สำหรับท่านที่โอนเงินตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 เป็นต้นไปทางทีมงานจะส่งใบเสร็จหลังสงกรานต์

For those who transfer money from April 9, 2025, onward, the team will send the receipt after the Songkran festival.

Back

““คังคุไบ” ในมิติสิทธิมนุษยชน  และมุมมองจากศาลอินเดีย ที่รับรองการค้าประเวณีเป็นอาชีพถูกกฎหมาย

““คังคุไบ” ในมิติสิทธิมนุษยชน  และมุมมองจากศาลอินเดีย  ที่รับรองการค้าประเวณีเป็นอาชีพถูกกฎหมาย

27 July 2022

2956

ขอบคุณภาพ จาก : https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1004169

                                                                                                                           ภาคภูมิ  แสวงคำ

                                                                                                                           23 / 6 / 65

 

              กระแสความสนใจของผู้ชมหลายประเทศอย่างกว้างขวางต่อภาพยนตร์เรื่อง Gangubai Kathiawadi ในบท (chapter) ที่ชื่อว่า The Martriarch of Kamathibura ของบทประพันธ์เรื่อง  Mafia Queens of Mumbi โดย S. Hussian Zaidi & Jane Borges  นอกจากเนื้อเรื่อง ฝีมือการแสดง งานกำกับภาพฉากและการแต่งกายอย่างวิจิตร   ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงตามมาว่าบุคลิกในเรื่องนับเป็นอัตชีวประวัติของบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือไม่ ? ตลอดจนอาชีพของบรรดาตัวละครหลักที่ดูแตกต่างจากอาชีพอื่นในสังคม

                            สารที่ส่งจากภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนถึงสภาพสังคมโดยเฉพาะในมิติสิทธิมนุษยชน  ที่เกี่ยวข้องกับทาสยุคใหม่ (Modern-day slavery) และการตัดสินใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปลดล็อกการค้าประเวณีที่เชื่อมโยงไปสู่การขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ โดยการคุ้มครองเฉพาะสตรีและเด็กอย่างมีนัยสำคัญ

                           ในช่วงต้นเรื่อง คังคุไบ ตัวละครเอกซึ่งมาจากครอบครัวที่ดี มีพ่อเป็นทนายความ ถูกชายคนรักหลอกลวงให้เดินทางออกจากบ้านเกิดมาทำงานเป็นนักแสดง  เมื่อรู้สึกตัว คนรักหายตัวไป ซ้ำร้ายเธอกลับถูกนำตัวไปขายเป็นเงิน 1,000 รูปี ในสถานค้าบริการทางเพศอย่างไม่สมัครใจ   ต้องถูกบังคับให้ค้าบริการทางเพศ หรือที่ปัจจุบันทั่วโลกนิยมเรียกว่า “พนักงานบริการ” (sex  worker)     ชะตากรรมของเธอก็ไม่ต่างไปจาก “เหยื่อ” รายอื่นๆ ที่มีทั้งสตรีและเด็กหญิงที่ต้องถูกแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี ทารุณกรรมต่อร่างกายจิตใจ  ทั้งการกักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขู่ให้หวาดกลัว เหมือนสินค้าที่ไม่ใช่มนุษย์และไม่ต่างจากทาส ยังไม่รวมถึงพฤติกรรมรุนแรงจากลูกค้าผู้มาใช้บริการ ที่สร้างรอยแผลและคราบน้ำตา

              ในอดีตยุคที่อาชีพพนักงานบริการในประเทศอินเดียยังไม่ถูกกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการในฐานะ “คนทำงาน” (worker) ยังไม่มีพื้นที่ให้เจรจาต่อรองปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน  แต่คังคุไบกล้าหาญเรียกร้องให้เจ้าของสถานบริการจัดวันหยุดประจำสัปดาห์ และไม่รีรอที่จะโต้กลับผู้ชายที่หมิ่นหยามศักดิ์ศรีของเธอและเพื่อนสาว

                           ฉากการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจ เป็นปรสิตที่สิงสถิตควบคู่กับบรรดาธุรกิจใต้ดินเสมอ  ไม่ต่างจากวงการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และธุรกิจการค้าประเวณี         ที่ล้วนจำต้องจ่ายเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับความอยู่รอดและไม่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม  แต่เต็มไปด้วยการกดขี่ค่าตอบแทนและสวัสดิการ

                           การส่งเสียงของคังคุไบ เพื่อเข้าถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งสิทธิการศึกษา สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิการประกอบอาชีพ และความมั่นคงในชีวิต สะท้อนภาพอดีตที่พนักงานบริการในอินเดีย แม้มีบัตรประจำตัวประชาชน  แต่ถูกเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม  ด้วยเหตุที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองใดๆ  ไม่ว่าการเลือกตั้ง เปิดบัญชีธนาคาร หรือบริการทางสังคมจากภาครัฐ ซ้ำร้ายกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคาม ดำเนินคดี และเกิดเหตุฆาตกรรมสตรีในย่าน “โคมแดง”ที่บ่อยครั้งไร้การเหลียวแล

              จุดเปลี่ยนจากประโยคในเรื่องว่ากรงไม่สามารถขังนกไว้ได้อีกต่อไป มาจากการปะทะกับชุมชนในนามศีลธรรมอันดี ที่ต้องการไล่รื้อสถานบริการให้พ้นจากสถานศึกษา     จนนำไปสู่ตำแหน่งในสนามการเมืองของกามธิปุระ ที่ไม่ใช่มาเฟียอิทธิพลดาษดื่นทั่วไป    แต่เป็นมาเฟียทางความคิดและการเมืองที่มุ่งให้ชุมชนหันมายอมรับอัตลักษณ์ความเป็นพนักงานบริการ โดยเฉพาะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ล้วนเสมอภาค ต้องการความเคารพ และการยอมรับคุณค่าของสตรีและงานที่ทำ  ไม่ต่างจากอาชีพอื่นในสังคม

                      หมุดหมายสำคัญของอาชีพพนักงานบริการในอินเดีย บันทึกขึ้นในปี 2006  ที่กระทรวงพัฒนาสตรีและเด็ก (Ministry of Women & Child Development) ผ่านร่างกฎหมายเพื่อลดการค้ามนุษย์ ต่อมามีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (Penal code) เพื่อลดความเป็นอาชญากรของอาชีพพนักงานบริการที่สมัครใจ กระทั่งในปี 2009 ศาลฎีกาตัดสินให้การค้าประเวณีพึงเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และประชุมตั้งคณะกรรมการแก้ไขกฎหมาย ให้สอดคล้องกับหลักการ “สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี”ในรัฐธรรมนูญ  

                           โดยเฉพาะบรรทัดฐานจากคดี Budhadev Karmaskar (ปี2011)   ที่เกิดเหตุคนร้ายลงมือฆาตกรรมพนักงานบริการ  ศาลพิจารณาและระบุเหตุผลว่าพนักงานบริการมีความเป็นมนุษย์ ไม่มีใครมีสิทธิฆ่าหรือทรมานพวกเธอ บุคคลเลือกเส้นทางเป็นพนักงานบริการ ไม่ใช่เพียงเพราะความสนุก แต่มีสาเหตุเช่นความยากจน ดังนั้นสังคมควรเห็นอกเห็นใจและไม่ดูแคลน    ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา     ศาลฎีกาอินเดียยังอ่านคำพิพากษาขยายสิทธิพนักงานบริการ โดยนิยามว่าการค้าประเวณี (หรือprostitution) ถือเป็นอาชีพ (profession) ทั้งสั่งให้ตำรวจต้องยุติความรุนแรง และรับรองการคุ้มครองสุขภาพและคุ้มครองแรงงานในช่วงล็อกดาวน์จากไวรัสโคโรน่าแพร่ระบาด                                           

                        จุดเด่นของระบบการคุ้มครองสตรีและเด็กในอินเดีย มาจากบริการแผนกช่วยเหลือสตรีและเด็ก (Women & children help desk) ประจำสถานีตำรวจทั่วประเทศ 10,000 แห่ง เพื่อให้บริการฉุกเฉิน รับร้องทุกข์กรณีอาชญากรรมที่เกี่ยวกับสตรี ทั้งการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงให้คำปรึกษา โดยจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจสตรี 2 คน ที่มีทักษะผ่านการฝึกอบรมให้บริการอย่างเป็นมิตร  

                           เมื่อเปรียบเทียบกับกับสถานการณ์ในประเทศไทย การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี เป็นส่วนหนึ่งของการค้ามนุษย์ในไทยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา  ปัจจุบันกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ยังกำหนดให้การค้าประเวณีที่สมัครใจมีความผิดและโทษ  

              น่าสังเกตว่ายังพบถ้อยคำตีตราเหมารวมในตัวบทกฎหมายประเภท “สำส่อน ค้าประเวณี โสเภณี”  ทั้งที่ความตระหนักรู้ และพฤติกรรมในการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพของพนักงานบริการถูกติดตั้งจรวดพิสัยไกลนานแล้ว  ดังจะเห็นจากสำนักงานสาธารณสุขหลายจังหวัดมีการจัดอบรมความรู้แก่ผู้ประกอบการและพนักงานบริการ ทั้งแจกอุปกรณ์ป้องกัน และลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  ตลอดจนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดสิทธิประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งตรวจรักษา การรับคำปรึกษา และบริการสุขภาพ  อัตราการติดเชื้อเอชไอวีจึงลดต่ำลง จนปัจจุบันเอดส์ถือเป็นโรคที่รักษาได้  สถานการณ์การตีตราต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยก็คลี่คลายมากขึ้นกว่าระยะ 30 ปีที่ผ่านมา

              สถานการณ์ความรุนแรงต่อพนักงานบริการในไทยยังมาจากการปฏิบัติและตีตราให้เป็นอาชญากร โดยเฉพาะการจับกุมล่อซื้อ    รวมถึงคดีความรุนแรงที่มีบทสรุปต่างจากอินเดีย คือเหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง 5 ศพที่คนร้ายเลือกเหยื่อเป็นหมอนวด นักร้องคาเฟ่ (ในบริบทพนักงานบริการ) ทั้งที่ถูกจับกุมพิพากษาโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่กลับรับโทษไม่นานแล้วออกมาก่อเหตุสะเทือนขวัญซ้ำ  ลำพังคำพิพากษาอาจไม่คำนึงถึงบริบทความเปราะบางของเหยื่อที่ต้องจบชีวิต  ซ้ำสังคมไทยก็ยังเพ่งโทษที่เพียงพฤติการณ์ของคนร้าย  แทนที่จะกำหนดมาตรการล้อมรั้วที่คำนึงถึงบริบทความเปราะบาง เพศและอาชีพของเหยื่อ

                           ยิ่งในยุคโรคระบาด บรรดาพนักงานบริการทั่วประเทศราว 3 แสนคน ทั้งไทยและต่างชาติต่างตกสำรวจเข้าไม่ถึงนโยบายมาตรการเยียวยาใดๆจากรัฐ  กระทั่งมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานและผู้ประกอบกิจการในสถานบันเทิงที่ออกมาต้นปี   เนื่องจากรัฐไม่นับเป็นอาชีพที่สามารถจ้างงาน

                           ในอีกด้านหนึ่ง  บทบาทขององค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมมีข้อเสนอท้าทายให้รัฐต้องลดการเป็นอาชญากรรมต่อพนักงานบริการ  แต่หันมาพิจารณาว่างานบริการเป็น “งานที่มีคุณค่า” (decent work) ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) โดยจัดกลไกมาตรฐานความคุ้มครองสิทธิ ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและการคุ้มครองทางสังคม ให้เกิด “พนักงานบริการที่มีคุณค่า” (decent sex work) โดยเฉพาะข้อเสนอให้อาชีพพนักงานบริการเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน 

                           เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ประเด็นการปลดล็อกการค้าประเวณี ก็ไม่ต่างจากนโยบายกัญชาเสรีที่สร้างข้อถกเถียงในแง่การเมือง กฎหมาย  สังคม สุขภาพ เศรษฐกิจและวัฒนธรรม มุมมองศีลธรรมย่อมให้คำตอบที่ต่างจากมุมมองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  แต่มุมมองประการหลังอาจมีส่วนลดช่องว่างการทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากธุรกิจใต้ดิน    เมื่อคนทำงานมีหลักประกันความมั่นคง ประเทศชาติก็ย่อมมั่นคงและสงบเรียบร้อยไปพร้อมกัน

                           สุดท้ายนี้ ก่อนเข้าสู่ปลายเดือนมิถุนายน อันเป็นช่วงเวลานำเสนอรายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา  (US Department of State) ถัดจากที่ไทยเพิ่งจัดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ปีนี้ ภายใต้แนวคิด “No victims no tears” ซึ่งหวังว่าเป็นโอกาสท้าทายที่จะพิจารณาถึงความจำเป็นแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับยุคสมัยและสภาพการณ์จริง  โดยไม่มองข้ามหรือทอดทิ้งอาชีพพนักงานบริการไว้ข้างหลังพร้อมรอยน้ำตาอีกต่อไป.

เอกสารประกอบการเขียน

Empower Foundation (2016). Moving toward decent sex work

US Department of State (2021). Trafficking in Persons Report

India’s sex workers win  new rightss, but still fear police violence  ที่มาจาก

https_ : // www.washingtonpost.com/world/2022/05/30/indias-sex-workers-win-new-rights-still-fear-police-violence/

Recent posts