ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

แอมเนสตี้เปิดรายงานใหม่และแคมเปญ “นับถอยหลัง 100 วัน” #100DayCountdown  เรียกร้องจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศยากจน 2 พันล้านโดสก่อนสิ้นปีนี้

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานฉบับใหม่ชี้ บริษัทรายใหญ่หกแห่งซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากปฏิเสธที่จะยกเว้นการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการแบ่งปันเทคโนโลยีด้านวัคซีน โดยบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศยากจน  พร้อมเปิดตัวแคมเปญ “นับถอยหลัง 100 วัน” #100DayCountdown เรียกร้องรัฐต่าง ๆ และบริษัทยาส่งมอบวัคซีนจำนวน 2 พันล้านโดสให้กับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครต้องทนทุกข์ทรมาน และอยู่กับความหวาดกลัวต่อไปอีกหนึ่งปี

ในรายงานฉบับใหม่ชื่อ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนเข็มสอง: บริษัทยาและวิกฤติด้านวัคซีนโควิด-19” (A Double Dose of Inequality: Pharma companies and the Covid-19 vaccine crisis) ซึ่งทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ทำการประเมินหกบริษัทที่เป็นผู้กุมชะตากรรมของประชาชนหลายพันล้านคน ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด (มหาชน) ไบออนเทค เอสอี จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โมเดอร์นา อิงค์ โนวาแวกซ์ อิงค์ และไฟเซอร์ อิงค์ ทำให้เห็นภาพที่เลวร้ายของอุตสาหกรรมที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนลเผยว่า การฉีดวัคซีนให้ประชากรทั่วโลกเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตินี้ได้ ถึงเวลาที่ควรยกย่องบริษัทเหล่านี้ในฐานะวีรบุรุษ ที่สามารถพัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่น่าละอายและเป็นความเศร้าสลดของคนจำนวนมากที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ กลับขัดขวางการถ่ายทอดความรู้ และมุ่งทำสัญญาขายวัคซีนให้กับประเทศร่ำรวย ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนวัคซีนตามที่คาดการณ์ไว้ และสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย

“หลายประเทศในแถบละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชีย ต้องประสบกับวิกฤติครั้งใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพที่อ่อนแออยู่แล้วให้ถึงจุดต่ำที่สุด ก่อให้เกิดการเสียชีวิตที่ควรจะป้องกันได้ของคนจำนวนหลายหมื่นคนในทุกสัปดาห์ ในหลายประเทศที่มีรายได้ต่ำแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงก็ยังไม่ได้รับและเข้าถึงวัคซีน” 

“ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงเหล่านี้ ไบออนเทค โมเดอร์นา และไฟเซอร์ น่าจะมีรายได้รวมกัน 130 พันล้านเหรียญภายในสิ้นปี 2565 ผลกำไรไม่ควรสำคัญเหนือกว่าชีวิตคน” 

เปิดตัวแคมเปญ “นับถอยหลัง 100 วัน” #100DayCountdown

ในวันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดตัวรายงานพร้อมกับเริ่มแคมเปญรณรงค์ระดับโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก และข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อตรวจสอบรัฐและบรรษัทยายักษ์ใหญ่ แคมเปญนับถอยหลัง 100 วัน: วัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 พันล้านโดส ในตอนนี้! เป็นการเรียกร้องตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ที่จะฉีดวัคซีนให้กับ 40% ของประชากรในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำภายในสิ้นปีนี้ เราเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ จัดสรรวัคซีนที่เกินความจำเป็นหลายร้อยล้านโดส ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บไว้เฉย ๆ และให้บริษัทผลิตวัคซีนดำเนินการเพื่อส่งมอบอย่างน้อย 50% ของวัคซีนที่ผลิตได้ให้กับประเทศรายได้ต่ำเหล่านี้ หากรัฐและบริษัทยายังคงดำเนินการตามทิศทางในปัจจุบัน เราย่อมมองไม่เห็นทางที่จะหลุดพ้นจากปัญหาโรคโควิด-19 ได้

“วันนี้เป็นการเริ่มต้นนับถอยหลัง 100 วันก่อนสิ้นปี เราเรียกร้องรัฐต่าง ๆ และบริษัทยาดังกล่าว ให้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานอย่างจริงจัง และดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็น เพื่อส่งมอบวัคซีนจำนวน 2 พันล้านโดสให้กับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำ โดยให้เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เราไม่ควรปล่อยให้ใครต้องทนทุกข์ทรมาน และอยู่กับความหวาดกลัวต่อไปอีกหนึ่งปี”

“บริษัทยาได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีของประชาชนหลายพันล้านเหรียญ และยังได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ จนทำให้พวกเขากลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนที่สามารถช่วยชีวิตคนได้ แต่ตอนนี้ พวกเขาต้องดำเนินการส่งมอบวัคซีนหลายพันล้านโดสให้กับประชาชนโดยทันที เพื่อให้มีคนได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการจัดสรรวัคซีนที่เป็นธรรมและรวดเร็ว บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องให้ความสำคัญกับการส่งมอบให้กับประเทศที่ต้องการใช้วัคซีนมากสุด และต้องระงับการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ต้องถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี และอบรมให้ผู้ผลิตที่มีคุณสมบัติสามารถช่วยเร่งการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้”

ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนเตรียมประกาศพันธกิจใหม่ในที่ประชุมสุดยอดที่เกิดขึ้นวันนี้ เพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส รวมทั้งการฉีดวัคซีนให้กับ 70% ของประชากรโลกภายในเดือนกันยายนปีหน้า แอกเนส คาลามาร์ดกล่าวว่า

“เราต้องจัดสรรวัคซีนโควิด-19 และทำให้เกิดการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและบริษัทยาที่จะทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ เราต้องการผู้นำอย่างประธานาธิบดีไบเดน เพื่อระดมวัคซีนหลายพันล้านโดส และเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่าและเราอาจต้องสูญเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ประกันว่า บุคคลทุกคนต้องสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลและยารักษาโรคในปริมาณที่มากพอ เข้าถึงได้ ยอมรับได้ และมีคุณภาพ โดยต้องมีการออกกฎหมายและนโยบายเพื่อประกันว่าบริษัทยาจะปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เขียนจดหมายถึงแต่ละบริษัท ก่อนจะเปิดตัวรายงานฉบับนี้ และได้รับจดหมายตอบกลับจากห้าบริษัท ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์นา ไฟเซอร์ ไบออนเทคและจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน บริษัทเหล่านี้ยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดสรรวัคซีนที่เป็นธรรมและเท่าเทียม โดยเฉพาะสำหรับประเทศรายได้ต่ำ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถปฏิบัติตามอุดมการณ์และความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนได้