Back

รายงานสถานการณ์ ก้าวแรกร่วมมือแผนฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย

1 October 2019

2889

รายงานสถานการณ์  ก้าวแรกร่วมมือแผนฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย

จังหวัดเลยร่วมกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจัดเวทีพัฒนาการแผนการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในเขตตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งปิดเหมืองมากว่า 5 ปี และล่าสุดศาลจังหวัดเลยได้มีคำพิพากษาคดีที่ประชาชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม คำพิพากษาเป็นที่สุดให้บริษัทเหมืองแร่จ่ายค่าชดเชยผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และให้ฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษทั้งในเหมืองและพื้นที่ใกล้เคียง ในเวทีดังกล่าวได้มีส่วนราชการในจังหวัดเลย เช่น อุตสาหกรรมจังหวัดเลย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานสาธรณะสุขจังหวัดเลย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน นักวิชาการ นักกฎหมาย สื่อมวลชน และประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6หมู่บ้าน ประมาณ 200 คน เข้าร่วมเวที มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอแนวทางการฟื้นฟูและนำเสนอร่างแผนความคิดแนวทางการฟื้นฟูการปนเปื้อนของประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ

19 กันยายน 2562 ณ ที่ว่าการอำเภอวังสะพุง เวลา 08.30 น. นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เดินทางมาเป็นประธานกล่าวเปิดงานและได้เสนอแนะว่าการจัดทำแผนฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ซึ่งกำลังมีการผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูอยู่นั้น แน่นอนว่าต้องดำเนินการไปตามระเบียบ ถูกต้องตามกฎหมาย หน่วยงานราชการต้องรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่การจัดทำแผนการฟื้นฟูเหมืองต้องมีความรับผิดชอบ มีความโปร่งใสให้ชาวบ้านสามมารถตรวจสอบได้ ต้องคุ้มค่าในการทำเนื่องจากเป็นงบของแผ่นดิน ทั้งนี้ยังกล่าวอีกว่าถ้าหากชาวบ้านอยากมีส่วนร่วมในการทำแผนฟื้นฟูถ้าไม่ขัดกับข้อกฎหมายชาวบ้านก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ รวมทั้งได้ฝากถึงหน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้นำข้อเสนอและการมีส่วนร่วมของชาวบ้านไปพิจารณาให้ปรับไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

          นายสุระพันธ์ รุจิไชยพันธุ์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ได้นำเสนอความเป็นมาของ (ร่าง) “แผนการฟื้นฟูเยี่ยวยาการปนเปื้อนมลพิษต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชนในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ” ซึ่งเป็นแผนของภาคประชาชนว่า เนื่องจากพื้นที่เหมืองแร่ทองคำตามพิพากษาของศาลเป็นพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษโดยเฉพาะโลหะหนัก เนื่องจากสถานที่ตั้งเหมืองแร่ทองคำอยู่บนพื้นที่แหล่งต้นน้ำของชุมชน ทำให้เกิดการกระจายตัวของสารปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น สารหนู แคดเมี่ยม แมงกานิส ที่เกิดจากกระบวนการแต่งแร่ บ่อเก็บกากแร่ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านนาหนองบงไม่ถึง 100 เมตร ส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้านในชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารหนู และจากผลตรวจร่างกายของคนในชุมชนพบสารหนูในร่างกายเกินค่ามาตราฐาน ทั้งนี้ที่ผ่านทางบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ดำเนินการโดยไม่ได้เป็นมิตรกับคนในชุมชนเห็นได้จากมีการทำร้ายร่างกาย มีการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง ทางอาญากับชาวบ้านเรื่อยมากว่า 27 คดี อย่างไรก็ตามชาวบ้านได้ฟ้องคืนเพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูการปนเปื้อนจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งศาลพิพากษาเป็นที่สุดให้ปิดเหมือง เยี่ยวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง และให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับมาตามเดิม

ก่อนหน้าที่จะมีการยื่นฟ้องต่อศาลประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านได้ร่วมกันคิดเรื่องการปิดเหมืองแร่เพื่อฟื้นฟูกอบกู้ธรรมชาติ และสุขภาพที่เสียหายจากเหมืองแร่กลับคืนมา โดยการพูดคุยจัดเวทีเล็ก ๆ ตามหมู่บ้านต่าง ๆ รอบเหมืองหลายครั้ง และปรับปรุงร่างแผนดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยในแผนการฟื้นฟูของประชาชนนั้นไม่ได้มองเพียงแค่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่มองกว้างไปถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านกลับคืนมาอีกด้วย โดยวัตถุประสงค์ของกระบวนการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำนั้นลำดับแรกเลย จะต้องมุ่งเยี่ยวยาผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพอย่างรวดเร็ว กำจัดมลพิษและแหล่งกำหนดมลพิษ ฟื้นฟูป่าไม้ แหล่งน้ำ ภูเขา ฟื้นฟูความหลากลายของพืชพรรณตามธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชุมชนกลับคืนให้ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนให้คืนกลับมาเพราะตลอดเวลาที่มีเหมืองได้สร้างความขัดแย้งในชุมชนอย่างมาก นอกจากนี้หากมีการดำเนินกิจกรรมการฟื้นฟูจะต้องเป็นกิจกรรมที่นำมาสร้างความเข้มแข็งทางเศรฐกิจของชุมชนได้ และที่สุดแล้วที่ป่าไม้ หรือที่ สปก.ที่เคยอนุญาตให้มีการสร้างเหมืองโดยรัฐบาลนั้นจะต้องคืนสิทธินั้นมาให้กับชุมชน เราอยากจะสร้างพื้นที่ที่ฟื้นฟูแล้วเป็นแหล่งเรียนรู้ เผยแพร่ให้เกิดการฟื้นฟูการป่นเปื้อนมลพิษหลังจากการทำเหมือง พร้อมทั้งได้เสนอขั้นบันไดของแผนฟื้นฟูในลำดับแรกว่าควรหยุดการทำเหมือง

“ก่อนอื่นขั้นแรกควรเพิกถอนประทานบัตร สัญญาระหว่างหน่วยงานรัฐกับบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัดและบริษัท ทุ่งคำ จำกัดและหยุดการทำเหมืองที่ทำบนต้นน้ำตามประทานบัตรที่เหลือไว้ก่อน และรัฐควรทำการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา ชาวบ้านเป็นคณะกรรมการและต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการฟื้นฟูที่ชาวบ้านสามารถทำได้ บันไดขันที่สองสำคัญเร่งด่วนคือจะต้องมีการตรวจคัดกรองผู้ป่วย ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองจนกว่าจะไม่พบผู้ที่มีโลหะหนัก ปลอดภัยสุขภาพดี จัดหาแหล่งน้ำใหม่ให้ชุมชน บันไดขั้นที่สาม การมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู โดยชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนในการจัดทำแผนซึ่งทางชาวบ้านพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม บันไดขั้นที่ห้าฟื้นฟูภายในเขตประทานบัตรให้ไม่รั่วไหลและปลอดภัย บันไดขั้นที่หกฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ชุมชนอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสรรคงบประมาณในการฟื้นฟูและที่สำคัญชาวบ้านในพื้นที่ต้องได้รับผลประโยชน์ เช่น เกิดการจ้างงานคนในชุมชนในกระบวนการฟื้นฟู เป็นต้น บันไดขั้นที่เจ็ดฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางสังคมพร้อมทั้งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานานจากเหมืองแร่ บันไดขั้นที่แปดฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์พร้อมทั้งชดเชยการละเมิดต่าง ๆ จากการทำเหมืองแร่ทองคำที่ผ่านมา บันไดขั้นที่เก้าฟื้นฟูสิทธิชุมชนให้กลับคืนมาให้ชุมชนมีสิทธิที่จะจัดการทรัพยากร และขันบันไดขั้นที่สิบสร้างกลไกและติดตามตรวจสอบ จัดตั้งกรรมการ 6 หมู่บ้าน เพื่อตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลและเสนอรายงาน จึงควรมีกรรมการระดับชาวบ้านเข้าไปดูแลด้วย”  นายสุระพันธ์ กล่าว

          บำพ็ญ ไชยรักษ์ นักวิจัยจากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่ากระบวนการพัฒนา แผนการฟื้นฟูเยี่ยวยาการปนเปื้อนมลพิษฯ จากกระบวนการประชุมในหมู่บ้านต่าง ๆ หลายครั้งพบว่าประชาชนรอบเหมืองทองคำมี เป้าหมายสูงสุดในการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษคือ

‘คนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมปลอดภัย มีความหลากหลายของอยู่ของกิน หนี้สินลด หมดความขัดแย้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ ฟื้นฟูชุมชน’

คนปลอดภัยก่อนคนที่มีสารพิษในร่างกายควรได้รับการเยียวยาจนปลอดภัยก่อน จัดการความเสียงแหล่งต้นกำเนิดมลพิษก่อน โดยช่วงที่ผ่านมาชุมชนขาดโอกาสเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ การเก็บหาอาหาร หรือพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติหลังจากทำเหมืองแร่ทองคำ หลังจากมีการทำเหมืองแร่ทองพบว่ามีการปนเปื้อนของสารหนู เพราะมีการทำเหมืองบนพื้นที่ต้นน้ำห้วยเหล็ก ห้วยผูก ห้วยฮวย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเลยที่ร่องห้วยเหล็กเป็นแหล่งกักเก็บแร่ เกิดรอยรั่ว มีการกระจายของมลพิษสู่แหล่งน้ำส่งผลให้ปลาตาย ในระยะแรกชาวบ้านเป็นโรคผิวหนัง น้ำเริ่มอุปโภคไม่ได้ทำให้ต้องซื้อน้ำจากที่อื่นมาอาบ ชาวบ้านเริ่มเสียชีวิต บางคนเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง พื้นที่นามีผลผลิตข้าวน้อยลง และในคำพิพากษาศาลระบุว่าการปนเปื้อนเกิดจากการทำเหมืองแร่ที่ไม่ได้มาตราฐาน ศาลจึงมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านและทำการฟื้นฟูการป่นเปื้อนของมลพิษและสุขภาพของคนในชุมชน

“การปนเปื้อนสารหนูที่ อำเภอร่อนพิบูลย์เกิดขึ้นมานานมากไม่มีการจัดการอะไรเลย การปนเปื้อนตะกั่วจากเหมืองตะกั่วที่คลิตี้เกิดขึ้นกว่า 30 ปีใช้เวลาในศาลกว่าสิบปีจะต้องฟื้นฟูเช่นกันแต่กระบวนการฟื้นฟูการมีส่วนร่วมมีน้อย ที่แม่เมาะศาลพิพากษาว่าต้องชดเชยสุขภาพของประชาชนเช่นกันแต่กินเวลานานกว่า 30 ปีเช่นกันหลายคนตายก่อนและได้ค่าชดเชยนิดเดียว ที่แม่ตาวการปนเปื้อนแคดเมี่ยมในนาข้าวและคนกินข้าวต่อเนื่องยาวนานกับแคดเมี่ยมเข้าไปในร่างกาย ทำให้เกิดภาะไตเสื่อมและพบว่ามีคนป่วยต้องฟอกไต มีการฟ้องคดีเช่นกันและต้องมีการฟื้นฟูเยียวยาเช่นกัน แต่ก็ยังไม่เห็นแผนการดำเนินการที่ชัดเจนและกระบวนการในศาลก็กินเวลายาวนานเกือบ 10 ปี ดังที่เมื่อเคยต้องไม่ซ้ำรอยแบบที่อื่น ๆ ควรผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูตามที่ชาวบ้านทุกคนช่วยกันยื่นยันสิทธิ และต่อสู้อย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มายาวนานจนทำให้แนวคิดเรื่องการฟื้นฟูของประชาชนขึ้นมา”

          ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า

          ในกฎหมายฟื้นฟูสารอันตรายจากสหรัฐอเมริกา นิยามการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน คืน กิจกรรมซึ่งเป็นการฟื้นฟู แก้ไข และบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ อันสืบเนื่องมากจากการรั่วไหลของสารอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของสารอันตรายในพื้นที่รอบเหมืองทั้งในปัจจุบันและที่คาดการณ์ว่าจะเกิดในอนาคต อันจะนำมาสู่ความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ ซึ่งมิอาจยอมรับได้ เพราะฉะนั้นคือการจัดการความเสี่ยง จะเห็นว่าหัวใจสำคัญคือการลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบนิเวศ การนิยามของกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่คำนิยามเรื่อง “การฟื้นฟู” ในแผนของชุมชนที่นำเสนอในวันนี้ชุมชนมีการนิยายที่กว้างกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงสังคม สิทธิชุมชนด้วยและเป็นแผนระยะยาว และการฟื้นฟูเมืองจากนิยามจะไม่ใช่แค่ปรับภูมิทัศน์เหมือง ไม่ใช่แค่การจัดการแหล่งกำเนิดออกไป ไม่ใช่แค่การฟื้นฟูภายนอกโรงงานตามหน้าที่หน่วยงาน ตัวนิยามของการฟื้นฟูมันคือการจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ และสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเพื่อการปกป้องประชาชน โดยเป็นการรับผิดชอบต่อความเสี่ยงที่ไม่จำกัดเวลาไม่จำกัดขอบเขตและรูปแบบ ถ้านำกรอบกฎหมายการฟื้นฟูการปนเปื้อนของอเมริกามาใช้กับที่เหมืองแร่ทองคำเลย วัตถุประสงค์คือฟื้นฟูโดยที่ชาวบ้านได้อาศัยห้วยเหล็กอย่างปลอดภัย ชุมชนปลอดภัยและใช่ระบบนิเวศได้ ซึ่งเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยมีแหล่งก่อให้เกิดมลพิษเกิดจากบ่อเก็บกากแร่มีรอยรั่วและนำดินมาถมแต่ก็ยังมีรอยรั่ว น้ำในห้วยเหล็กพบสารหนู ไซยาไนด์ เกินค่ามาตรฐานเกิดการแพร่กระจายเข้าสู่พื้นที่นาในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงกระจายเข้าสู่ระบบนิเวศที่เป็นห่วงโซ่อาหารของชาวบ้านในพื้นที่ ดังนั้นกิจกรรมฟื้นฟูต้องลดการปนเปื้อนของมลพิษ เทคนิควิธีการที่เคยมีและสามารถทำได้ คือ การอุดการรั่วไหล เช่น ฉีดสารกรองมลพิษเข้าไปแต่ที่นี่พื้นที่การปนเปื้อนกว้างอาจจะทำแบบนี้ยากไม่คุ้ม หรืออาจจะใช้วิธีการการขนย้ายกากแร่ไปถมขุดฝั่งกลบในที่ปลอดภัย ขุดลอกหน้าดินที่ปนเปื้อนไปฝังกลบแล้วเอาดินใหม่มาเปลี่ยน หรืออาจจะใช้วิธีการล้างดินให้สะอาดกรองมลพิษออกไปเช่นที่ดำเนินการที่แม่ตาว ซึ่งมีการล้างดินปนเปื้อนแคดเมี่ยมที่ดำเนินการโดยชาวบ้านเอง เป็นต้น

“การฟื้นฟูการป่นเปื้อนมลพิษในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยชุมชนต้องมีการปลอดภัย ระบบนิเวศกลับคืนมา ที่สำคัญต้องมีการกำหนดค่าเป้าหมายในการฟื้นฟูให้ชัดเจนว่าจะฟื้นฟูอะไร ค่าการปนเปื้อนที่ยอมรับได้ไม่มีความเสี่ยงและเมื่อกำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนแล้วต้องทำให้ได้เพื่อความปลอดภัย” ธนพล กล่าว

          จารุวัฒน์ พวงสุข นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่าการดำเนินการแนวทางการฟื้นฟูเหมืองของ กพร. กำลังเก็บข้อมูลเพื่อนำมาประกอบแผนโดยได้นำ ร่าง แผนการฟื้นฟูการปนเปื้อนที่ดำเนินการกระบวนการมีส่วนร่วมของกรมควบคุมมลพิษที่ดำเนินการก่อนหน้า เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงจากร่างนั้น แล้วจะนำมาเสนอแผนให้ชาวบ้านให้ความคิดเห็น โดยจะต้องเสนอแผนดังกล่าวกับคณะกรรมการควบคุมมลพิษพิจารณาก่อน

          ปาริษา อุทัยบุญ หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสจ. รพ.วังสะพุง กรมควบคุมโรค กรมอนามัย ได้เริ่มติดตามเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่มีความเสี่ยงมาตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมามีการตรวจเลือด ตรวจการปนเปื้อนในพืช และสัตว์ ซึ่งพบว่าในปูและหอยขมมีสารหนูปนเปื้อนสูง ในคนที่สัมผัสและพบมีสารหนูในร่างกายสูง และพบคนที่มีร่องรอยโรคพิษสารหนูระดับต้น 21 คน โดยที่ผ่านมามีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องสำหรับประชากรกลุ่มน้ำ และในปี 2563 นี้กำลังมีแผนการตรวจคัดครองประชาชนที่มีความเสี่ยงในพื้นที่รอบเหมือง และปรับวิธีการตรวจหาช่องทางการแพร่กระจ่ายมลพิษเข้าสู่ร่างกายมีการเพิ่มการตรวจปัสสาวะและฝุ่นที่ตกค้างอยู่ในบ้าน โดยได้มีแนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพของชาวบ้านชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำจากขอบเหมือง 5 กิโลเมตร เป็น 10 กิโลเมตร ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 กิโลเมตร จะมีการเฝ้าระวังทุกคนและตรวจสุขภาพแบบบังคับใจจนกว่าจะไม่พบค่าสารหนูเกินมาตราฐาน และในส่วนของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 10 กิโลเมตรแต่มีที่ดินทำกินในพื้นที่จากขอบเหมือง 5 กิโลเมตร ต้องมีการเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

          ดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เหมืองแร่ทองคำหยุดก็จริง แต่ยังคงเกิดการรั่วไหลของบ่อกักเก็บแร่ ทั้งนี้แผนในการฟื้นฟูมีหลายแผนจากหลายหน่วยงานและแต่ละแผนก็ไม่เหมือนกันทำอย่างไรจึงจะสามารถจะเชื่อมโยงแผนดังกล่าวให้มีเป้าหมายไปทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญหัวใจสำคัญคือประชาชนต้องมีส่วนร่วมและกำหนดเป้าหมายในการฟื้นฟู มีความโปร่งใส ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ นอกจากสิ่งแวดล้อมปลอดภัยแล้วควรมีความยั่งยืนกับคนในชุมชน

          วีรวัฒน์ อบโอ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ในคำพิพากษาศาลที่เป็นที่สิ้นสุดแล้วศาลชี้ว่าการปนเปื้อนมลพิษนั้นเกิดขึ้นมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ไม่มีการป้องกันที่ได้มาตาฐาน ดังนั้นต้องมีการฟื้นฟูโดยต้องให้โจทย์ (ชาวบ้านที่ฟ้องคดี) มีส่วนร่วมในการจัดการร่วมกับจำเลย (บริษัท ทุ่งคำ จำกัด) แต่เนื่องจากบริษัทล้มละลายหน่วยงานที่เกี่ยวของต้องเข้ามาจัดการต่อ และศาลยังมองว่าชาวบ้านมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่อย่างเต็มที่ โดยต้องทำการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมาใกล้เคียงสภาพเดิมให้มากที่สุด

          วิรอน รุจิไชยพันธุ์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 ที่ผ่านมากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้รับแจ้งจากคนในพื้นที่ว่าได้ยินเสียงคนทำกิจกรรมบ้างอย่างจากในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าไปตรวจสอบพื้นที่พบว่ามีคนอยู่ในพื้นที่บริเวณเหมืองแร่ทองคำประมาณ 4-5 คน ทางกลุ่มจึงสอบถามไปว่าเข้ามาทำอะไรในที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งได้รับคำตอบว่าเข้ามาเก็เอกสารต่าง ๆ เพื่อทำการขนย้ายออกในอีก 2 วัน ทั้งนี้ยังพบกองวัตถุใส่สารเคมีที่ไม่ได้มีการจัดการให้ดีเท่าที่ควร ก่อให้เกิดมลพิษที่อยู่ใกล้แหล่งต้นน้ำของชุมชน ทั้งนี้ได้มีการพบถุงใส่สินแร่ถูกนำมาทั้งบริเวณดังกล่าว จึงตั้งข้อสงสัยว่าการเปลี่ยนถ่ายสินแร่หรือไหม ปัจจุบันชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของเหมืองแร่ทองคำ ต้องเป็นผู้พิทักษ์ทรัพย์ ดูแลทรัพย์สินในเหมืองแทนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ โดยได้มีการจัดเวรยามเฝ้าระวังการแอบขนสินแร่ร่วมถึงของต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ ทั้งนี้เราต่อสู้มา 10 ปี เราต้องการให้หยุดเหมืองอย่างถาวร มีการฟื้นฟูทุกอย่างกลับคืนมาตามเดิม

          ทั้งนี้หลังจากเวทีครั้งนี้จะมีการสรุปจัดทำรายงานการประชุมเพื่อหารือกับทางจังหวัดถึงการแสวงหาแนวทางความร่วมมือให้เกิดการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน และประชาชนเพื่อทำแผนฟื้นฟูการปนเปื้อนที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันเพื่อจะเริ่มดำเนินการฟื้นฟูให้เกิดขึ้นจริงเพื่อความปลอดภัยของประชาชนต่อไป

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112