อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด
2ต.ค.63 เวลา 15.00น. เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะนะ จังหวัดสงขลา นำครูและนักเรียนจำนวนมากมาร่วมกันละหมาดฮายัดที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อแสดงพลังคัดค้านอย่างสันติ ต่อการประกาศเปลี่ยนผังเมืองจะนะเป็นเขตอุตสาหกรรม เนื่องจากการยื่นขอแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ตามมาตรา 35 ของ พรบ.การผังเมือง 2562 ที่อ้างว่าการแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะบริเวณให้เหมาะกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่สมควรต่อการเปลี่ยนผังเมือง จากพื้นที่เกษตร เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกมติ ครม.ต่อเรื่องนี้ และยกเลิกมติคณะกรรมการเปลี่ยนผังเมือง
นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ ได้เรียกร้องไปยังโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันปอเนาะ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีนักเรียนและบุคลากรกว่าแสนคนออกมาร่วมยืนหยัดไปด้วยกัน
นายมังโสด หมะเต๊ะ ผู้ประสานงานเครือข่าย กล่าวว่า “เราจะยกระดับการต่อสู้ ล่ารายชื่อ เชิญชวนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปอเนาะทั้งจังหวัดสงขลาและชายแดนใช้กระบวนการทางกฎหมาย ไปรัฐสภาและอื่นๆภายใต้หลักการอิสลามและกฎหมาย “
สอดคล้องกับทัศนะบาบอฮุสนี บินหะยีคอเนาะ “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ หากสร้างจากเงินนายทุน นั่นคือความโลภ หากสร้างจากเงินรัฐ นั่นคือฉ้อราษฎร์ ไม่ว่าจะพิจารณาจากแสงแห่งธรรมหรือสะท้อนเงากฎหมายเรามิอาจมองมันอย่างสงบใจได้จริงๆ การริฎอ(ยินยอม)กับสิ่งที่ผิดหลักอิสลาม เขาคนนั้นก็ไม่ต่างจากการทำผิดหลักศาสนาอย่างหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นภาระต่อผู้รู้ และผู้เรียนในการสืบทอดงานที่เป็นมรดกศาสนฑูตมุฮัมมัด ที่ยืนหยัดบนสัจธรรม ภายใต้อำนาจมืดที่ได้คุกคามท่านหรือจะมอบทรัพย์สินซื้อท่าน”
สำหรับแถลงการณ์
“ มื่อรัฐไม่ฟังเสียงประชาชน เราจะยกระดับการต่อสู้ทุกวิถีทางภายใต้หลักการอิสลามและกฎหมายในการต่อสู้ปกป้องจะนะ”
การอ้างว่า การยื่นขอแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา เป็นการดำเนินมาตรา 35 ของ พรบ.การผังเมือง 2562 ที่การแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะบริเวณให้เหมาะกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนั้น ยังไม่ใช่เหตุผลที่สมควรต่อการจะเปลี่ยนผังเมือง จากพื้นที่เกษตร เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นเมืองอุตสาหกรรม เพราะการแก้ไขผังเมืองนั้น ยังต้องทำตามมาตรา 27 ด้วย โดยเฉพาะมาตรา 27 วรรค 3 ที่ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือมาตรฐานเกี่ยวกับการผังเมือง และไม่ต้องทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ
ดังนั้น จะเห็นว่า พื้นที่บริเวณตำบลนาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหลัก เพราะยังคงเป็นพื้นที่เกษตร ประมง ชุมชนยังมีวิถีชีวิตเกษตรกรรมเป็นหลัก และวิถีเกษตร ประมงนี้ไม่ได้ก่อความเสียหายใดๆ แต่เกษตรและประมงนี้ คือความมั่นคงของเศรษฐกิจชุมชนภาคใต้มายาวนาน และเป็นเศรษฐกิจที่รักษาระบบนิเวศ ความมั่นคงทางอาหารของประเทศด้วย
และ ตามมาตรา 36 ของ พรบ.การผังเมือง 2562 เพื่อให้การพัฒนาเมืองและการดำรงรักษาเมืองในพื้นที่ที่มีการวางและจัดทำผังเมืองบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นให้ใช้บังคับผังเมืองรวมแล้ว การดำเนินโครงการพัฒนาภาครัฐทางด้านกายภาพจะต้องสอดคล้องกับนโยบายและการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวม
ดังนั้น โครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะ อันเป็นแผนลงทุนเอกชน ที่ ศอ.บต เสนอให้เป็นพื้นที่สีม่วง คือ อุตสาหกรรมนั้น ไม่สอดคล้องกับผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาที่ประกาศใช้บังคับในปัจจุบัน
หากจะเปลี่ยนแก้ไข ก็จะต้องเป็นหลักการตามมาตรา 36 ด้วย
และมาตรา 35 และ 36 นี้ มิใช่มีเพื่อ แก้ให้สิ่งที่ผิด กลายเป็นถูก มิใช่ มีเพื่อแก้ไขสิ่งที่ได้มีการศึกษาแล้วห้าม เพราะเป็นการใช้ประโยชน์ขัดแย้ง มีผลกระทบกับการเกษตรและประมง ให้กลายเป็น เลิกห้าม และให้ทำ เพราะเป็นแผนลงทุน นโยบายรัฐ แม้มีมติ ครม.แต่ก็ต้องเคารพกฎหมายผังเมืองด้วย
กระบวนการวางผังจังหวัดสงขลาก่อนประกาศตามกฎหมายก็ได้มีการศึกษาแผนการลงทุนทุกด้าน มีการศึกษานโยบายรัฐและเอกชนแล้ว จึงกำหนดเป็นข้อห้าม และผ่านการเห็นชอบให้ "#ห้ามอุตสาหกรรม"
แม้ว่ากฎหมาย มีข้อบัญญัติให้ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองได้ก็จริง แต่ต้องมีการศึกษา ประเมินผลด้วยว่าควรปรับปรุง
#การปรับปรุงแก้ไขผังเมืองมิใช่การแก้สิ่งที่ผิดให้กลายเป็นสิ่งที่ถูก
ในขณะที่ก่อนหน้านี้เราได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านนายอำเภอจะนะและศอ.บต.ให้ทบทวนโครงการนี้และทางศอ.บต.เคยสัญญากับชาวบ้านผ่านสื่อและส่งคนมารับปากกับเรา(มีคลิปยืนยัน) ว่า “จะไม่นำผลของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน(11 กรกฎาคม 2563)เพื่อเปลี่ยนแปลงผังเมือง
เมื่อรัฐไม่ฟังเสียงประชาชน เรายกระดับการต่อสู้ทุกวิถีทางภายใต้หลักการอิสลามและกฎหมายในการต่อสู้ปกป้องจะนะ “เมืองอุลามาอ์ เมืองวิชาวิชาการอิสลาม และวิถีชีวิตชุมชนอันเป็นแหล่งอาหารทั้งสมอง ประมงและเกษตรกรรม ของชาติและอาเซียนซึ่งวิกฤตโควิดได้เป็นบทเรียนเราว่า “เมืองอุตสาหกรรมมิใช่คำตอบโดยเรียกร้องดังนี้
1.-ยกเลิกมติ ครม.ต่อเรื่องนี้
2 –ยกเลิกมติคณะกรรมการเปลี่ยนผังเมือง
ในท้ายนี้เราเรียกร้องกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีนักเรียนและบุคลากรกว่าแสนคนออกมาร่วมยืนหยัดกับหลักการอิสลามกับพวกเรา
เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะนะ จังหวัดสงขลา
2 ตุลาคม 2563