3277
( ขอบคุณภาพ จาก ไทยพีบีเอส : https://news.thaipbs.or.th/content/254371 )
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
หลังจากที่สื่อโซเชี่ยลถล่มผู้อำนวยการสช.หนองจิก อย่างหนัก สช.หนองจิก จังหวัดปัตตานีกรณีสั่งปิดปอเนาะกล่าวคือ 16/9/63 ศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาลงโทษจำเลย หมายเลขคดีอ.ดำ 813/2562 นายมูหัมมัดรอมลี เจะยะ โรงเรียนอัลอูลูมุลอิสลามมียะห์ ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี (บาบอรอมลี ชือมา) ศาลพิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงอาญา 2 ปี
จากเหตุ วันที่ 18/6/62 สช.หนองจิกแจ้งความร้องทุกข์ แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ "ข้อหาเปิดปอเนาะ โดยไม่มีใบอนุญาต"วันที่ 24/6/62 พนักงานสอบสวน แจ้งข้อหา จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต วันที่ 11/10/62 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ “ปอเนาะ”เป็นที่พูดถึงอย่างมากในสื่ออีกครั้งหนึ่ง
รากศัพท์ของคำว่า "ปอเนาะ" เป็นคำภาษามลายูปัตตานี เพี้ยนมาจากภาษาอาหรับว่า FUNDOK อ่านว่าฟุนโด๊ก แปลว่า กระท่อม ที่พัก หรือโรงแรม ความหมายในที่นี้หมายถึง "สำนักศึกษาเล่าเรียนวิชาการศาสนาอิสลาม"
สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ฉบับทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) สงขลา ฉบับ พ.ศ.2529 เล่ม 7 ระบุความเป็นมาว่าเชื่อกันว่าปอเนาะเกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ แล้วแพร่มาสู่เอเชียที่ประเทศมาเลเซียก่อน ต่อมาจึงแพร่เข้าสู่เส้นทางใต้ของประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มที่ปัตตานีเป็นแห่งแรก แล้วขยายไปสู่ท้องถิ่นที่มีชาวไทยมุสลิมทั้งในภาคใต้และภาคกลาง
"ปอเนาะ" ถือเป็นการศึกษาเพื่อชุมชนแบบพึ่งตนเอง เกิดที่ปัตตานีเมื่อ 200 ปีมาแล้ว โดยปอเนาะแรกคือ บืดนังดายอ ใกล้ๆ ต.สะนอ, อ.ยะรัง, จังหวัดปัตตานี
ผศ.ดร.หะสัน หมัดหมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในชุมชนมุสลิมชายแดนใต้กล่าวว่า "ระบบการเรียน ศาสนาซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าปอเนาะ ที่มีอยู่ในสถานที่ต่างๆ ในมาเลเซีย นับเป็นระบบที่ได้รับการถ่ายทอดไปจาก ปาตานี/ชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งสอนศาสนาที่ชาวมุสลิมได้จัดตั้งขึ้น ระบบการสอนแบบนี้คล้ายๆ ระบบพระสงฆ์ใน พระพุทธศาสนา เพราะเป็นการศึกษาค้นคว้าหลักศาสนาที่พยายามปลีกตัวออกห่างจากสังคมอันสับสนข้อนี้ สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ระบบการสอนแบบปอเนาะไม่เคยปรากฏขึ้นเลยในประเทศกลุ่มมุสลิม แน่นอน ที่สุด มลายูได้รับอิทธิพลไปจาก ปาตานี/จังหวัดชายแดนใต้ สถาบันปอเนาะที่กล่าวนี้ บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทาง ศาสนาอิสลามเป็นผู้สร้างขึ้น และตั้งตนเป็นเกจิอาจารย์ เรียกว่า โต๊ะครู ทำการอบรม สั่งสอน เผยแพร่ ศาสนา โดยมิได้รับค่าตอบแทน เพียงเพื่อผลบุญในปรภพ และเกียรตินิยมจากการยอมรับของสังคมมุสลิม"
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เขตการศึกษา 2 (สมัยนั้น)ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการปรับปรุงส่งเสริมปอเนาะ ออกมาเมื่อปี 2504 สาระสำคัญคือ ให้ปอเนาะยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนต่อทางราชการ
ต่อมาในปี 2508 รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีให้ปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แปรสภาพเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้ปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน ให้มีหลักสูตรการสอน มีชั้นเรียน โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ มีระยะจบการศึกษาที่แน่นอน และให้เปิดสอนวิชาสามัญด้วย ทางราชการจะช่วยเหลือส่งเสริมโดยการให้เงินอุดหนุน ส่งครูไปช่วยสอนวิชาสามัญ และผ่อนปรนในเรื่องคุณสมบัติบางประการของเจ้าของ ผู้จัดการ ครูใหญ่ และครูผู้สอน โดยไม่ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2497 อย่างเคร่งครัด
ปี 2510 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เร่งรัดปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด ให้มาขอแปรสภาพจากปอเนาะเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 มิถุนายน 2514 ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าปอเนาะนั้นล้มเลิกไป และหลังจากนั้นห้ามก่อตั้งปอเนาะขึ้นมาอีก หากจะตั้งต้องเปิดสอนในรูปแบบของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเท่านั้น
ถึงปี 2514 มีปอเนาะจำนวนมากถึง 426 แห่ง มายื่นความจำนงขอแปรสภาพกับทางการ แต่บางแห่งที่เคยขึ้นทะเบียนด้วยความจำยอม เนื่องจากถูกบีบจากทางการ ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่ยอมแปรสภาพอีก บางส่วนยอมแปรสภาพจากปอเนาะไปสู่ระบบโรงเรียน แต่สอนเฉพาะวิชาศาสนาเท่านั้น ตามหลักสูตรและแผนการสอนที่โรงเรียนปอเนาะแห่งนั้นๆ กำหนดขึ้นเอง และนอกจากนี้ ยังมีปอเนาะแห่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
การมองปอเนาะไม่สามารถมองได้แบบเดียว เพราะมันเป็นการศึกษาทางเลือก เป็นวิถีชีวิต
มีมาอย่างยาวนาน “ จิตวิญญาณปาตานี”
การถือกำเนิดแต่ละแห่งก็แตกต่างกัน
อาจารย์รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ นักวิชาการชาวไทยเชื้อสายมลายูปาตานีปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซียให้ทัศนะว่า “
ปอเนาะต่างจาก รร. เอกชนสอนศาสนาอิสลาม ทั้งเรื่องหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน ปอเนาะไม่มีหลักสูตรจะเรียนกีตาบเป็นเล่ม ๆ ที่จะแบ่งตามสาขาต่าง ๆ ที่เป็นความรู้ทางศาสนา เช่น ฟิกห์, เตาฮีด, นาฮู, ตัฟซีร เป็นต้น
ปอเนาะบางแห่งบาบอจะชำนาญด้านฟิกห์ เด็กปอเนาะที่อยากรู้ด้านนี้ก็จะมาเรียนกับบาบอคนนี้ แต่ถ้าปอเนาะอีกแห่งบาบอเชี่ยวชาญตัฟซีร เด็กปอเนาะก็จะไปเรียนกับบาบออีกปอเนาะด้วย ในลักษณะเวียนไปเรียนตามปอเนาะต่าง ๆ ตามความเชี่ยวชาญของบาบอแต่ละคนก็มีเช่นกัน
ปอเนาะไม่มีค่าเทอม เรียนฟรี เด็กปอเนาะอาจลงทุนในตอนแรกในการสร้างปอเนาะหรือกระต๊อบไว้เป็นที่พัก ถ้าไม่มีกระต๊อบว่างที่เด็กปอเนาะคนเก่าไม่พักแล้ว กับเสียค่าใช้จ่ายส่วนตัวเล็กๆ น้อย ๆ
วิถีแห่งปอเนาะคือวิถีพอเพียง เป็น traditional education ที่ในโลกนี้มีไม่มากแล้ว ทั้งยังรองรับคนจนๆ ที่อยากมีความรู้ศาสนาติดตัวด้วย
คนมาเรียนก็จะเรียนกีตาบเพื่อเรียนรู้ศาสนาเป็นหลัก ส่วนวิชาการสามัญทั่วไปนั้น อยู่ที่แต่ละคนจะเรียนอีก เช่น เด็กปอเนาะหลายคน เรียน กศน. วิทยาลัยชุมชน เรียนรามไปด้วย
ดังนั้นถ้าเราเข้าใจปอเนาะ รู้ว่าเขาเรียนอะไร เป้าหมายที่เรียนเพื่ออะไร จะแยกแยะได้ว่าต่างจาก รร เอกชนสอนศาสนา
ความเข้าใจที่ผิดๆ จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดๆ ต่อปอเนาะ เกิดทัศคติทางลบ และสำหรับพื้นที่อ่อนไหวอย่าง จชต. มันคือการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นวิธีของคนเขลาเท่านั้นที่ทำแบบนั้น ซึ่งทางออกยังมีอีกมากเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่...แต่ไม่เลือกที่จะทำ”
ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ สะท้อนความสัมพันธ์ ปอเนาะ โต๊ะครู(บาบอ) และชุมชนกับรัฐโดยให้ทัศนะว่า “เมื่อพิจารณาบทบาทโต๊ะครูที่มีต่อชาวบ้านและชุมชน จะพบว่ามันสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องกระบวนการผู้มีบุญที่มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของชาวเขาทางภาคเหนือของไทย ซึ่งใช้ทฤษฎี (Revitalization Theory)เมื่อถูกกดดันจากภาครัฐ ทำให้โต๊ะครูและชาวบ้านมีทางเลือกสองทางคือ การไม่ยอมรับการจดทะเบียนปอเนาะ เพราะกลัวว่ารัฐจะเข้ามาควบคุม ซึ่งเป็นส่วนน้อย เมื่อพิจารณาจากส่วนใหญ่ของปอเนาะที่ยอมจดทะเบียนเพื่อฟื้นฟูพลังการดำรงอยู่ และพลังที่พวกเขานำมาใช้เพื่อการคงอยู่ ก็มีบริบทภายในวัฒนธรรมตนเองและปัจจัยทางการเมืองภายนอก และขณะเดียวกันมีการใช้กระบวนการต่อรอง (Negotiation) ตามแนวคิดของกรัมชี ระหว่างโต๊ะครู ชุมชน กับรัฐ โดยการยอมรับของชุมชนและโต๊ะครูนั้น รัฐต้องมาสนับสนุนหนุนเสริมพัฒนา ไม่ใช่มาควบคุม “
สำหรับทางแก้ที่ถาวรควรจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนเชิญทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโต๊ะครู ร่วมด้วยช่วยกันในการหาทางออกที่ดีที่สุดให้หน่วยงานรัฐจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของมนุษย์
“การศึกษาชายแดนใต้ต้องเพื่อความมั่นคงของมนุษย์แล้วความมั่นคงของรัฐก็จะตามมา ข้อเสนอแนะก่อนได้เลขาสมช.คนใหม่/อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ http://spmcnews.com/?p=33199”
ส่วนกฎระเบียบใดของสช.ที่ไม่สอดคล้องในการหนุนเสริมการศึกษาการจัดการเรียนรู้ที่เป็นทางเลือกของชุมชนก็ต้องแก้ไข โดยเฉพาะบาบอ(โต๊ะครู)ที่เปรียบเสมือนผู้สานต่องานศาสนา ที่รับมรดกการเผยแผ่ศาสนา จากท่านศาสดา ถ้าท่านเกิดทำไปแล้วผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากมิได้ตั้งใจ เราก็ต้องร่วมด้วยช่วยเหลือท่านทุกวิธีทาง
หมายเหตุอ่านเพิ่มเติมใน
พัฒนาการปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
https://prachatai.com/journal/2007/03/12156
ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797
ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016
อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849
Email : webmaster@thaingo.org
Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00
2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310
+662 314 4112