ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ความผิดพลาดและการสูญเปล่าซ้ำซากในการจัดการน้ำอีสานของรัฐไทย

 

โดย เครือข่ายนักวิชาการลุ่มน้ำโขงอีสาน

17 กรกฎาคม 2563

 

นับตั้งแต่มีการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคอีสานภายใต้โครงการ โขง ชี มูล มาตลอดระยะเวลา 30 ปี ได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ชุมชน เช่น โครงการฝายกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี และการพัฒนาหนองหานกุมภวาปีเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำลำปาว ผลที่ได้คือคันดินรอบหนองฯ ที่ปิดกั้นน้ำและทำให้เกิดน้ำท่วมที่นาของชาวบ้านนอกคันดิน สถานีสูบน้ำที่ใช้การไม่ได้และไม่มีงบประมาณในการดูแลซ่อมแซมและเปิดใช้งาน สร้างพื้นที่น้ำท่วมมากกว่าพื้นที่ชลประทานที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการเสียอีก โครงการใช้งบประมาณดำเนินการไปเกือบพันล้าน แต่ใช้การได้ไม่คุ้มค่าและเสียค่าใช้จ่ายอีก 900 ล้านเพื่อขุดลอกฟื้นฟูแต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดประสิทธิภาพชลประทานดีขึ้น และกำลังจะของบประมาณอีกนับพันล้านเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมจากความผิดพลาดของโครงการในอดีต อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยได้พยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการโขง ชี มูล แต่ไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ แม้แต่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ปฏิเสธที่จะให้เงินกู้กับรัฐบาลไทยภายใต้โครงการดังกล่าวเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ด้วยเหตุผลของต้นทุนการได้น้ำมาถึงเกษตรกรที่สูงเกินไป ไม่คุ้มค่า ค่าใช้จ่ายจะสูญเสียไปกับการสูบน้ำ ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าก่อสร้าง ค่าบริหารโครงการ และความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ยากจะฟื้นฟูได้

ทั้งที่โครงการโขง ชี มูล มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงความไม่คุ้มค่าและเป็นการทำลายทรัพยากรท้องถิ่นอันอาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ในปี 2559 รัฐบาลพลเอกประยุทธ ก็ได้อนุมัติโครงการผันน้ำโขง ห้วยหลวง หนองหานกุมภวาปี ซึ่งก็คือโครงการเดิมที่ออกแบบไว้ตั้งแต่แรกเมื่อ 30 ปีก่อน โดยหน่วยงานที่เสนอคือ กรมชลประทาน ปัจจุบันโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วโดยไม่ได้นำข้อมูลความเดือดร้อน ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาพิจารณา และที่สำคัญคือ ไม่ฟังเสียงของประชาชนที่เผชิญความสูญเสีย

 

โครงการนี้เดิมทีมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยหลวงปิดกั้นห้วยหลวงกับแม่น้ำโขงไปแล้วก่อนหน้านี้เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว โครงการนี้จะต้องสูบน้ำจากแม่น้ำโขง ณ สถานีสูบน้ำบ้านหนองแดนเมือง ซึ่งห่างจากปากประตูห้วยหลวงประมาณ 5 กิโลเมตร โดยทำการขุดคลองเชื่อมกับแม่น้ำโขงและสูบน้ำเข้ามายังห้วยหลวงที่มีประตูระบายน้ำปิดปากน้ำเอาไว้ และสร้างสถานีสูบน้ำ ฝายทดน้ำ เพื่อสูบทอยน้ำเป็นระยะ ๆ ฝืนแรงโน้มถ่วงของโลก และกระจายน้ำไปยัง 2 ฝั่งของห้วยหลวงเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ หรือหนอง บึง ที่จะแปรสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ แล้วส่งกระจายน้ำไปยังพื้นที่เกษตรทั้ง 2 ฝั่ง น้ำที่สูบขึ้นจะถูกส่งและผันผ่านคลองและท่อที่สร้างขึ้นใหม่ข้ามลุ่มน้ำไปยังหนองหานกุมภวาปี และส่งต่อไปยังลำน้ำปาว เขื่อนลำปาว ลุ่มน้ำชี และอีกเส้นทางหนึ่งจะส่งไปยังลุ่มน้ำพองและเขื่อนอุบลรัตน์ โครงการนี้ใช้เงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท และได้เริ่มดำเนินการแล้ว ในขณะที่ปัจจุบัน ณ ปากประตูน้ำห้วยหลวงที่ถูกปิดกั้นอยู่มีปลามากมายที่ไม่สามารถว่ายเข้ามาวางไข่ในพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามในห้วยหลวงได้ บันไดปลาโจน หรือทางปลาผ่านถูกปิดตาย และน้ำเสียที่ขังเอ่ออยู่หน้าประตูก็สร้างปัญหาให้กับชุมชน นอกจากนี้ การปิด-เปิดประตูน้ำชุมชนท้องถิ่นไม่ได้มีส่วนร่วม แต่ดำเนินการภายใต้การจัดการของกรมชลประทาน   

ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ยังไม่ได้รับการแก้ไข ความสูญเปล่าและไม่คุ้มค่าจากโครงการในอดีตที่ทำไปแล้วยังไม่ได้รับการใส่ใจความเดือดร้อน ระบบนิเวศที่ถูกทำลาย ปัญหาการสูญเสียพันธุ์ปลาและแหล่งทรัพยากรประมงธรรมชาติมีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และการพึ่งพิงตนเองของประชาชน

ในเชิงโครงสร้าง รัฐบาลได้จัดทำพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ได้ปรับปรุงให้การบริหารจัดการน้ำมีความเป็นเอกภาพโดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ร่วมกับหน่วยงานเดิมคือ กรมชลประทาน ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีที่การจัดการน้ำมีระบบ ระเบียบมากขึ้น ทว่า สิ่งที่ขาดหายไปคือ ทรัพยากรน้ำได้ถูกผูกขาดความรับผิดชอบ และน้ำถูกแยกขาดออกจากระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชน น้ำกลายเป็นของรัฐ น้ำเป็นเรื่องหน้าที่ของรัฐในการแก้ไขปัญหาและดูเหมือนจะมีองค์ความรู้เดียวที่ผูกขาดในการจัดการ คือ การใช้ความรู้เชิงวิศวกรรมแหล่งน้ำมาบริหารจัดการเป็นหลัก การพยายามใช้เจ้าพระยาโมเดลมาเป็นต้นแบบ หวังให้อีสานมีสภาพเหมือนทุ่งนาในภาคกลาง ทำนาได้หลายรอบต่อปี สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนอีสาน ทั้งที่ลักษณะภูมิประเทศ วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ฐานทรัพยากรมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างภาคกลางและอีสาน

แนวคิดการพัฒนาน้ำที่่ไม่คำนึงถึงสภาพพื้นที่และระบบนิเวศที่แตกต่างกัน จึงทำให้หน่วยงานรัฐดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันทุกที่ ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการขุดคัน กั้น ลอก และผันน้ำ จนระบบนิเวศอีสานเสียหาย ป่าบุ่งทามของพื้นที่ลุ่มน้ำมูลอีสานตอนกลางกลายสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลและหัวนา รวมพื้นที่กว่า  157,000 ไร่ พื้นที่ชุ่มน้ำอันเป็นแหล่งเพาะฟักขยายพันธุ์ของปลาลุ่มน้ำโขงที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งถูกทำลาย แหล่งต้มเกลือพื้นบ้านกว่า 120 บ่อ และพืชพันธุ์ธรรมชาติในระบบนิเวศท้องถิ่นมากกว่า 150 ชนิด กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ แต่ชุมชนท้องถิ่นต้องสูญเสียระบบอาหารและการพึ่งพิงตนเอง ตัวอย่างของความสูญเปล่าคือ งบประมาณที่ใช้ไปสำหรับการชดเชยผลกระทบเบื้องต้น เฉพาะเขื่อนราษีไศลจากปี 2540-2562 ประมาณ 2,527 ล้านบาท เขื่อนใช้งบประมาณก่อสร้าง 871 ล้านบาท ค่าชดเชยที่ชุมชนได้รับก็มาจากการเรียกร้องและชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นที่รัฐ “มองไม่เห็น” มากกว่านั้นคือ รัฐบอกกับประชาชนว่า “จะได้น้ำมาถึงนา พัฒนาคุณภาพชีวิต” แต่ในทางปฏิบัติคือ ประชาชนต้องมีภาระชำระค่าน้ำด้วย น้ำถึงจะมาถึงไร่นา ทั้งที่การก่อสร้างนี้มาจากภาษีประชาชน ก่อนหน้านี้ น้ำคือทรัพยากรที่ชาวบ้านทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และชุมชนมีกลไกการบริหารจัดการน้ำ

รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการพัฒนาจำนวนมาก ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งกระบวนการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมยังไม่มีประสิทธิภาพ  ได้แก่

โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก ที่ต้องเวนคืนพื้นที่กว่า 700 ไร่บริเวณปากน้ำเลย และสร้างคลองลัดแม่น้ำเลยโดยอ้างว่าจะทำให้มีการระบายน้ำได้ดีขึ้น และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน และเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำเลยประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่กลับใช้เงินในการก่อสร้างกว่า 5,000 ล้านบาท

โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ซึ่งกรมชลประทานพยามที่จะปฏิเสธตลอดมาว่าเป็นโครงการที่ไม่เกี่ยวกับประตูระบายน้ำศรีสองรักเพื่อหลีกเลี่ยงในการทำรายงาน EIA ในโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก ทั้ง ๆ ที่ประตูระบายน้ำฯ จะสร้างห่างจากคลองชักน้ำที่จะสร้างขึ้นใหม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเลยซึ่งต้องขยายและขุดลอกแม่น้ำเลยจากปากแม่น้ำเลยที่สบกับแม่น้ำโขงยาวประมาณ 2 กิโลเมตร และลึกกว่า 10 เมตร กว้างถึง 350 เมตร เพื่อให้น้ำโขงไหลเข้าไปยังคลองชักน้ำที่กว้างถึง 250 เมตร โดยมีประตูน้ำศรีสองรักปิดกั้นเอาไว้ไม่ให้ย้อนเข้าไปในแม่น้ำเลยเดิม โดยผันน้ำผ่านคลองชักน้ำและส่งต่อไปยังอุโมงค์ผันน้ำโขงผ่านภูเขาที่ต้องเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์เส้นผ่านศูนย์กลางของอุโมงค์ประมาณ 10 เมตร และส่งน้ำไปยังแม่น้ำสายใหม่ที่จะสร้างขึ้นไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำสงคราม เสมือนประหนึ่งว่าสร้างแม่น้ำขนาดพอ ๆ กับแม่น้ำโขงขึ้นมาใหม่ในแผ่นดินอีสานและผันไปยังลุ่มน้ำต่าง ๆ ผ่านคลองสายหลัก สายรอง คลองซอย คลองย่อย ระยะทางรวมกันมากกว่า 2,000 กิโลเมตร และใช้เงินก่อสร้างกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

โครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงยังมีหน่วยงานที่มีส่วนในการผลักดันทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าว หรือการดำเนินการที่จะสร้างเอง เช่น เขื่อนสานะคามของ สปป.ลาว ที่อยู่ห่างจากอำเภอเชียงคานเพียง 2 กิโลเมตร อยู่ใกล้กับแม่น้ำเหืองเขตชายแดนไทย-ลาวไม่ถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าไทยจะซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ รวมถึงการปัดฝุ่นเขื่อนปากชม ซึ่งเดิมเป็นโครงการของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงานในสมัยก่อน วัตถุประสงค์เพื่อการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะมีขนาดโครงการที่ใหญ่กว่าเดิม กล่าวคือ เขื่อนปากชมจะมีประตูเขื่อน จำนวน 14 านระตู จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ 50,000 ไร่ และผลิตไฟฟ้าได้ 1600 เมกะวัตต์ โดยการสร้างเขื่อนนี้จะยกระดับน้ำในแม่น้ำโขงให้สูงขึ้นไปจนถึงปากน้ำเลยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผันน้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำเลย ภายใต้อภิมหาโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล มากขึ้น    

ทั้งหมดนี้ คือ “หายนะรอบใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม” ด้วยขนาดเงินลงทุน ผลประโยชน์ ผลกระทบ และความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงอันอาจจะเกิดจากแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนที่ยังมีพลังยังสามารถขยับตัวและสร้างหายนะอย่างใหญ่หลวงได้ จนทำให้เขื่อนใดเขื่อนหนึ่งของจีน หรือลาวแตกและมวลน้ำมหาศาลจะพังเขื่อนที่ลดหลั่นลงมาเหมือนการล้มของโดมิโน่และอาจจะกวาดล้างเอาชีวิตของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำโขงไปนับล้าน ความเสี่ยงและความเสียหายใหม่ บนความเสียหายซ้ำซากและความสูญเปล่าของเดิม เกิดคำถาม คือ “ใครจะต้องรับผิดชอบหากเกิดปัญหาขึ้น”

ดังนั้น เครือข่ายนักวิชาการลุ่มน้ำโขงอีสาน มีความห่วงกังวลต่อโครงการต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่ยังขาดการพิจารณาบนฐานความรู้อย่างแท้จริง จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ดังนี้

  1. ทบทวนบทเรียน ปัญหา ผลกระทบของโครงการ โขง ชี มูล (เดิม) ก่อนจะมีการดำเนินโครงการ โขง เลย ชี มูล และโครงการโครงข่ายน้ำที่เชื่อมต่อจากโครงการดังกล่าว รัฐต้องประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน ความคุ้มค่า ความจำเป็นด้านกระแสไฟฟ้า พลังงานทางเลือก และอื่น ๆ เพื่อทำให้โครงการมีความโปร่งใส และอยู่บนฐานวิชาการและความรู้
  2. ดำเนินการจัดการปัญหาและแก้ไขผลกระทบจากโครงการจัดการน้ำเดิมให้แล้วเสร็จ และสร้างทางเลือกใหม่ในการจัดการน้ำที่ยั่งยืน โดยเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตและให้ภาคประชาชนและภาควิชาการ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและเสนอแนวทางในการดำเนินการ โดยมุ่งเป้าไปที่ “การได้น้ำมา ต้องพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงและความยั่งยืนของระบบนิเวศ”
  3. ยุติโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง รวมทั้งการสนับสนุนทางอ้อมในการทำให้ประเทศเพื่อนบ้านใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อน เช่น การทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในแม่น้ำโขงของประเทศเพื่อนบ้าน
  4. กรณีแม่น้ำสายใดที่ยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อน หรือประตูน้ำ รัฐต้องปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระตามธรรมชาติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งระบบนิเวศ วิถีชีวิตชุมชน และการใช้เป็นสาธารณประโยชน์ร่วมกัน โดยคำนึงถึงการพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศลุ่มน้ำและวิถีชีวิตของประชาชนในการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพตามธรรมชาติของลุ่มน้ำนั้น ๆ ทั้งทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่อาศัยการบริการจากระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่น้ำสงคราม และลุ่มน้ำสงคราม ที่ควรเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ไม่มีเขื่อน
  5. รัฐต้องหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำในส่วนของผู้ใช้น้ำ (Water demand management) ประสิทธิภาพในการใช้น้ำ (Efficiency) และการหมุนเวียนการใช้น้ำ (Reuse and recycle) มากกว่าที่จะมองเรื่องการจัดหาน้ำ (Water supply) เพียงอย่างเดียว
  6. รัฐบาลต้องให้ความเคารพไม่ละเมิดสิทธิการใช้น้ำของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการกำหนดนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำ ต้องเปิดให้มีการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ และดำเนินการ โดยมุ่งเน้นที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนสำคัญในการเป็นเจ้าของและจัดการในระดับลุ่มน้ำขนาดเล็ก ลุ่มน้ำย่อย แหล่งน้ำในชุมชนท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ วิถีชีวิต วิถีการผลิต และเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยไม่แสวงหากำไรจากการบริหารจัดการน้ำ โดยรัฐต้องให้ความสำคัญและทุ่มเทงบประมาณกับทางเลือกการจัดการน้ำ หรือการพัฒนาแหล่งน้ำในโครงการขนาดเล็กที่กระจายอยู่ใกล้ชุมชน เพื่อง่ายแก่การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ของเกษตรกรควบคู่ไปกับการรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำมากกว่าการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่
  7. รัฐต้องมีมาตรการอย่างจริงจังในการคุ้มครอง อนุรักษ์ และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ ให้คงไว้ซึ่งหน้าที่ในการรักษาระบบนิเวศ สมดุลของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการใช้ประโยชน์ของชุมชนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เอาพื้นที่ชุ่มน้ำไปดัดแปลงสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ หรือทำให้กลายสภาพไปจากเดิมโดยไม่ได้ทำหน้าที่ของพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น
  8. ทบทวนแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับน้ำใหม่ ทั้ง พ.ร.บ.ชลประทาน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ให้เอื้อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำ การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการหมุนเวียนการใช้น้ำ การลดภาระการจัดหาน้ำของภาครัฐ การสร้างการพึ่งพาแหล่งน้ำของภาคส่วนต่าง ๆ ที่ควรสนับสนุนให้จัดหาน้ำได้เองบางส่วนหรือทั้งหมด เช่น แหล่งเก็บน้ำของเมือง นิคมอุตสาหกรรม หรือธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ พื้นที่เก็บน้ำของภาคเอกชน ที่ดินเอกชน ที่ควรได้รับการสนับสนุนหรือจ่ายเงินอุดหนุน มากกว่าการเน้นไปที่อำนาจของส่วนราชการในการจัดหาน้ำ หรือจัดการด้านวิศกรรมแหล่งน้ำและมองน้ำแยกขาดจากองค์ประกอบอื่น ๆ ของลุ่มน้ำ รวมถึงการสร้างกลไกที่ไม่ทำให้น้ำเป็นเรื่องการแสวงหากำไร เช่น รายได้จากน้ำ ผ่านระบบการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมการใช้น้ำที่ไม่เป็นธรรม หรือการให้เอกชนสัมปทานน้ำจากแหล่งน้ำของประชาชนไปแสวงหากำไร เป็นต้น และควรกระจายอำนาจการจัดการน้ำจากส่วนกลางมาสู่ลุ่มน้ำย่อย ชุมชนท้องถิ่น และการตัดสินใจบนฐานของระบบนิเวศในแต่ละพื้นถิ่น
  9. ศึกษา ปรับปรุง และฟื้นฟูนิเวศแหล่งน้ำ หรือโครงการจัดการน้ำเดิมที่เสื่อมโทรม ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ และทำหน้าที่ในทางนิเวศวิทยาและสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น เช่น การเลือกใช้เทคโนโลยีประตูระบายน้ำ ประตูปิด-เปิดน้ำ ฝาย เขื่อนทดน้ำ ให้สามารถได้น้ำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมกับศักยภาพ และสร้างองค์ประกอบเพิ่มเติมให้มีช่องทางผ่านของปลา (fish way) ที่จะสามารถอพยพตามฤดูกาลเพื่อขยาพันธุ์หรือวางไข่ได้จากท้ายน้ำไปยังต้นน้ำได้

 

รายชื่อนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อ

1.สันติภาพ  ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

2.ดร.มณีรัตน์ มิตรประสาท

3.ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร อาจารย์ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

4.จิตราภรณ์ สมยานนทนากุล อาจารย์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

5.ไพรินทร์ เสาะสาย มูลนิธิแม่น้ำนานาชาติ