แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564/65 ซึ่งรวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2564 โดยให้ภาพรวมของห้าภูมิภาคและข้อมูลของแต่ละประเทศทั้งหมด 154 ประเทศและดินแดน รายงานชี้ให้เห็นว่าผู้นำทางการเมืองและบรรษัทยักษ์ใหญ่เห็นผลกำไรและอำนาจของตนสำคัญกว่าประชาชน ไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่จะฟื้นฟูอย่างเป็นธรรมภายหลังการระบาดใหญ่
เอร์วิน วาน เดอ บอร์ก รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เผยว่า ในที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G7 และ G20 รวมทั้งในเวทีระดับชาติ ผู้นำทางการเมืองเพียงแต่แสดงวาทศิลป์ว่า 'สร้างใหม่ให้ดีกว่าเก่า' เพื่อให้ทำให้โลกยุคหลังการระบาดใหญ่มีความเป็นธรรมมากขึ้น นโยบายเหล่านี้ควรจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลกระทบจากโรคระบาดรุนแรงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม นโยบายเหล่านี้กลับบั่นทอนความสำเร็จด้านวัคซีน ทำให้ความไม่เท่าเทียมหยั่งรากลึกมากขึ้นท่ามกลางชุมชนชายขอบ ที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากระบบสุขภาพและเศรษฐกิจที่กำลังพังพินาศ แม้บริษัทยาขนาดใหญ่จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐหลายพันล้านเหรียญ แต่พวกเขายังคงให้ความสำคัญกับความโลภของตนเองมากกว่าความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน
แม้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอภิปรายถกเถียง เพื่อหาแนวทางรับมือกับปัญหาท้าทายนานัปการของโลก แต่หลายรัฐยังคงเพิ่มความพยายามในการปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ หน่วยงานด้านสื่อและผู้นำฝ่ายค้าน ต่างตกเป็นเป้าหมายการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การทรมานและการบังคับให้สูญหาย โดยหลายกรณีเกิดขึ้นด้วยการอ้างเหตุผลเกี่ยวกับโรคระบาด
"มีอย่างน้อย 67 ประเทศที่ประกาศใช้กฎหมายใหม่ในปี 2564 เพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบและการสมาคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกควบคุมตัวโดยพลการในอย่างน้อย 84 จาก 154 ประเทศ แอมเนสตี้จะเปิดตัวโครงการรณรงค์ระดับโลก เพื่อเรียกร้องให้มีการเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และเพื่อทวงคืนพื้นที่ของภาคประชาสังคมกลับคืนมา"
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ในส่วนของประเทศไทยมีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการแสดงออก การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การบังคับบุคคลให้สูญหาย สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นต้น
"รัฐบาลได้เพิ่มความพยายามเพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม ทางการใช้กฎหมายโดยพลการในการคุกคามและควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร่างกฎหมายว่าด้วยการทรมานและการบังคับให้สูญหายที่เสนอเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณา ยังมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยในด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทางการได้เพิ่มการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และดำเนินคดีอาญากับบุคคลอย่างน้อย 100 คน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีด้วย"
สำหรับงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564/65 จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในวันอังคาร ที่ 29 มีนาคม 2565 สำหรับประเทศไทย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ และ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเป็นตัวแทนมอบรายงานพร้อมทั้งข้อเรียกร้องถึงทางการไทย โดยมีเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานฉบับดังกล่าว
โดยภายในงานได้มีการร่วมถ่ายภาพพร้อมป้ายรณรงค์เพื่อสนับสนุนองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ยืนหยัดทำงานต่อไป แม้จะกำลังถูกคุกคามก็ตาม
สามารถอ่านรายงานประจำปี 2564/65 ในส่วนของภาพรวมเอเชีย-แปซิฟิก-ประเทศไทย-ประเทศเมียนมา (ฉบับภาษาไทย) ได้ที่ลิงก์นี้ https://bit.ly/36wS45R
รายงานฉบับเต็มภาษาอังกฤษดูได้ที่นี่ https://bit.ly/3Ll4RXJ
ส่วนภาพประกอบเพิ่มเติมดูได้ที่นี่ https://bit.ly/3IRHljg