Back

ชีวิตเกษตรกร

30 August 2021

1719

ชีวิตเกษตรกร

เมื่อเช้านั่งสนทนาปรับทุกข์ปรับสุขกันตามประสาคนบ้านนอก  วิถีเกษตร ว่าปีนี้ก็เหมือนทุกๆ ปี คือ ไม่ได้อะไรอีกแล้ว ฝนฟ้า ซ้ำเติม กระหน่ำตีเช่นเดิม ข้าวแคะแกร่น ฝนแล้ง ยาวนาน ลงทุนไปหลายหมื่น ไม่น่าจะได้คืน อีกแล้ว

ความทุกข์ระทม ชอกช้ำใจของเกษตรกร มีแค่เรื่องเดียว คือเรื่องฝนฟ้ากับราคา เรื่องราคา เอาเข้าจริงๆ ถูกบ้างแพงบ้าง ก็เข้าใจ ทำใจได้กว่า อย่างน้อยผลผลิตจากผืนดิน ยังดกดื่น  ก็มีกำลังใจ ไว้ปีหน้า ราคาอาจจะดี แต่ถ้า ปลูกอะไรก็ตาย หว่านอะไรก็แกร็น ไม่ได้ผลผลิต ราคาดียังไง ก็สิ้นหวัง ...

ผมทยอยสละงานเกษตรมา 3-4 ปี หลังจาก สู้สุดฤทธิ์มาพักใหญ่ๆ ซึ่งค้นพบว่า ภาคเกษตร ปัญหาใหญ่ๆ มี 3 เรื่อง คือ ปัญหาธรรมชาติ ปัญหาต้นทุนและวิธีการ และปัญหาราคา เราเป็นเกษตรกรรายย่อย มีที่ดิน 10-25 ไร่ เป็นส่วนใหญ่ การลงทุนต่างๆ จึงไม่คุ้มทุน เพราะใช้เครื่องจักร ทำก็ไม่คุ้ม ใช้แรงงานคน ก็ไม่มี ปัจจุบัน ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะบุตรหลานในชุมชน ไม่มี มีน้อย  และไม่ทำงานเกษตร ทำให้ทุกครัวเรือนจำต้องหาแรงงานรับจ้างมาเสริม นั่นคือปัญหาต้นทุน อันดับแรก สภาพที่ดินที่ขาดการบำรุงมายาวนาน จึงขาดความอุดมสมบูรณ์ นำมาสู่ การเพิ่มปุ๋ย เพิ่มยา เพิ่มสารกระตุ้นพืช เป็นต้นทุนอันดับที่สอง ลงทุนเต็มที่ แต่ฝนฟ้าไม่อำนวย ผลผลิตก็กระท่อนกระแท่น แกร็นแคะ ผลผลิตต่ำ และพอไปถึง ตลาดกลับพบว่า ราคาต่ำกว่าต้นทุนมาก อาทิ ข้าว ที่ราคาตกต่ำ มา 7-8 ปี ต่อเนื่อง และก็ยังไม่มีแนวทาง อื่นใด ที่เป็นทางออก

ผมทำนา ปลูกข้าวดั้งเดิม ( ผกาอำปึล)  ถ้าขายตามราคาตลาด 1 ตัน จะได้ไม่ถึงหมื่นบาท แต่ต้นทุนผม จนเสร็จสิ้นการก็บเกี่ยวอยู่ที่ 18,000-20,000 บาท ถ้าผมเอาไปสีและขาย  จะได้ 400X50 = 20,000 บาท  กก.ละ 50 บาท

ผม พูด เขียน เรื่องแปรรูปมา ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ว่าเป็นทางเดียวที่จะรอด คือ แปรรูป  ที่มาอยู่ที่นี่ ต้นทุนและปัจจัยการผลิตของเรา เดินตามต้นทุนจริงมานานแล้ว แต่เรายังทำเกษตรแบบวัฒนธรรม ทำตามๆ กัน และ ก็หาเงินจากทางอื่น กู้ ยืม และเงินลูกๆ หลานๆ ส่งมาให้ มาลงทุน ความล่มจมของภาคเกษตร มาจากการปรับตัวของราคาผลผลิต ทำไม่ได้ ในขณะที่ ค่าแรงขั้นต่ำ ขยับทุกปี ราคาน้ำมัน ค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ขยับทุกปี ค่าครองชีพ ต่างๆ ขยับทุกปี

แต่งานแปรรูป ก็เต็มไปด้วยอุปสรรค ขวากหนามสำคัญเยอะมาก อันดับแรกเลย คือ เรื่องประสบการณ์ เกษตรกร ให้เปลี่ยนแปลงจากทำเกษตรกรเฉื่อยๆ เดิมๆ รู้แค่เรื่อง ปลูกและขนไปขาย ให้ มาทำการค้า ทำตลาด ทำโฆษณา การบริหาร และการบริการ เป็นเรื่องที่ยาก หรือ แทบไม่มีทางเป็นไปได้ หนทางเดียวที่พอจะมีโอกาส คือ การพัฒนาคนรุ่นใหม่ ให้หันมาประกอบการ รวมถึงกองทุน เงินทุน ที่สนับสนุน ต่อเนื่อง ไม่ใช้ก้อนเดียว จบ!! 

งานแปรรูป ในท้องถิ่นส่วนมากไปอิงกับ พช. (พัฒนาชุมชน) ซึ่งดูแล นโยบายโอท็อป ( OTOP ) ปัญหาใหญ่เลย คือ รัฐบาล ไม่ทุ่มเท งานนี้ ทั้งๆที่นี่ สำคัญมาก ควรยกฐานะเป็นกระทรวง ด้วยซ้ำ อีกทั้ง ข้าราชการมีข้อจำกัด ในการทำงาน คือ สนองนโยบาย ส่วนกลาง แถมไม่ชำนาญเรื่องตลาด การแนะนำจึงมีโอกาส พาชาวบ้าน เข้ารกเข้าพง เสียเวลา เสียเงิน เสียสายสัมพันธ์ ( ปัญหาชาวบ้าน พออะไรล้มเหลว ก็จะโทษกัน ด่ากัน  หรือ สำเร็จมากๆ ก็จะแย่งกันอีก ) และเสียกำลังใจ  คือ ไม่เอาแล้ว ไม่เชื่อแล้ว ไม่ทำแล้ว ทั้งๆ ที่ความจริง การทำธุรกิจ มีแค่ 2 คำตอบ คือ ขายได้ กับ ขายไม่ได้ ขายไม่ได้ เพราะของไม่ดี หรือ อ่านตลาดผิด ก็แค่อ่านใหม่ หรือ ปรับปรุงสินค้า

การขาย ในแง่หนึ่ง ก็เหมือนการวิจัย คือ ได้การออกไปรับฟัง เสียงลูกค้า ได้รู้ถึงรสนิยม ความต้องการ ความชมชอบ ของลูกค้า กว่าจะถูกยอมรับ บางทีก็ต้องใช้เวลา ด้วย

อุปสรรคใหญ่ของแปรรูป คือ กฎหมาย และ หน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้อง จำพวกมาตรฐาน อย. มผช. เป็นต้น

กฎหมายไทย คือ อุปสรรคใหญ่ ที่กด ปิดกั้น ไม่ให้ อุตสาหกรรมครัวเรือน หรือ ชุมชน โตไม่ได้ ทำไม่ได้ ไปไม่ได้ อย่างกรณี ไวน์De Simone  เมื่อวานซีน ผมจดหมายไปถามหัวหน้าฝ่ายจัดเก็บ สรรพสามิตจังหวัด ว่า ไวน์ของผมมีอาการ “เปรี้ยว” และ มีกลิ่น “ส่า” อันมาจากอุณหภูมิที่สูง และยีสต์ทำงาน สู้แบคทีเรียไม่ได้ ผมต้องใช้ความเย็น หมายถึง ตู้เย็น มาช่วย เพื่อให้ใช้ความเย็น ในการรักษาอาการไวน์เป็นน้ำส้ม  ซึ่งคำตอบ คือ “ไม่ได้”  เพราะเกินแรงม้า ที่กฎหมายกำหนด กฎหมายไทย กำหนดให้ วิสาหกิจชุมชน ใช้เครื่องจักร เครื่องมือ รวมกัน ได้ไม่เกิน 5 แรงม้า ซึ่ง กำลังขนาดนี้ ใช้เตาแก๊ซปิกนิก ยังไม่ได้เลย !! 

ไม่นับรวม กฎหมายจำพวกมาตรฐาน ต่างๆ ที่เราจะต้องลงทุน เพื่อให้ได้ ใบรับรอง แน่นอนการพัฒนา กระบวนการผลิต การควบคุมให้ได้มาตรฐาน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำ แต่คลี่คลายข้อกฎหมายให้เอื้อสำหรับรายเล็ก หรือ ทำงานเชิงรุก เข้าถึง ติดตาม ผลักดัน ร่วมด้วย

ไม่นับรวมมาตรการเรื่องภาษี รายย่อย รายใหม่ แบรนด์บ้านนอก อย่าง De Simone ไม่มีทางทำตลาดได้ง่าย เนื่องจาก ไม่ระบบสายส่ง ไม่มียี่ปั้ว ซาปั้ว ไม่มีห้าง ร้าน รองรับ ดังนั้น การใช้มาตรการภาษี  สนับสนุนทุน รวมถึงงานวิจัย พัฒนา  การใช้ทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้อง จะต้องทำให้จริงจัง ให้ไว ให้ได้ผลกว่านี้ ผมทำมา 5 ปี แล้วยังไม่เห็นบทบาทราชการ ที่ทำงาน ต่อเนื่องจริงจัง เลย

นี่ไม่นับรวมกฎหมาย อื่นๆที่ เป็นอุปสรรคโดยตรง อาทิ กฎหมายห้ามขายออนไลน์ กฎหมายห้ามโฆษณา ซึ่งบังคับ ควบคุม แบบครอบจักรวาล ผลิตภัณฑ์จำพวก ไวน์ ผลไม้ ต้องมีการสาธยาย ข้อดี ข้อเด่น หรือเอกลักษณ์ ของสินค้า ซึ่งก็คือ  “สี กลิ่น รส” และกระบวนการอันปรานีต คือหัวใจของการทำตลาด การแข่งขัน การอยู่รอด ดังนั้น การห้ามขาย ห้ามสาธยาย สภาพผู้ประกอบการอย่างเรา ก็เหมือน ขายถ่าน แหละ ครับ...

.

 

โดย เกษตรกร ขบถ แห่งไร่ทวนลม

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112