ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

ชาวหนองบัวฯ มึน สทนช. ส่งแบบสอบถาม ทำอีไอเอ โครงการผันน้ำโขงเลยชีมูลทางไปรษณีย์

 

รายงานข่าวจาก อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู แจ้งว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับเอกสารทางไปรษณีย์ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ด่วนที่สุด ที่ นร 1416/ว8492 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เรื่อง ขอความร่วมมือกรอกแบบสอบถามความคิดเห็น (เพิ่มเติม) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์

ทั้งนี้ สทนช. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา  ให้ดำเนินการศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อเติมน้ำให้กับแหล่งเก็บกักน้ำ และสามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรของราษฎร

“เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นต่อการพัฒนาโครงการที่ตรงกับความต้องการและนำไปสู่การยอมรับจากทุกฝ่ายในการศึกษาโครงการ ประกอบด้วย จังหวัดเลย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดขอนแก่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงขอความร่วมมือจากท่านในการกรอกแบบสอบถามความคิดเห็น (เพิ่มเติม) ของโครงการดังกล่าว จำนวน 1 แผ่น (หน้า-หลัง) เพื่อคณะศึกษาโครงการจะได้นำข้อมูลของท่านไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และผนวกไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป” เนื้อหาในหนังสือระบุ พร้อมแนบแบบสอบถามความคิดเห็นมาด้วย

ด้านผู้นำชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลโครงการที่ชัดเจน และเกิดความกังวลใจ เกรงว่าตนเองจะสูญเสียที่ดินทำกิน

โดย ไกรศร ประทุม ผู้ใหญ่บ้านนาเจริญ หมู่ที่ 11 ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ตั้งแต่ทราบข่าวว่าจะมีโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย – เขื่อนอุบลรัตน์ เข้ามาในพื้นที่ ไม่เคยพบเห็นหน่วยงานใดมาสอบถามชาวบ้านเลยว่าคิดเห็นอย่างไร หรือมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเลย ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลดี ผลเสีย มีเพียงแค่พูดว่าถ้าเกิดโครงการขึ้นแล้วชาวบ้านจะได้ประโยชน์ และใช้น้ำในการทำเกษตร

“อีสานมันไม่ได้แล้งเหมือนแต่ก่อน น้ำมีเพียงพอ และทุกวันนี้ชาวบ้านมีความรู้ในเรื่องการจัดการน้ำแล้ว” ผู้ใหญ่ไกรศรกล่าว

เคนดี สังสีโอ อายุ 69 ปี ชาว ต.ดงมะไฟ เป็นเจ้าของที่ดินในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ กล่าวว่า ตนได้รับทราบข้อมูลว่าจะมีการขุดอุโมงค์ผ่านที่ดินของตน เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ได้ส่งหนังสือแจ้งมาให้ไปเข้าร่วมประชุมที่ใน จ.หนองบัวลำภู และอ.สุวรรณคูหา ซึ่งตนก็ไม่อยากให้มาทำ เพราะไม่ได้ประโยชน์จากการใช้น้ำด้วย

“ที่นาของผมเขาจะขุดอุโมงค์ลอดผ่าน และใช้เป็นพื้นที่ลำเลียงดินเท่านั้น ถ้าทำแล้วกลัวสิ่งแวดล้อมมันจะไม่ดี และถึงแม้จะไม่ได้ทำโครงการนี้ เราก็ใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิม ที่มันดีอยู่แล้ว” พ่อเฒ่าเคนดีกล่าว

ในส่วนของนักวิชาการก็ได้ออกมาท้วงติง ถึงกระบวนการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย – เขื่อนอุบลรัตน์ รวมถึงรูปแบบและเนื้อหาในแบบสอบถามความคิดเห็นดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว เพื่อนำข้อมูลไปประกอบในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ด้วย

ดร.มาลี  สิทธิเกรียงไกร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า ในหนังสือระบุถึง เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน” แต่การมีส่วนร่วมควรจะหมายถึง การมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯ  กล่าวคือ การเริ่มต้นด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ชุมชนมีข้อคิดเห็นอย่างไร จะมีวิธีการอย่างไร แต่แนวคำถามในแบบสอบถามนี้กลับเน้นไปในเรื่องการจ่ายค่าชดเชย ว่าชาวบ้านหรือผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับค่าชดเชย  การตั้งคำถามเช่นนี้ เสมือนหนึ่งว่าชาวบ้านได้ยอมรับโครงการฯ นี้แล้ว ทั้งที่ยังมีชาวบ้านจำนวนมากยังไม่ทราบรายละเอียดของโครงการฯ

“การส่งเสริมการมีส่วนร่วมควรจะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เปิดโอกาสให้ชาวบ้านซักถาม ไม่ใช่การส่งแบบสอบถามด้วยไปรษณีย์ และให้ชาวบ้านกรอกตัวหนังสือ พร้อมทั้งดำเนินการส่งกลับทางไปรษณีย์ ซึงเป็นวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง” ดร.มาลีกล่าว

ด้านอ.สันติภาพ  ศิริวัฒนไพบูลย์  อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตั้งข้อสังเกตว่า แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการฯ เป็นการชงให้กรอกเรื่องจ่ายค่าชดเชย ว่าจะรับชดเชยอย่างไร จ่ายครั้งเดียวหรือสองครั้ง ราคาค่าชดเชยเห็นว่าควรเป็นเท่าไร คือถ้าตอบและเซ็นต์ไปก็เท่ากับยอมรับโครงการให้ดำเนินการได้โดยปริยาย เพราะแสดงว่าคนตอบยินดีรับค่าชดเชยแล้ว ส่วนเรื่องข้อห่วงกังวลที่มีการระบุไว้ในคำถามก็แค่เพียงพิธีกรรมเท่านั้น ถึงแม้จะกังวลมากกังวลน้อย แต่คุณก็ยินดีรับค่าชดเชยไปแล้ว

 

“อันนี้คือการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือสัญญารับสารภาพยอมรับโครงการโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่หน่วยงานรัฐกล้าออกแบบสอบถามไปตีกันชาวบ้านแบบนี้ ถือว่าเป็นยุคมืดของกระบวนการพิจารณาและดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ไล่เรียงมาตั้งแต่อีไอเอร้านลาบ รับฟังความเห็นออนไลน์แบบเฉพาะกลุ่มน้อยๆ และมาสอบถามความเห็นแบบมัดมือมัดเท้า ปิดตาตีหัวเขา ช่วงชาวบ้านเขากำลังเกี่ยวข้าว”  อ.สันติภาพ กล่าว