17 กรกฏาคม 2563 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานออกแถลงการณ์ หยุดใช้ พรก.ฉุกเฉิน กีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรน้ำ หลังจากรัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อเนื่องมา 3 ฉบับ ซึ่งขยายเวลาถึง 31 ก.ค.2563 และไม่มีทีท่าจะยกเลิก
ในแถลงการณ์ในกล่าวถึง การที่รัฐประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินนั้นส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกจะถูกจำกัด พร้อมทั้งไม่ได้มีแนวโน้มที่ยกเลิก
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน เผยกับนักข่าวว่า เราในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานได้มีการติดตามประเด็นการสร้างเขื่อนต่างๆบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา และในสถานการณ์นี้เป็นการรีบผลักดันโครงการ ทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมโดยใช้สถานการณ์โควิด19 และใช้อำนาจ พรก.ฉุกเฉิก ซึ่งทำให้ไม่มีความชอบธรรม ในขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ที่มี นายธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานกรรมาธิการฯ ยังคงเดินหน้าพิจารณาผลักดันโครงการจัดการน้ำขาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำคือ โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ซึ่งเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานมองว่าภาครัฐใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉิน มาเป็นข้ออ้าง เพื่อกีดกันการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำในภาคอีสาน
“ในการจัดการน้ำของภาคอีสาน มีนักวิชาการ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม พูดมาหลายปี ที่ต้องจัดการน้ำแบบยั่งยืน และเราไม่เห็นด้วยกับการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ มันไม่มีความคุ้มค่าที่จะทำ เรายืนยันให้ยกเลิกการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน และเราจะยื่นจดหมายถึงประธานกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบต่อไป”นายสุวิทย์กล่าว
“ฉะนั้น พวกเรา เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสังคมสาธารณะ ต่อสถานการณ์ปัญหาการขาดการมีส่าวนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำของภาคประชาชน ดังต่อไปนี้
ประการแรก ขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการใช้อำนาจพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทันที แล้วทำการทบทวนนโยบายและโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานทั้งระบบ เพราะในช่วงที่ผ่านมา การพัฒนาโครงการจัดการน้ำต่าง ๆ ยังดำเนินตามแนวทางการจัดการน้ำแบบเดิมที่มุ่งพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ตามลุ่มน้ำต่าง ๆ แต่บทเรียนที่ผ่านตลอด 6 ทศวรรษในการจัดการน้ำภาคอีสานได้บ่งชี้ว่า การจัดการน้ำควรสอดคล้องกับระบบนิเวศและวัฒนธรรมของพื้นที่ภายใต้บริบทของพื้นที่ที่หลากหลาย
ประการที่สอง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม ต้องทบทวนบทบาท การทำงาน และการศึกษาต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ที่เกี่ยวข้องกับโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล และโครงการจัดการน้ำต่าง ๆ ตามลุ่มน้ำสาขาในภาคอีสานทั้งระบบ โดยต้องกลับมาเริ่มต้นศึกษาและประเมินความคุ้มค่าที่แท้จริงของโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ต่าง ๆ เพราะที่ผ่านมาได้มีการละเลยการศึกษาถึง มิติความคุ้มค่า โครงการฯ แต่กลับมีมุมมองการจัดการน้ำแบบแยกส่วนและการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำระยะสั้นตามสถานการณ์เพียงเท่านั้น
ประการที่สาม ขอให้ กลุ่ม องค์กร ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมต่าง ๆ ตลอดจนพลเมืองกับเสรีชนทุกท่าน มาร่วมกันตรวจสอบ วิพากษ์ วิจารณ์ การผลักดันโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสาน ที่กำลังถูกปัดฝุ่นกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ท่ามกลางการใช้กฎหมายพิเศษจำกัดสิทธิ เสรีภาพประชาชนในการเคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร”แถลงการณ์ระบุ
ทางด้านนายชาญณรงค์ วงษ์ลา ผู้ประสานงานกลุ่มฮักเชียงคาน กล่าวว่่า การใช้อำนาจจากพรก.ฉุกเฉิน มาเอื้อในการผลักดันโครงการ นั้นถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรม และถึงแม้จะทำครบกระบวนการแต่ก็ขาดซึ่งความถูกต้องสมบูรณ์ เพราะไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เปรียบเหมือน กินข้าว สักแต่ว่ากินแต่ไม่อิ่มสักที
ในขณะเดียวกันเครือข่ายนักวิชาการลุ่มน้ำโขงอีสาน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในจดหมายกล่าวถึงการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ ในภาคอีสาน ตลอดทั้ง 30 ปี ได้ก่อให้เกิดผลกระทบมากมายมหาศาล และใช้งบประมาณมหาศาล แต่กับไม่เกิดความคุ้มค่า และยังพังระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนอีสาน พร้อมทั้งแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำที่รัฐบาลกำลังดำเนินการและผลักดัน
อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า ให้ทบทวนปัญหาที่มีอยู่แล้วก่อน เพราะมันเห็นได้ชัดเจน และกระทบกับสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งก่อให้เกิดปัญหากับชุมชนซึ่งไม่คุ้มค่า มีความเสียหายเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว ไปแก้ไขปัญหาเดิมก่อน ถ้าจะทำ และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบ ทางเลือก ที่ยั่งยืนกว่า ไม่ได้ออกแบบเพียงแค่ฝ่ายรัฐ เพราะยังมีคนหาปลา ที่ใช้ประโยชน์จากน้ำขึ้นน้ำลง ไม่ใช่มองแค่การหาน้ำอย่างเดียว
“ไม่อยากให้รัฐมุ่งกับการพัฒนาบนแม่น้ำโขง เพราะน้ำโขงตอนนี้ป่วยและกำลังจะตาย
โขงเลยชีมูลไม่ควรทำ ลงทุนเยอะ ผลกระทบมาก เหมือนสร้างแม่น้ำสายใหม่ ชาวบ้านไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากระทบตัวเองรึเปล่า”อาจารย์สันติภาพกล่าว
อาจารย์สันติภาพ เผยกับนักข่าวอีกว่า เครือข่ายนักวิชาการลุ่มน้ำโขงอีสานพยายามจะทำงานวิจัยเพื่อศึกษาตามพื้นที่ ที่มีโครงการที่สุ่มเสี่ยงเกิดผลกระทบ ทำให้ภาคประชาชนและชาวบ้านเข้มแข็ง รับรู้ข้อมูลถึงการบริหารจัดการน้ำทั้งอีสาน และเราเกาะติดสถานการณ์บนแม่น้ำโขง พร้อมทั้งเราจะทำข้อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป