่กรมศิลปากรจงใจออกประกาศเพิกถอนพื้นที่แหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วน เป็นความพยายามในการช่วยกันกับนายทุนเหมืองหิน เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะตามมาตรา 17 วรรคสี่ ที่ระบุว่า ‘พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองต้องไม่ใช่เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ’ ซึ่งการปล่อยปะละเลยและเพิกเฉยให้มีการทำเหมืองหินในพื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมาย ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมและเข้าข่ายขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 อย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด

 

4. 26 ปีแห่งการต่อสู้ สู่ชัยชนะ ‘ปิดเหมืองหินและโรงโม่ดงมะไฟ’

          กว่า 26 ปี ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู ยืนหยัดต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) และโรงโม่หิน ประทานบัตรที่ 27221/15393 ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ที่ละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน

          โดยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เข้าเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองหินและโรงโม่อย่างถาวร แต่ทว่าการเจรจาดังกล่าวกับไม่เป็นผล เนื่องจากจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิเสธที่จะปิดเหมืองหินและโรงโม่ให้กับชาวบ้าน ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงได้ทำการปักหลักชุมนุมปิดบริเวณทางเข้า-ออกเหมืองหินและโรงโม่ด้วยตัวเอง พร้อมเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี

          ซึ่งในวันที่ 4 กันยายน 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้จัดกิจกรรม ทวงคืนภูผาป่าไม้ ‘เปลี่ยนเขตเหมืองหินให้เป็นเขตป่าชุมชน’ หลังใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลางหมดอายุลงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 โดยชาวบ้านได้เดินเท้าเข้ายึดพื้นที่ทำเหมืองพร้อมทำการปล่อยป้ายผ้ายักษ์ที่ระบุข้อความว่า “ให้เหมืองจบที่รุ่นเรา” บริเวณภูเขาที่ถูกระเบิดจากการทำเหมือง และชักธงเขียวของกลุ่มที่มีข้อความว่า “เดิน-ปิด-เหมือง” ขึ้นสู่ยอดเสาแทนธงของบริษัทฯ เพื่อประกาศชัยชนะในการยึดคืนพื้นที่เหมืองได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังร่วมกันปักป้ายหมู่บ้านชุมชนผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี ทำพิธีบวชต้นไม้เปลี่ยนเขตเหมืองหินในเห็นเขตป่าชุมชน และทำพิธีบายศรีสู่ขวัญภูผาป่าไม้ที่ถูกระเบิดทำลายจากการทำเหมือง

          และวันที่ 25 กันยายน 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ได้จัดกิจกรรม 26 ปี การต่อสู้ สู่ชัยชนะ ‘เปลี่ยนโรงโม่หินเป็นป่าชุมชน หยุดเหมืองหินถาวร’ เนื่องจากใบประทานบัตรเพื่อทำเหมืองหินหมดอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2563 โดยชาวบ้านได้ร่วมกันเดินเท้าเข้าทวงคืนพื้นที่โรงโม่หิน ซึ่งได้ทำกิจกรรมในการหว่านเมล็ดพันธุ์พืชและปลูกต้นไม้ ปักหมุดป่าชุมชนด้วยเสาไม้สีแดง 3 เสา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประกาศฟื้นฟูเหมืองหินและโรงโม่ 225 ไร่ และร่วมกันทำพิธีบายศรีสู่ขวัญขอขมาแม่ธรณี

          ซึ่งนับว่าเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่สามารถปิดเหมืองหินและโรงโม่ด้วยสองมือสองเท้าของตนเองจนสำเร็จ ถึงแม้ชาวบ้านจะทำการปิดเหมืองหินและโรงโม่ได้สำเร็จตามข้อเรียกร้องข้อที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันชาวบ้านก็ยังคงปักหลักชุมนุมปิดทางเข้า-ออกเหมืองหินและโรงโม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยทำเหมืองและพัฒนาดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดีต่อไป

 

5. อ้างเรื่องโควิด เปิดช่องคุกคามนักปกป้องสิทธิต้านเหมือง

          จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามประชาชนเคลื่อนไหวหรือรวมตัวกัน โดยอ้างเรื่องป้องกันโรคระบาด ทำให้นักปกป้องสิทธิด้านเหมืองแร่ ในหลายพื้นที่ต่างได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน เพราะไม่สามารถออกมารวมตัวกันเคลื่อนไหวในพื้นที่ได้ ทั้งที่เป็นการรวมตัวกันเพื่อใช้สิทธิตามกฎหมาย ทำให้เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ทำเคมเปญเพื่อ “ล็อคดาวน์เหมืองแร่ หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง” ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้เห็นถึงปัญหาการเรียกร้องสิทธิในพื้นที่ต่างๆต้องถูกระงับยับยั้งโดยอาศัยกฎหมายพิเศษ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในขณะที่กระบวนการออกใบอนุญาตต่าง ๆ ในการทำเหมืองแร่ ไม่ได้หยุดชะงักลงไปด้วย

          จากการออกมารณรงค์ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กลุ่มรักษ์บ้านแหง ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ จ.ลำปาง หลังจากมีการรณรงค์ในพื้นที่ ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ลงมาพูดคุย เพื่อกดดันตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ให้จัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวอีก

          อีกพื้นที่หนึ่งคือ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ที่คัดค้านการทำเหมืองโปแตช ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ โดยหลังจากมีการอ่านแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนในพื้นที่ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกมารวบตัวในขณะที่ทำงานอยู่ในไร่ เพื่อไปสถานีตำรวจโดยไม่มีหมายและไม่แจ้งข้อกล่าวหาใด ๆ ให้รับทราบ ทั้งยังมีการยึดโทรศัพท์เพื่อไม่ให้ติดต่อกับผู้อื่น พร้อมทั้งข่มขู่ให้บอกชื่อชาวบ้านที่ร่วมแถลงการณ์ หากไม่ทำจะให้ติดคุก

          สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการย้ำชัด ว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อควบคุมโรคติดต่อโควิด-19 แต่มีเจตนาชัดในการควบคุมคน ไม่ให้มีการออกมาชุมนุมกัน อีกทั้งยังไม่ได้มีเป้าหมายในการควบคุมเฉพาะประเด็นทางการเมือง แต่ประเด็นด้านทรัพยากรเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะทรัพยากรแร่ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วประเทศ รัฐบาลชุดนี้จึงต้องควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดการคัดค้าน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเสียประโยชน์

          และอีกหนึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านเหมืองแร่ ก็คือกรณีของคุณ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันได ซึ่งคัดค้านการทำเหมืองหิน ในพื้นที่ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู โดยหลังจากมีกระบวนการชุมนุมปิดเหมืองของชาวบ้าน ก็ได้มีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นรูปแบบเดิม ๆ จากการข่มขู่คุกคาม สู่การชี้เป้าเพื่อลอบสังหาร โดยอาศัยใบเบิกทางสำคัญคือคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อ้างว่าคนนอกมายุยงปลุกปั่น และการเพิกเฉยในการตามหาตัวผู้กระทำความผิดในการสังหารแกนนำต้านเหมืองในพื้นที่ ทั้งที่เคยมีผู้เสียชีวิต เนื่องจากการค้านเหมืองหินที่นี่มาแล้วถึง 4 ศพ