ในโลกของงานพัฒนาที่สังคมรู้จักนั้น อาจจะมีเพียงไม่กี่ลักษณะงานเท่านั้นที่โลกคุ้นเคย รับรู้ เป็นไปตามทิศทางกระแสสื่อกระแสสังคมที่ติดตามสนใจ นอกจากนั้น ก็ดำเนินไปเงียบๆ บางงานสังคมแทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า คือปัญหาและมีคนทำงานอย่างมุ่งมั่น ผมรู้จักเธอตั้งแต่เป็นนักศึกษา จวบจนจบการศึกษาและเริ่มทำงานบนเส้นทางนี้ มากว่า 10 ปี น้องเฟื่อง หรือ ไพลิน ดวงมาลา อดีตน้องชมรมค่ายอาสาฯ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือ เจ้าหน้าที่มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ในปัจจุบัน เธอยังทำงาน ณ จุดเดิมๆ กับภารกิจช่วยเหลือผู้ป่วยและให้ความรู้ด้านสุขภาพกับกลุ่มแรงงานต่างด้าว เฟื่องทำงานบนเส้นทางนี้มายาวนานมาก วันนี้ ทีมงาน ThaiNGOs ได้มีโอกาสกลับมาสัมภาษณ์เธออีกครั้ง ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีประสบการณ์ทำงานมากขึ้น เติบโตทั้งชีวิตและบทบาทหน้าที่ อย่างไร
ThaiNGOs : ตอนนี้ ทำงานกับกลุ่มไหน อย่างไร
ไพลิน ดวงมาลา : ก่อนหน้านี้ก็ทำงานให้ความรู้ส่งเสริมการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติทำอยู่หลายปีเหมือนกัน สนุกดีนะเจอทั้งคนกัมพูชา พม่า มอญ ลาว ทั้งเด็ก ๆ ผู้ใหญ่ จนคนไทยด้วยกันไม่คิดว่าเราเป็นคนไทย ถามว่าเราเป็นคนไทยรึเปล่า 5555 ส่วนตอนนี้เหรอ อืม...ขยับมาทำงานเรื่องลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการทำงานเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ก็เป็นงานที่เกี่ยวข้องกันกับงานที่ทำช่วงแรกนะ คือถ้าจะยุติปัญหาเรื่องเอดส์ ทำแค่การป้องกัน กับการรักษา คงยังไม่พอ เราก็ต้องทำคู่ขนานกันไป ทำกับใครนะเหรอ กับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ใครเกี่ยวบ้างล่ะ โห...เอาเข้าจริง เรื่องเอชไอวี/เอดส์นี่เกี่ยวหมดเลยนะ ตั้งแต่เด็ก แม่ค้า พระ ผู้ใหญ่ กำนัน ยันนายกรัฐมนตรี แต่กลุ่มเป้าหมายที่ทำ และมีนัยยะสำคัญ นี่เลยทำกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการสุขภาพ ทำไมต้องทำกับกลุ่มนี้นะเหรอ คิดดูล่ะกันว่าถ้าเกิดคนทำงานด้านสุขภาพหรือหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพ ซึ่งบทบาทต้องให้การดูแลรักษา ไม่รู้ ไม่มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง กลัว กังวลที่จะให้การรักษา มีทัศนคติด้านลบ เกี่ยวกับเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ถ้าเป็นเองเสียแล้ว คนอื่นก็ไม่ต้องพูดถึงกันล่ะ คนกลุ่มนี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญช่วยชี้แนะนำสังคม เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ รวมถึงการทำงานกับกลุ่มประชากร ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ พนักงานบริการทางเพศ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ผู้ใช้สารเสพติด
ผู้มีเชื้อเอชไอวี ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์ เอากันต้องใส่ถุงยางป้องกันนะ แล้วก็แจกถุงยาง ถ้าเธอเสี่ยงไปตรวจเลือดนะ ถ้าเธอยังเลิกใช้ยาไม่ได้ ก็ใช้เข็มของใครของมันนะ ซึ่งมันก็ใช่ส่วนนึงนะ แต่ชีวิตคนหนึ่งคนมันมีอีกหลายมุมที่ต้องมองให้รอบ แล้วการเป็นกลุ่มประชากรที่สังคมมองว่าเป็นกลุ่มที่เป็นปัญหา ไม่เป็นไปตามกรอบอันดีงามของสังคม ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ถูกเบียดออกไปจากพื้นที่การมีตัวตนในสังคม ไม่ได้รับการยอมรับ ถูกตัดสิน เหมารวม ถูกลดคุณค่า ไม่ให้ความสำคัญ แบ่งเขาแบ่งเรา มันทำให้เกิดการตีตราตัวเอง ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองลดน้อยถอยลง ตัวลีบเล็ก ไม่อยากจะทำอะไร อันนี้สังคมเสียประโยชน์เลย ถ้าคนในสังคมคิดกับตัวเองในด้านลบ นั่นแหละผลกระทบจากการตีตราการเลือกปฏิบัติ
ThaiNGOs : ปัญหาสำคัญที่เรามาสนใจ คืออะไร เรามีแนวทาง อย่างไรในการเยียวยาแก้ไข ปัญหา
ไพลิน ดวงมาลา : ทุกวันนี้ถ้าอยากรู้ข้อมูลเรื่องเอชไอวี/เอดส์ เรื่องการป้องกัน มีเยอะแยะ แค่กระดิกนิ้วคลิ๊ก กูเกิลก็ตอบได้หมด แต่ไอ้ที่ว่ามีเยอะแยะหลายแหล่งข้อมูลก็ต้องมาดูกันอีกว่าเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงรึเปล่า สำคัญข้อมูลต้องทำให้คนเข้าใจ ไม่ใช่ทำให้กลัว อย่างเรื่องการรักษาก็พัฒนาไปไกลต่อไหนถึงไหน ทุกวันนี้มียาต้านไวรัสที่สามารถควบคุมเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ ถ้าป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส หรือที่เรียกกันว่าผู้ป่วยเอดส์ก็เข้ารับการรักษา รักษาหายก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทำงานได้ กินข้าวร่วมกันได้ มีความรักได้ ทำได้เหมือนกับที่คนไม่มีเชื้อเอชไอวีทำ ไม่แตกต่างเลย แค่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย และต้องกินยาต่อเนื่องทุกวัน เหมือนเราต้องกินข้าวทุกวันนะแหละ แค่นั้นเอง แต่เราก็ยังเจอสถานการณ์ว่ามีคนจำนวนนึงรู้สถานะผลเลือดตัวเอง แต่ไม่เดินเข้ามารับการรักษา มาเมื่อป่วยแล้ว ทั้ง ๆ ที่เรารณรงค์ให้คนตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี รู้เร็วรักษาได้เร็ว หรือคนที่เข้ามารับการรักษาแล้ว มากินยาขาด ๆ หายๆ ไม่ต่อเนื่อง ทั้งที่การรรักษาก็ฟรีไม่ว่าจะมีสิทธิการรักษาอะไร สถานประกอบการหลายแห่งยังเลือกปฏิบัติไม่รับคนมีเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน
คำถามที่ต้องหาคำตอบร่วมกันของเรา คือ เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเรา กับสังคมเรา มีความร่วมมือกันกับหลายภาคส่วนทั้งรัฐ หน่วยงานวิชาการ และ NGOs ในการสื่อสารสาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจ กระตุ้นให้เกิดความตระหนักในวงกว้าง พัฒนาหลักสูตร เครื่องไม้ เครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คน ให้สังคม เข้าใจเรื่องการตีตราและเลือกปฏิบัติ และผลกระทบที่เกิดขึ้น การแก้ หรือผลักดันนโยบายให้เอื้อก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ อันไหนยังไม่มี คิดว่าน่าจะมีและเป็นประโยชน์ ก็ชวนกันทำ
อย่างตอนนี้ก็มีความพยายามทำกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องเอชไอวี/เอดส์นะ แต่รวมถึงเลือกปฏิบัติจากเหตุอื่น ๆ ด้วย หรือความพยามยามแก้กฎหมายยาเสพติด ให้คนไม่ถูกทำให้เป็นอาชญากรจากตัวกฎหมาย รวมถึงการสร้างกลไกการป้องกัน ให้ความช่วยเหลือ เยียวยา คุ้มครองจากการถูกละเมิดสิทธิ์ด้านเอดส์ และการเป็นกลุ่มประชากร ก็ต้องทำงานกันยาวไป กับทั้งระดับบุคคล องค์กร แล้วก็นโยบาย
ThaiNGOs : หลังจากทำมาระยะหนึ่ง มีความสำเร็จออกมาบ้างไหม ยังไง แล้วแผนต่อจากนั้น จะทำอย่างไรต่อ
ไพลิน ดวงมาลา : มีการตื่นตัวเรื่องการทำงานเรื่องนี้ในหลายหน่วยงานนะ แม้แต่ในกลุ่มคนทำงาน NGOs ก็คิดกันว่าจะทำควบคู่ไปกับงานป้องกัน รักษาได้ยังไง ที่ต้องคิดต่อไปอีก ทำยังไงที่จะไม่เป็นแค่เทรนด์ เป็นแค่กระแส สว่างวาบแล้วก็ดับไป งานเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง ต้องสร้างความเป็นเจ้าของร่วม ความรับผิดชอบร่วม ให้เห็นประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทัง้รัฐ ชุมชน และกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบ จริง ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากเลย ถ้าเราเข้าใจจะรู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเรา นี่ก็ถามตัวเองเหมือนกันนะ เอ...แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างว่ะ
ThaiNGOs : กี่ปีมาแล้วที่ทำงานเอ็นจีโอ คิดว่า อาชีพนี้ ตอบสนองความพึงพอใจให้ชีวิตมากน้อยแค่ไหน
ไพลิน ดวงมาลา : ก็เกือบ 10 กว่าปีแล้วนะ ก็เป็นงานที่ถูกใจนะ รายได้ก็มีพอเลี้ยงดูตัวเองได้ ได้รับ ได้ให้ ได้เจอคนหลากหลาย ได้เดินทาง ได้คิด ได้ลงมือทำ ได้ใช้ความสามารถของตัวเอง ต้องเรียนรู้อยู่เรื่อย ๆ ไม่ต้องคิดเรื่องกำไร ขาดทุน ยังได้ทำเพื่อคนอื่น แล้วไอ้การที่เราทำเพื่อคนอื่นเนี่ยะ มันก็ทำให้ตัวเราได้รับด้วย โห คุ้มนะเนี่ยะ..มีแต่ได้กับได้ 555
ThaiNGOs : คิดว่าจะทำอีกนานแค่ไหน และถ้าไม่นาน คิดว่าจะไปทำอะไรต่อ...
ไพลิน ดวงมาลา : ไม่รู้ เคยคิดแล้วคิดไม่ออก เวียนหัวเลยไม่คิด ถ้างานที่มีให้ทำอยู่น่าสนใจ สนุก ก็คงทำ หรือหาที่อื่นทำ ถ้าที่ทำงานเลิกจ้าง...555 แต่ถ้าไม่ทำ NGOs จะไปทำอะไรนะเหรอ ที่เคยคิดไว้ก็ งานอะไรก็ได้ที่มีวันหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน เป็นคนสวนก็น่าสนใจ เด็กปั้มน้ำมันก็เข้าท่า พนักงานล้างห้องน้ำก็โอนะ ไปประชุมโรงแรมบ่อยเห็นแล้วอยากลองทำบ้าง
อัฎธิชัย ศิริเทศ
ทีมงานไทยเอ็นจีโอ รายงาน