ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ร่วมลงพื้นที่กับหน่วยที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่เหมืองทองคำชำรุด พร้อมเสนอขอเข้าร่วมและเชิญนักวิชาการร่วมทำแผน หวั่นซ่อมเสร็จอาจชำรุด

10 พ.ย.64 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองทองคำ จ.เลย ได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ในบริเวณเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย เพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำแผนงานโครงการของบประมาณในการดำเนินการซ่อมแซมสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ที่ชำรุด โดยเวลาประมาณ 13.00 น. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมาถึงบริเวณประตูแดงทางเข้าพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกคนทำการลงทะเบียน ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และสวมหน้ากากอนามัย

          ซึ่งก่อนที่จะเดินทางเข้าไปยังบ่อเก็บกากแร่เหมืองแร่ทองคำ นายกุมพล รามรังสฤษฎ์ วิศวกรเหมืองแร่ชำนาญการ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี ได้กล่าวต่อกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ว่า “การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพราะเรื่องเร่งด่วนของสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ที่มีการชำรุดเสียหาย โดยปกติแล้วกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ก็จะมาดำเนินการซ่อมทุกปีซึ่งปีที่แล้วได้ขอความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยในการนำเครื่องจักรมาซ่อมแซมและมีงบประมาณส่วนหนึ่งให้ และในปีนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี มาช่วยดำเนินการเรื่องนี้พร้อมดำเนินการจัดทำแผนเพื่อของบประมาณในการซ่อมแซมสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ที่ชำรุด วันนี้จึงมาขอความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยอีกครั้ง เพื่อประเมินและทำแผนให้กับสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี เพื่อจะได้เสนอของบประมาณไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่”

          ด้านนางสาวรจนา กองแสน ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ก็ได้กล่าวว่า “ช่วงที่จัดทำแผนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านขอเข้าร่วมด้วย และขอให้เชิญนักวิชาการของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่เป็นคณะทำงานติดตามปัญหามลพิษและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายในและบริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำเข้าร่วมจัดทำแผนในครั้งนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาได้มีการซ่อมสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่มาหลายครั้งแล้ว พอดำเนินการซ่อมเสร็จสามเดือนต่อมาก็เกิดการชำรุดดินทรุดตัวลงไปอีก”    

          ขณะที่นายรัฐพงษ์ เมืองพระฝาง วิศวกรเหมืองแร่ปฏิบัติการ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ได้กล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นก่อนที่จะจัดทำแผนซ่อมแซมสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่จะทำการนัดประชุมพร้อมกันทั้งหมด”

          ทั้งนี้หลังจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่เหมืองแร่ทองคำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ทำบันทึกการตรวจสอบเป็นลายลักษณ์อักษรว่า คณะตรวจสอบได้ตรวจสอบสภาพพื้นที่สันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ที่ชำรุดเสียหายในเบื้องต้น พบบริเวณพื้นที่เกิดน้ำกัดเซาะจำนวน 3 - 4 จุด โดยชาวบ้านได้ขอความอนุเคราะห์องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยช่วยมาตรวจสอบความเสียหายร่วมกับตัวแทนนักวิชาการของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี ตรวจสอบพื้นที่ที่ชำรุดเสียหายให้ชัดเจน พร้อมจัดทำแผนฯ ร่วมกับตัวแทนข้างต้น ทั้งนี้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยจะเป็นผู้ประสานนัดหมายวันเวลาและสถานที่ที่ชัดเจนอีกครั้ง