ปัจเจกชน หรือที่ฝรั่ง เรียกว่า Individual แปลว่า บุคคล ตัวคน สี่งที่ผมจะเขียนนี้ อาจจะไม่ค่อยสันทัด หรือ กระจ่างนัก แต่ ก็อยากชวนพวกเราขบคิด ว่า ณ วันนี้ ประเทศนี้ หรือสังคมไทย กำลังมีพัฒนาการ ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจอย่างไร
เมื่อวานเจอข่าว นสพ.ฉบับหนึ่ง โพสต์ท่าที ผบ.ทบ. ฮึ่ม!! น่าจะ “ขู่” นโยบายพรรคคนรุ่นใหม่ ที่ประกาศทั้ง แก้ไข 112 และ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ซึ่งประเทศนี้ มีเรื่อง 2 เรื่อง ที่ “ต้องห้าม” มาตลอด และ เกิดผลร้าย มีอันเป็นไป ทุกครั้งที่ใครก็ตามแตะต้อง 2 เรื่องนี้ คือ เรื่องสถาบันกษัตริย์ กับ สถาบันทหาร เพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่กำลังกลายเป็นความล้าหลัง ถ่วงพัฒนาการทางสังคม การเมือง ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว และ สังคมกำลังต้องการอะไร รวมถึง การพัฒนา บทบาทของ รัฐ ต้องปรับปรุงตนเองให้ทันสมัยอย่างไร ทหาร มักสำคัญตน มาตลอด จึงเป็นปฏิปักษ์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลง และผูกขาดคำว่า ชาติ เป็นสมบัติส่วนตัว
แนวคิด Individual หรือ ปัจเจกชนนิยม ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเกิดจากขึ้นในตะวันตก ข้อดีของการศึกษาโลกของฝรั่งคือ เขากล้าหาญมากที่จะคิด เขียนและเปลี่ยนแปลงไปสู่ อารยธรรมใหม่ๆ แนวคิดปัจเจกชน เกิดก่อนยุครู้แจ้ง กำเนิด ราวศตวรรษที่ 17 ( 1650-1700 ) ยุคที่เกิดนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ เกิดการต่อสู้ภายในระหว่างโลกเก่าที่ครอบงำโดยคริสตจักร เป็นผู้วางรากฐษนอธิบายโลก เกิดการเรียกร้อง ประชาธิปไตย ฝรั่งก็เคยอยู่ภายใต้ระบอบกษัตริย์ การกดขี่มาก่อน ครับ และเกิดแนวคิดใหม่ๆ หลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้น คือว่า ปัจเจกชน
การลุกขึ้นมาถกเถียง เรื่อง ปัจเจกชน หรือ ความมีอิสระในตัวตน ก็เพื่อปลดปล่อยตัวเองออกจากการถูกครอบงำ ความงมงาย ความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่สมเหตุสมผล และแนวคิด เรื่อง ปัจเจกชน นี้เอง คือรากฐานไปสู่ยุครู้แจ้ง หรือ ยุคแสงสว่างทางปัญญา ( Enlightenment ) ราวศตวรรษที่ 18 ยุคที่คนออกมาค้นหา ตั้งคำถาม กับโลก กับสังคม ศาสนา วิทยาศาสตร์ ฯลฯ หาคำตอบ สร้างคำอธิบาย จนเกิดแนวคิด ทฤษฎีใหม่ๆ มากมาย กระจายไปทั่วโลก ตราบปัจจุบันนี้ เพราะเขากล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง
ผมชอบคำอธิบายของเอมมานูเอล คานส์ นักปรัชญาชาวปรัสเซีย ที่อธิบายคำว่า ปัจเจกชนนิยมว่า “กล้าที่จะรู้จักและคิดเพื่อตัวเอง” ทำไม วันนี้ผมเขียนถึงเรื่องนี้ เพราะ คนไทย แม้ ณ ปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่กล้าคิดเรื่องตัวเอง ออกมาดังๆ ไม่กล้าเลือกเพื่อตัวเอง อยากเลือก ก้าวไกล แต่กลัว กลัวโน่น กลัวนี่ ที่สำคัญ กลัวการเปลี่ยนแปลง !!!
ประชาธิปไตย เกิดจาก ปัจเจกชนต้องการแสดงเจตจำนง ทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง ใครก็ได้ที่เขาเชื่อว่า เป็นคนดีมีความรู้มีความสามารถมีความกล้าหาญที่จะลงมือแก้ไขปัญหา ให้พวกเขา เจตจำนง นี้จึงศักดิ์สิทธิ์ และเจตจำนงนี้เอง ที่ก่อรูปกฎหมายอันสำคัญ ชื่อ รัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ในโลกประชาธิปไตย จึงมีคำหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ “ผมอาจจะไม่เห็นด้วยในสิ่งที่คุณพูด แต่ผมก็พร้อมจะพลีชีพเพื่อปกป้องเสรีภาพของคุณ” หมายถึงปกป้องเสรีภาพในการพูดของคุณ
ประชาธิปไตย ในโลกของตะวันตก จึงเข้มแข็งมาก เพราะรากฐานลึกๆ จริงๆ มาจาก ปัจเจกชน ของเขาเข้มแข็ง และ ไม่ยอมให้อะไร หรือ ใครมาละเมิด เจตจำนง ( will ) และเจตจำนง นี้ ต้องมีเสรีภาพ หรือ มีความอิสระ ( free will ) ปราศจากการถูกครอบงำ
ประเทศนี้ เปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเกือบ 90 ปีแล้ว แต่ก็ยังวนเวียน ถอยหลัง ลงคลองเพราะหลายๆ ปัจจัยไม่ยอมขยับสู่พัฒนาการใหม่ ยังจมปลักดักดาน กับความเชื่อเดิมๆ ยังคุ้นเคยกับการแสดงท่าที ก้าวร้าวใส่ฝ่ายการเมือง ซึ่งวันหน้าก็จะก้าวมาเป็นรัฐบาล การแสดงกริยาท่าทีแบบนี้ ก็เท่ากับประเทศนี้ ยังไปไม่พ้น “การปฏิวัติ รัฐประหาร” จากน้ำมือ ทหาร บางคนรำเพยออกมาแล้ว ว่า ถ้าก้าวไกล ชนะ ได้ตั้งรัฐบาล อาจจะมี “รัฐประหาร” อีกแน่ และเมื่อวาน ผบ.ทบ. ก็ออกมา ฮึ่มๆ
เวรกรรม เวรกรรม พรุ่งนี้ก็เลือกตั้งแล้ว ประชาชนต้อง กล้าที่จะแสดง “เจตจำนง” เพื่อให้ได้นักการเมืองที่ดี ได้รัฐบาลที่มีความรู้ ความสามารถ ถ้าประชาชนคนไทย รักและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคนไทยจะต้องไม่ให้สิ่งใด มาข่มขวัญ บั่นทอน ความกล้าหาญ ที่จะแสดง “เจตจำนง” ทางการเมือง นะครับ
โดย เกษตรกรขบถ ไร่ทวนลม