นาร้าง...
Back
.
เมื่อวาน ผมนึกสนุก หยิบเบ็ด กับเหยื่อที่เหลือๆ จากวันก่อน ราวๆ 10 หรือ 20 คัน ออกไปปัก การออกไปวางเบ็ดต้องมอง วิเคราะห์ ว่าที่ไหน น่าจะเหมาะ น่าจะมีน้ำมีปลา ผมมองไปด้านทิศใต้ ทางไปไร่อิ่มเอม เพราะมีแผนจะเข้าไปเก็บลูกสมอ มากินกับปลาจ่อม พอไปก็พบว่าทุ่งนาที่เป็นหมุดหมาย ไม่มีน้ำ แถมรกเรื้อ และ ไม่แน่ใจว่า เจ้าของนาจะให้ใส่หรือเปล่า อันหลังนี้ผมกลัวมาก โดนเขาด่า โวยวายมา จะรู้สึกเสียหน้า อับอาย
เดี๋ยวนรี้ ชนบท ไม่ได้ โรมันติกสวยงาม เหมือนแต่ก่อนนะครับ แค่จะไปหาปลา วางเบ็ดที่ไหนก็ต้องดูดีๆ สอบถามกันประวัติกัน ไอ้คนโน้นเป็นไง คนนี้เป็นไง ถ้าคนหาปลาทุกวันเหมือน พรานแป๊ด พรานเล ก็จะมีข้อมูลประวัติความหวงที่ หวงปลา หวงนา แต่ละแปลง เพราะ ชาวนาเดี๋ยวนี้ ไม่ได้มีวัฒนธรรมเกื้อกูลอยู่ร่วม กะใครแล้ว หวงแม้กระทั่งปลาในนา หรืออ้างว่า กลัวทำต้นข้าวเสียหาย เป็นชาวนาที่นับวันยิ่ง จิตใจคับแคบ กว่าสมัยแต่ก่อนมาก
ยืนผิดหวัง ลังเลสักพัก เลยจึงตัดสินใจ กลับมาตายรัง เลาะใส่ริมห้วยแถวโรงบ่มไวน์ เจอน้ำในห้วยแห้งเหลือครึ่งตลิ่ง เหมือนฤดูแล้ง เดือนเมษายน เลยสอบถามชาวบ้าน ได้มีความนาริมห้วยแปลงหนึ่ง ถูกน้ำเอ่อ กัดเซาะคันนาใหญ่ขาด เวลาพายุเข้า น้ำมามากๆ น้ำจะไหลแรง ชีวิตชาวนาจึงต้องมีลูกๆ หลานๆ ญาติๆ หรือเพื่อนบ้าน หรือมีความถ้อยทีถ้อยอาศัย แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน น้ำใช้ร่วมกันทั้งทุ่ง ผันนำเข้า ไล่น้ำออก ไหลผ่านนาหนึ่ง ไปอีกนาหนึ่ง การหว่านดำจึงทำพร้อมๆกัน ยามเก็บเกี่ยวก็เช่นกัน เพราะจะได้อาศัยผ่านทาง
เดี๋ยวนี้ พอความสัมพันธ์มันหายไป ต่างคนต่างมีรั้ว มีกำแพง มีแดน คันคู และค่อยๆ หายไม่คุยไม่พูดไม่จา บางคนก็แปลงที่นาไปปลูกยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง บ้างขายให้คนนอกมาอยู่ มาเช่า บ้างถมที่ บ้างขุดปั้นทำรีสอร์ต ทำโคกหนองนา ทำอินทรีย์ ก็ยิ่งไปคนละทิศละทาง
ผมเดินลงไปได้ 4-5 ก้าว รู้สึกหมดอารมณ์ ฝนตกทุกวัน น้ำแทบท่วมฟ้า แต่ทั้งทุ่งไม่มีน้ำ !! แห้งและรก แถมนาไม่สวย คันนาไม่สวย เป็นนาคนแก่ ที่ลูกๆ หลานๆ ไม่เอาแล้ว ไม่มีใครอยากทำ หลายปีก่อน เคยมาทำอยู่พักหนึ่ง เป็นแนวสมาร์ทฟาร์ม ปลูกผัก เลี้ยงเป็ดไก่ หมู ฯลฯ ตอนนั้น ผมขับรถผ่านทุกวัน ก็แอบปลื้ม ชื่นชม ว่ามีคนคล้ายๆกันเพิ่ม แต่ไม่นาน ใจร้อน ก็ลงเงิน จ่ายๆ แต่กลับมาเป็นรายได้ คืนกลับน้อย เหมือนผม นั่นแหละ แต่ผมหาเงิน ทำงานทางอื่นมาใช้จ่ายจึงยืนระยะได้นาน เดินได้แค่นั้นก็หันกลับ มาใส่เล่นริมห้วยสวนตัวเอง
การทำนาไม่ใช่ต้องรู้เรื่องข้าว เรื่องฝนฟ้า ราคา ปุ๋ย การวิ่งเต้นขอค่าชดเชย เท่านั้น แต่ต้องรู้เรื่องการจัดการน้ำ ปิดน้ำ เก็บน้ำ ปล่อยน้ำ ปันน้ำ ให้นาอื่นๆ ต้องพึ่งพากัน หุบห้วยก็ถูกราชการมาขุด มาลอก ปั้นคันคู สูงจนกลายเป็นแค่คลองส่งน้ำ ไม่หลากไม่ไหลตามระบบเดิมธรรมชาติ นาที่เคยทุ่งอุดมสมบูรณ์ก็หายไป พอแห้งหญ้าก็ขึ้น สุดท้ายก็ต้องฉีดต้องใช้ยา ใช้มากๆ ก็ไม่อยากจะเหยีบบจะย่ำนาตัวเอง ไม่ให้ลูกหลานไปเล่นไปดู สุดท้ายก็ไม่ผูกพันกับใคร พอมาวันนี้ ลำพังแค่คันนาขาด น้ำไหลออกจนเหือด ก็ไม่มีปัญญาจะปิด จะซ่อมเพราะการปั้นคันนาหน้านี้ลำบาก ไม่มีที่ขุด ไม่มีแรงานมาช่วย มองนาทีไรก็เห็นลึกเข้าไปในบริบทสังคมชุมชนชนบท บ้านเรา.. คนแก่บ้านเราเดี๋ยวนี้ ก็แก่เปล่าๆ ไม่มีมิติการอบรม สั่งสอน ลูกหลาน ปล่อยให้โตกับโรงเรียน ก็หลุดลอยหาย สำนึกเดิมไม่ได้ สำนึกใหม่ไม่เกิด เติบโตมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ตัดขาด โลกแคบและเห็นแก่ตัว
ฟ้ามืดครึ้ม แผ่คลุม ฝนฟ้าคะนอง อีกไม่กี่นาทีก็คงโปรยปราย เป็นแบบนี้ ทุกวัน ผมขับรถมอไซต์คันเก่าๆ ที่ผุขาด จึงดังลั่นสะเทือนทุ่ง แต่ก็ดีมันกลบเสียงอื้ออึงในใจได้... ฟ้าเบื้องบนมืดมน แผ่นดินเบื้องล่างก็ไม่ต่าง ราคายางไม่ดี ราคาข้าวก็คงซ้ำๆ คนทำนา คนที่ยังรักวิถีชาวนา เดี๋ยวนี้เหลือน้อยเต็มที เพราะชีวิตคนชนบทไม่ได้สวยงามโรมันติก เหมือนในเพลงลูกทุ่ง อีกแล้ว!!
เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า
วิลาศินี ศรีวงษา : ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797
ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016
อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849
Email : webmaster@thaingo.org
Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00
2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310
+662 314 4112