webmaster@thaingo.org

สำหรับท่านที่โอนเงินหลังวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ทางทีมงานจะส่งใบเสร็จหลังปีใหม่
For those who make a transfer job announcement fee after December 20, 2023, ThaiNGO team will send receipt after the New Year.

ครบรอบ 20 ปี Write for Rights แคมเปญรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

Back
23 Nov 2021

 

 

‘แอมเนสตี้’ เปิดตัว ‘Write for Rights’ - เขียน เปลี่ยน โลก แคมเปญรณรงค์สิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งผู้คนนับล้านทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของผู้อื่น กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 20 และในปีนี้เคสของ “รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” ได้ส่งถึงผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ทั่วโลกให้ช่วยกันส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยเพื่อให้ยุติการดำเนินคดีและข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อรุ้ง 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า วันนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกเปิดตัวแคมเปญ Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” ซึ่งกลับมาอีกครั้งในปีที่ 20 ที่จะเชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว ผู้คนยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ การรณรงค์ของแอมเนสตี้เป็นการสื่อข้อความไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม  

“จุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้ เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มนักกิจกรรมในโปแลนด์จัดงานเขียนจดหมายมาราธอน 24 ชั่วโมง โดยเขียนจดหมายทั้งวันทั้งคืนในนามของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และ 20 ปีต่อมาก็กลายเป็นการรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา ที่เราทุกคนมาร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เผชิญความเสี่ยง 

จากจดหมาย 2,326 ฉบับในปี 2544 กลายเป็น 4.5 ล้านฉบับในปี 2563 รวมทั้งทวีตและลายเซ็น ในวันนี้ผู้สนับสนุนแคมเปญ Write for Rights ได้ใช้พลังที่จะส่งเสียงของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ร่วมกันเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนมากกว่า 100 คน ปลดปล่อยพวกเขาจากการถูกทรมาน การล่วงละเมิด หรือจับกุมการคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม”  

โดยปีนี้เคสของ “รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” จากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้เป็นครั้งแรกด้วย และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้เน้นรณรงค์ช่วยเหลือสี่กรณี ดังต่อไปนี้  

รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากประเทศไทย จากเด็กขี้อายและเงียบขรึมได้กลายมาเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เธออาจถูกจำคุกตลอดชีวิตเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบโดยเธอได้ออกมาคัดค้านการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) ที่ถูกนำมาใช้เพื่อปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล  

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 รุ้งถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 60 วัน ตามความผิดมาตรา 112 ซึ่งเธอได้อดอาหารประท้วงเป็นเวลา 38 วัน จากนั้นเธอได้รับการปล่อยตัวออกมา แต่ล่าสุดศาลไม่ได้ประกันตัวในคดี ม.112 กรณีใส่ครอปท็อปเดินห้าง ทำให้ต้องถูกคุมขังอีกครั้ง ทั้งนี้เธอยังต้องเผชิญกับข้อหาอีกมากมายและอาจจะถูกจำคุกตลอดชีวิตหากถูกตัดสินว่ามีความผิด 

จาง จ่าน จากประเทศจีน เธอต้องถูกคุมขังเพียงเพราะรายงาน สถานการณ์โรคโควิด-19 เมื่อเมืองอู่ฮั่นถูกล็อกดาวน์ จาง จ่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในนักข่าวพลเมืองไม่กี่คนที่รายงานเกี่ยวกับวิกฤติของโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยความมุ่งมั่น ที่จะเปิดเผยความจริง จาง จ่าน อดีตทนายความจึงเดินทางไปยังเมืองที่เกิดวิกฤติดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เธอได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้คุมขังนักข่าวอิสระและได้ข่มขู่ครอบครัวของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ต่อมาเธอกลับถูกควบคุมตัวและถูกตัดสินจำคุกสี่ปีเพื่อปิดปากเธอ   

เว็นดี้ กาลาร์ซ่า จากประเทศเม็กซิโก เธอถูกยิงขณะชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เว็นดี้เข้าร่วมการเดินขบวนเรียกร้องความยุติธรรมในคดีฆาตกรรมของอเล็กซิส ในขณะที่เดินขบวนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ปืน ยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้เว็นดี้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว เว็นดี้ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ต้องหาถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

กลุ่มสเฟียร์ จากประเทศยูเครน ที่ถูกทำร้ายเพียงเพราะพวกเขาออกมาปกป้องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและสิทธิของผู้หญิง กลุ่มสเฟียร์เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศยูเครน ก่อตั้งโดยนักเคลื่อนไหวทางสังคม ได้แก่ แอนนา ชารีฮีนา และ วีร่า เชอร์นีกิน่า หน้าที่หลักของกลุ่มสเฟียร์คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในเมืองคาร์คิฟ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศยูเครน ช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มสเฟียร์โดนโจมตีด้วยความรุนแรงหลายครั้งจากกลุ่มที่ต่อต้านผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแอนนาและวีร่าได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ แต่คดีไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด 

“Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” นั้นเป็นวิธีการรณรงค์ที่สำคัญของแอมเนสตี้ทั่วโลก โดยแบ่งการเขียนเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ 1. การเขียนเพื่อส่งไปกดดันรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ 2.การเขียนเพื่อส่งไปให้กำลังใจผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง  

ความสำเร็จที่ผ่านมา...เสียงของคุณช่วยพวกเขาได้อย่างไร? 

ลำพังเสียงของคุณคนเดียวอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากนัก แต่ Write for Rights พิสูจน์แล้วว่าเมื่อเสียงของคนหลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลกมารวมกัน รัฐบาล ประเทศต่างๆ จะไม่สามารถเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อีกต่อไป ส่วนผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิเองก็จะมีความหวังในการต่อสู้มาก ขึ้นจนได้รับความยุติธรรมในที่สุด ข้อความต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ ประเทศไทยมีส่วนในการรณรงค์ช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

ฮาคีม อัล อาไรบี ผู้ลี้ภัยของออสเตรเลียและนักฟุตบอลเชื้อสายบาห์เรน ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกทางการไทยควบคุมตัวนานกว่า 2 เดือนตาม “หมายแดง” ของตำรวจสากล ที่รัฐบาลบาร์เรนร้องขอในคดีทำลายทรัพย์สินสถานีตำรวจช่วงอาหรับสปริง เมื่อได้รับการปล่อยตัวเขาเดินทางถึงออสเตรเลียในวันถัดมา หลังจากนั้นหนึ่งเดือนเขาก็ได้รับสัญชาติออสเตรเลีย 

“ผมมีความสุขมากที่ได้สิทธิความเป็นพลเมืองออสเตรเลีย ผมรู้สึกปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครในโลกที่จะติดตามตัวผมอย่างที่บาห์เรนทำได้อีกแล้ว ตอนนี้ผมคือชาวออสเตรเลีย และอยู่ในประเทศที่ปลอดภัย” 

มาเมาด์ อาบู ซิด หรือชอว์คาน ช่างภาพข่าวชาวอียิปต์  ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 2562 หลังถูกจำคุกนานกว่า 5 ปีครึ่งด้วยข้อหาที่ถูกกุขึ้น เขาถูกจับในขณะกำลังทำข่าวการประท้วงเมื่อกองกำลังอียิปต์บุกเข้ามาสังหารผู้ชุมนุมราว 800 ถึง 1,000 คนอย่างเลือดเย็น ที่เรียกว่า “การสังหารหมู่ที่ราบา” 

“ผมขอขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่ทำให้ผม ผมรู้สึกโชคดีมากที่มีคนแบบพวกคุณอยู่บนโลกนี้ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีพวกคุณเป็นเสมือนเพื่อนของผม” 

สามารถร่วมลงชื่อได้ที่นี่ https://www.aith.or.th/
 
 
 

 

**********
 
เนาวรัตน์ เสือสอาด
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร
Naowarat Suesa-ard
Media and Communications Supervisor

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

วิลาศินี ศรีวงษา : ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112