ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

ประเทศไทย: คำวินิจฉัยของศาลเป็นสัญญาณอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออก   

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงหลังจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเรียกร้องของนักกิจกรรมสามคนที่เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปสถาบันระหว่างการชุมนุมเมื่อปี 2563 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า แม้คำวินิจฉัยนี้จะไม่มีบทลงโทษหรือค่าปรับ แต่มีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับประชาชนชาวไทยหลายหมื่นคนที่แสดงความเห็นหรือวิจารณ์อย่างชอบธรรมต่อบุคคลสาธารณะหรือสถาบัน ทั้งโดยการแสดงความเห็นทางตรงหรือแสดงความเห็นทางออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การดำเนินคดีข้อหาร้ายแรงต่อแกนนำทั้งสามคนและบุคคลอื่น ๆ อีกมาก โดยฐานความผิดล้มล้างการปกครองนี้มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิต 

“ถ้าคำวินิจฉัยนี้มีเจตนาเพื่อทำให้ประชาชนหวาดกลัว และขัดขวางพวกเขาจากการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ผลที่ออกมาจะตรงกันข้าม ดังที่เห็นจากการติดแฮชแท็กอย่างกว้างขวาง การส่งทวิต และข้อความทางโซเชียลมีเดียมากมายทันทีหลังศาลมีคำวินิจฉัย ประชาชนชาวไทยกว่า 200,000 คนได้ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย”  

“เป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่งที่คำวินิจฉัยนี้มีขึ้นในวันเดียวกันกับที่มีกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR รอบที่สามของประเทศไทย ตามวาระขององค์การสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา โดยในรอบก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ ในที่ประชุม UPR ที่เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถือเป็นสัญญาณต่อประชาคมระหว่างประเทศว่าประเทศไทยไม่มีเจตนาใดๆ ที่จะดำเนินการเพื่อให้กฎหมายนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในแง่การคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก”  

“คำวินิจฉัยนี้ฉายเงามืดหม่นทาบทับประเทศไทยที่เริ่มเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ นับเป็นเรื่องน่ากังขาในเจตนาของรัฐบาลไทยที่แสดงท่าทีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาพักผ่อนในประเทศ แต่กลับจำกัดและกดขี่สิทธิของคนไทยเอง”   

 

ข้อมูลพื้นฐาน  

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทยวินิจฉัยว่า คำปราศรัยเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ของนักกิจกรรม รวมทั้งอานนท์ นำภา (37 ปี) ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (23 ปี) และภาณุพงศ์ จาดนอก (24 ปี) มี “เจตนาซ่อนเร้น” และเป็นความพยายามล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   

เป็นคำปราศรัยในช่วงที่เริ่มมีการชุมนุมครั้งใหญ่ในประเทศเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งข้อเรียกร้องที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันที่ทรงอำนาจ และให้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของสถาบัน ส่งผลให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวาง และเป็นการทำลายข้อห้ามที่มีมาแต่เดิมเกี่ยวกับการอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย   

ศาลระบุว่า คำปราศรัยเหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูป และระบุว่าพระมหากษัตริย์กับชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันและ “ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้” ทั้งยังสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายยุติปฏิบัติการแบบเดียวกัน ไม่มีการกำหนดบทลงโทษจากคำตัดสินนี้ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะเป็นบรรทัดฐานที่นำไปสู่การดำเนินคดีในข้อหาเพิ่มเติมต่อแกนนำทั้งสามคน รวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและขบถ  

การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และผู้ละเมิดอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปีต่อกรรม นักกิจกรรมทั้งสามคน ต่างถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมีบุคคลอย่างน้อย 151 คนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน รวมทั้งเด็ก 13 คน ภายหลังการชุมนุมที่มีแกนนำเป็นเยาวชน   

 

 

**********
 
เนาวรัตน์ เสือสอาด
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร
Naowarat Suesa-ard
Media and Communications Supervisor