ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

กลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า จ.มุกดาหาร เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ

ขอบคุณภาพประกอบ จาก ประชาไท : https://prachatai.com/journal/2021/09/95198

27 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมแก่งกะเบา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ชาวบ้านหมู่ 5,6 และ 13 ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร กว่า 70 คน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลงที่ 2 จากกรณีที่หน่วยป้องกันรักษาป่า มห.1  (คำป่าหลาย) เข้าตรวจยึดพื้นที่ ตัดฟันต้นยาง พร้อมข่มขู่ไม่ให้เข้าทำกินในพื้นที่ ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู แปลงที่ 2 ท้องที่ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร

          การประชุมคณะทำงานในครั้งนี้ได้มีนายเอกราช มณีกรรณ์ ปลัดจังหวัดมุกดาหาร นายครรชิต โล่ห์คำ ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) น.ส.อนุลักษ์ พิกุลศรี เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมุกดาหาร นายนิธิโรจน์ จงจิตกิตติ์ธนา เจ้าหน้าที่ศูนย์ป่าไม้มุกดาหาร นายนรินทร์ อินทรีย์ หัวหน้าป้องกันรักษาป่าที่ มห.1 (คำป่าหลาย) นายเวช ไชยบัน กำนันคำป่าหลาย คณะทำงานช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ และชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

          โดยนายเอกราช มณีกรรณ์ ประธานคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ได้กล่าวถามต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าข้อมูลการตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชย์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งนายนรินทร์ อินทรีย์ ก็ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่าในขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรไปมากกว่าเดิม เนื่องจากยังไม่มีแผนที่ปี 57 ที่เป็นแผนที่ป่าหลังคำสั่ง คสช.ที่ 66 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 มิ.ย 2557 ซึ่งต้องทำเรื่องขอแผนที่กับทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้

          นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ซึ่งเป็นตัวแทนของคณะทำงานช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ได้ตั้งคำถามต่อที่ประชุมว่าในเมื่อยังไม่มีแผนที่ปี 57 ก่อนหน้านี้เอาฐานข้อมูลอะไรไปปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าจนทำให้เกิดผลกระทบ หากผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการครั้งนี้ปรากฏร่องรอยการใช้ที่ดินก่อนออร์โธสีปี 45 และอยู่ระหว่างปี 45-57 สิ่งที่เกิดความเสียหายไปแล้วจะดำเนินการอย่างไร เรื่องที่ผูกพันต่อเนื่องมติ ครม. 6 พ.ย 61 ในการแก้ไขปัญหาที่สืบเนื่องมาจากมาตรการตามคำสั่ง 64,66 หรือแม้กระทั้งเรื่องการปลูกป่าชาวบ้านก็ขอยกเลิกให้มีการปลูกป่าที่อยู่ในพื้นที่ที่ยังพิพาทเนื่องยังไม่มีกลไกในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งต้องวนไปที่เดิมว่าต้องมีแผนที่ปี 57 แล้วช่วงที่ดำเนินการผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ใช้หลักเกณฑ์วิธีการฐานข้อมูลอะไรดำเนินการ ไม่ว่าเรื่องของการร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าพนักงานสอบสวน การปลูกต้นไม้ การทำลายอาสินต่าง ๆ

          “การที่จะพิจารณาดำเนินการใด ๆ ต้องมีหลักเกณฑ์ที่มาที่ไป ซึ่งใช้เงื่อนไขตามหลักเกณฑ์คำสั่งที่66/2557 ก็ต้องไปดูตามหลักเกณฑ์วิทยุสั่งการ ศปป.4 กอ.รมน. 7 ข้อ และเอามาทาบระหว่างแผนที่ออร์โธสีสองช่วง  คือ 45 กับ 57 มาทาบกับบริเวณพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการ ถ้าปรากฏร่องรอยการใช้ที่ดินทั้งก่อน 45 และ 57 เขาควรที่จะมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ แต่การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นลักษณะเหมารวมไม่แยกแยะว่าใครเป็นเกษตรกรคนยากไร้มีใครเป็นคนที่ไม่เข้าเงื่อนไขตาม ศปป.4 กอ.รมน. ซึ่งเรามีข้อมูลเบื้องต้นว่า 67 ราย ปรากฏร่องรอยการใช้ที่ดินก่อนออร์โธสีปี 45 จำนวน 17 ราย ซึ่ง 10 ราย มี ส.ป.ก.4-01 นั้นแสดงว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน แล้วอีก 7 รายไม่มีควรที่จะได้รับการผ่อนปรนให้ทำประโยชน์ตามมติ ครม.30 มิถุนายน 41 เพราะปรากฏร่องรอยออร์โธสีปี 45 ส่วนปี 45 กับ 57 มีจำนวนมากก็ต้องมาคัดกรอง แต่นี้เหมารวมกันหมด มายึดที่ยึดทาง ทำลายผลผลิตของเขา” นายปราโมทย์กล่าว

          ในส่วนของประเด็นเรื่องแนวทางการสำรวจตรวจสอบแปลงที่ดิน ข้อมูลราษฎรผู้เดือดร้อน แนวทางการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือความเดือดร้อนด้านที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติของราษฎร ต.คำป่าหลาย นั้น  นายปราโมทย์ก็ได้กล่าวถามต่อที่ประชุมว่าคณะทำงานจะออกแบบแนวทางในการตรวจสอบการถือครองที่ดินของกลุ่มผู้เดือดร้อนยังไง ซึ่งมีขอพิจารณา หนึ่ง พื้นที่เป้าหมายการตรวจสอบอยู่ตรงไหน สอง จะมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขวิธีการในการตรวจสอบยังไง ซึ่งตอนนี้มีเรื่องที่ผูกพันต่อเนื่องมาหลังจากเกิดปัญหาพิพาทกันเมื่อปี 59 เป็นต้นมา เพราะมีภาระผูกพันทางคดีที่มีการไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าพนักงานสอบสวนไว้ ครั้นชาวบ้านจะไปยืนแปลงก็มีความกังวลว่าจะเป็นปัญหาในทางข้อกฎหมาย ซึ่งต้องปรึกษาหารือกันว่าจะมีมาตรการยังไงถึงจะไม่กระทบสิทธิชาวบ้านเพราะเรื่องราวข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฎ

          ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ได้ทำการสรุปถึงแนวทางการทำงาน 2 ประเด็น หนึ่ง การตรวจสอบการเข้าตรวจยึดตัดฟันทำลายอาสินของราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู แปลที่ 2 ต.คำป่าหลาย เป็นไปตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ คณะทำงานฯ จะดำเนินการทำหนังสือถึงนายฐิติกร เงาะปก ซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินการในขณะนั้น เพื่อให้ดำเนินการชี้แจงพร้อมหลักฐานและในการประชุมคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ครั้งต่อไปให้นายฐิติกร เงาะปก เข้าร่วมประชุมเพื่อมาชี้แจง สอง ในเรื่องทางการสำรวจตรวจสอบแปลงที่ดินของราษฎรผู้เดือดร้อนมอบหมายให้คณะทำงานช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นคณะทำงานภาคประชาชนดำเนินการทำแนวเขตแปลงของราษฎรแต่ละแปลงให้เรียบร้อย ซึ่งเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วให้แจ้งคณะทำงานตรวจสอบการครอบครองเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ เพื่อจะได้กำหนดการลงพื้นที่ดำเนินการต่อไป