คนหนุ่มสาวที่เคยฟุ้งไปด้วยไฟฝันการแสวงหาในยุคหนึ่ง น้อยคนนักที่ไม่รู้จัก “โครงการครูอาสา” ของ มูลนิธิกระจกเงา เชียงรายและแน่นอนรู้จักโครงการก็ต้องรู้จัก ครูแอน หรือ นางสาวอรกัญญา สุขรัตน์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รุ่นที่ 2 ที่สืบทอดงานครูดอยครูอาสามายาวนานตราบจนปีนี้ ที่ครูแอนผันบทบาทจากครูอาสา มาสู่ผู้ผลักดันโรงเรียนและสร้างแผนงานครูจริงๆ กับโครงการใหม่ในโลกการศึกษาทางเลือก “ศูนย์การเรียนรู้ไร่ส้มวิทยา” ซึ่งอยู่ที่ ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ไร่ส้มวิทยาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กต่างด้าวที่มาเกิดหรือที่ติดตามพ่อแม่มาเป็นแรงงานในไร่ส้ม เป็นโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเด็กด้อยโอกาสตามแนวตะเข็บชายแดน จริงๆ อีกโรงเรียนหนึ่ง ทีมงาน ไทยเอ็นจีโอ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ หญิงสาวนักพัฒนาอีกคนหนึ่ง
thaingo : อะไรทำให้หันมาสนใจ กิจกรรมศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
ครูแอน : สิ่งที่ทำให้สนใจประเด็นการทำงานของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา คือความไม่รู้ที่ทำให้เกิดการท้าทายในใจตัวเอง เริ่มจากการทำหลักสูตรและยื่นจดศูนย์การเรียน เราเริ่มกันจากศูนย์ คือ จากที่ไม่มีองค์ความรู้ด้านการทำหลักสูตรหรือแม้แต่การทำอะไรที่ข้องเกี่ยวกับการยื่นจดหลักสูตรการเรียน ยอมรับเลยว่าไม่มีประสบการณ์หรือความรู้ด้านนี้เลย แต่สิ่งหนึ่งคือใจที่ไม่ยอมแพ้แม้ว่าเราจะด้อยประสบการณ์ และการได้ทำอะไรใหม่ ๆ นั้นหมายถึงโจทย์ที่ท้าทายเรา ที่เราต้องทลายและทำมันให้สำเร็จ แม้ว่าระหว่างทางจะต้องพบเจออะไรมากหมาย แต่ถ้าธงเราคือความสำเร็จ มันก็จะเป็นแรงขับให้เราบรรลุเป้าหมายได้แบบไม่ยาก
และสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากความไม่รู้ คือเราต้องรู้ กว่าจะถึงวันที่ยื่นหลักสูตรผ่าน จดศูนย์การเรียนผ่าน ทำให้เราต้องฝึกตนเองในการค้นหาข้อมูลที่เรายังไม่รู้ ศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ได้รู้ ซึ่งเป็นผลดีมากเลยทีเดียว
Thaingo : จากโครงการครูบ้านนอกหรือครูอาสาได้แนวคิดอะไรมาปรับใช้กับกิจกรรมในโรงเรียน หรือกับชีวิตบ้าง
ครูแอน : จากกิจกรรมโครงการครูบ้านนอกหรือครูอาสานะหรอ ได้นะ ได้แนวคิดมาปรับใช้กับกิจกรรมในโรงเรียน คือจิตวิทยาเด็ก การทำงานกับเด็กที่เป็นกลุ่มเด็กข้ามชาติ กลุ่มลูกหลานแรงงานในสวนส้ม ซึ่งถ้าเรามองข้ามความเป็นรัฐชาติ มองว่าเขาเหล่านั้นคือเด็ก เขาเหล่านั้นต้องการครูต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพ เราจะทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไม่มีอะไรปิดกั้น หลาย ๆ คนมีคำถามว่าทำไมไม่ช่วยเหลือคนไทยไม่ช่วยเด็กไทย ไปช่วยทำไมคนต่างด้าว บางครั้งคำถามเหล่านี้คนถามอาจจะไม่ต้องการคำตอบ แต่เราในฐานะคนทำงานอยากให้คนเหล่านั้นเปิดใจและเอาใจมาใส่ในงานที่เราทำ เขาถึงจะได้พบคำตอบว่าเพราะอะไร เพราะเด็กก็เท่ากับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กชนชาติใด ภาษาใดก็ตามบนโลกใบนี้ อีกอย่างที่ได้นำความรู้มาปรับใช้คือการเข้าถึงชุมชน และการทำให้คนในชุมชนให้ใจเรา ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการทำงานอีกประการหนึ่ง ถ้าคนในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือเราก็ไม่สามารถทำงานกับเด็ก ๆ ได้เช่นกัน เพราะไม่มีใครปล่อยให้ลูกหลานตนเองมาคลุกคลีกับคนแปลกหน้าที่พ่อแม่ไม่ไว้ใจหรอก
ส่วนการนำมาปรับใช้กับชีวิตหรือครอบครัว คือการสอนลูกเราไม่ให้ดูถูกคนที่ต่ำต้อยกว่า เราใช้วิธีการพาเขาไปเรียนรู้งานที่เราทำเพื่อให้เนื้องานหล่อหลอมให้เขาเข้าใจบริบทงานของแม่และเข้าใจสภาพชุมชนที่มีความหลากหลาย ความแตกต่างของคนในแต่ละพื้นที่ กว่าจะโตเขาจะต้องพบเจอสังคมอีกหลากหลายรูปแบบ ถ้าเขาเข้าใจความเป็นคนเขาจะไม่ดูถูกใครแน่นอน
thaingo : โรงเรียนเป็นโรงเรียนทางเลือก อยากรู้ว่า ทางเลือกนั้น เป็นอย่างไร เด็กๆจะได้อะไรหลังจากจบออกไป
ครูแอน : ปัจจุบันมีเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติ ที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นแรงงานในไร่ส้มจำนวนมาก เด็กโตหลายคนไม่สามารถเข้าเรียนได้ตามเงื่อนไขอายุและเวลาเรียนที่ทางโรงเรียนรัฐทั่วไปกำหนดเนื่องเพราะบางช่วงเวลาเด็กโตต้องเป็นแรงงานเสริมช่วยครอบครัวในการทำงานในไร่ส้ม ในขณะที่เด็กวัยเรียนอีกหลายคนต้องทำหน้าที่ดูแลน้องแทนพ่อแม่ที่ต้องไปทำงานในไร่ ดังนั้นในพื้นที่สวนส้มส่วนใหญ่จึงมีกลุ่มเด็กที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติ กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ที่ไม่มีสัญชาติไทย รวมถึงกลุ่มเด็กพิเศษที่ยังไม่ได้รับการศึกษาและไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาของรัฐได้ ด้วยระบบการศึกษาของรัฐในปัจจุบันมีหลักเกณฑ์และข้อจำกัดที่ไม่เอื้อต่อเด็กกลุ่มเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกณฑ์อายุ กรอบเวลา และวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ของเด็กและครอบครัว ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ เสี่ยงกับพิษภัยของสารเคมีที่เจ้าของไร่ให้ใช้เพื่อการดูแลสวนส้มเนื่องเพราะไม่สามารถอ่านข้อแนะนำหรือฉลากที่มีอยู่ตามตัวยาต่าง ๆ ที่ครอบครัวต้องคลุกคลีอยู่เป็นประจำ แน่นอนว่าความไม่รู้หนังสือจะทำให้เด็กและครอบครัวอยู่บนความไม่ปลอดภัย ขาดโอกาส และสร้างวัฎจักรของความยากจนแร้นแค้น ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ และการละเมิดสิทธิไม่มีที่สิ้นสุด
มูลนิธิกระจกเงา ตระหนักว่า “เด็กทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ ชาติพันธุ์ใด ควรได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ” ดังเจตนารมณ์ของปฏิญญาสากล และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก “เด็กทุกคน ควรจะต้องได้รับการคุ้มครองและการพัฒนา” จึงมีแนวคิดในการดำเนินการจดทะเบียนการจัดการศึกษาขั้นฐาน ภายใต้กฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555 และเมื่อวันที่ 23 เดือนมีนาคม พ.ศ.2561 โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 พิจารณาอนุมัติเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2553 และกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสิทธิองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ.2555 ในนาม “ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงา” โดยคาดหวังว่า
▪ เด็กจะได้รับการดูแลและพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
▪ เด็กจะได้มีประสบการณ์ที่หลากหลายจากการเรียน การเล่น การเรียนรู้ มีแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ตามวัยของเด็ก
▪ เด็กจะได้รับการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและทักษะชีวิต เพื่อให้สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในประเทศได้อย่างมีความสุข โดยสามารถดำรงอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้
▪ เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นคนดี รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ปฏิบัติและดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องตามหลักความเชื่อของศาสนาที่ตนนับถือ พร้อมทั้งเรียนรู้และเคารพความเชื่ออื่นที่แตกต่าง
▪ ผู้ปกครองจะมีทางเลือกในการดูแลเด็ก หรือสนับสนุนให้เด็กได้รับการศึกษา จะมีสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
ส่วนวัตถุประสงค์ของโรงเรียนเราก็มี หนึ่ง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ให้สามารถจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กได้อย่างเหมาะสม/สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้เรียน ครอบครัว และชุมชน ผ่านการบูรณาการทักษะความรู้เชิงวิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และทักษะทางสังคม อย่างมีประสิทธิภาพ สอง ) เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชน รวมถึงหน่วยงานในระดับท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมต่อการจัดการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ในทุกกลุ่ม และ สาม ) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้คนในสังคมได้ตระหนักและเป็นส่วนหนึ่งของการเกื้อหนุนและแบ่งปันโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ชายขอบ
Thaingo : ทิศทางอนาคต คิดเห็น ว่าโรงเรียนไร่ส้มวิทยาจะเป็นอย่างไร
ครูแอน : ทิศทางในอนาคต ตามเป้าของเราเองที่วาดฝันกันไว้ คือ การพัฒนาตนเองของเด็ก คือเด็กสามารถพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพชีวิตได้ เรามีหลักสูตรที่เป็นต้นแบบการศึกษาทางเลือก เราฝันว่าเด็กๆ ต้องเติบโตอย่างสวยงามในอนาคต ค่ะ
Thaingo : งานแบบนี้ดูเหนื่อยนะ ถามจริงๆ เคยอยากหยุดพักบ้างไหม ทำไม ?
ครูแอน : ถามว่าอยากหยุดพักบ้างไหม ตอบว่าไม่มีเลยก็คงไม่ใช่ ก็มีบ้างที่อยากไปแสวงหาที่ใหม่ ๆ เพื่อเปิดประสบการณ์ให้ตนเอง แต่ไม่ใช่การลาออกนะ แต่เป็นการไปเติมพลังเพื่อแสวงหาความรู้ในประเด็นที่น่าสนใจในด้านต่าง ๆ จากที่ใหม่ ๆ หรือแหล่งความรู้ใหม่ ๆ เพื่อเป็นการเติมไฟเติมพลังให้เราเอง คนเราทำงานนาน ๆ ไฟในงานเริ่มมอด เราก็ต้องหาพลังมาเติมไฟในตัวเพื่อเก็บพลังเหล่านั้นมาปล่อยในงานที่เราทำ ถามว่าอยากหยุดไหม ตอนนี้ยังค่ะ กำลังสนุกเพราะงานที่เราทำบนพื้นฐานที่เราไม่ถนัดมันท้าทายดีค่ะ อะไรที่เข้ามาท้าทายและเราเอาชนะมันได้ถือว่าสุขสุดแล้ว แต่อนาคตไม่แน่นะอาจจะไปนั่งคุยกับต้นไม้เป็นเกษตรกร หรือทำธุรกิจเล็ก ๆ ก็อาจเป็นได้แต่ไม่ใช่เวลานี้เพราะไฟยังมีเหลือล้นกับงานด้านนี้ค่ะ
......................
ปัจจุบันครูแอน หรือ นางสาวสุขรัตน์ อรกัญญา เป็นเจ้าหน้าที่ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มูลนิธิกระจกเงา และครูอาสาส่วนงานธุรการ ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
.
อัฏธิชัย ศิริเทศ รายงาน