ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

ชาวบ้านต้านเหมืองเข้าพบผู้ว่าฯ จ.กาฬสินธุ์ ชี้แจ้งปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา  ชาวบ้านกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองและชาวบ้านตำบลนาโก อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังจากที่ตัวแทนชาวบ้านได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านและขอให้ยกเลิกประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่อง ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่แก้ว 2 แปลง คือ คำขอที่ 2/2563 ของบริษัท แทนซิลิก้า จำกัด ในพื้นที่ตำบลเหล่าไฮงาม และคำขอที่ 3/2563 ของบริษัท แซนด์ไมนิ่ง จำกัด ในพื้นที่ตำบลนาโก อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อนายวศิน ศุภพิสุทธิ์ อุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 64 และยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตามที่ชาวบบ้านร้องเรียน

          โดยในเวลาประมาณ 08.00 น. ก่อนที่ชาวบ้านจะเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเข้าพบและยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ ชาวบ้านได้ตั้งจุดตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 เพื่อทำการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด -19 อย่างเข้มงวด โดยการให้ชาวบ้านทุกคนลงทะเบียน วัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และใส่หน้ากากอนามัยก่อนที่จะเดินทาง และเมื่อเดินทางไปถึงศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ชาวบ้านก็ได้ตั้งขบวนแบบเว้นระยะห่างทางสังคม พร้อมเดินถือป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า “หยุด! กระบวนการเหมืองเถื่อน” “ ล็อคดาวน์ โดวิด-19 ระรอก 3 รัฐ+ นายทุน ฉวยโอกาศเดินหน้าเหมืองแร่ทรายแก้วกาฬสินธุ์” เป็นต้น ไปยังอาคารศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเมื่อชาวบ้านเดินไปถึงเจ้าหน้าที่ก็ได้เชิญชาวบ้านไปยังห้องประชุมฟ้าแดดสูงยาง ชั้น 2 ของอาคารศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อพูดคุยชี้แจ้งปัญหาและผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทรายแก้วต่อผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

          ซึ่งในเวลา 09.37 น. นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ได้เข้ามาภายในห้องประชุมเพื่อพูดคุยกับตัวแทนชาวบ้านที่นั่งรออยู่ในห้องก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ดังนี้ เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดกาฬสินธุ์ และนายอำเภอกุฉินารายณ์ เมื่อเริ่มการประชุมนายทรงพลได้กล่าวในที่ประชุมว่า “เรามาคุยกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวผมยังไม่ค่อยได้ทราบข้อมูลเพราะไม่ได้จับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น และวันนี้เข้ามาเองก็อยากจะมาทราบข้อมูลด้วย”

          นายบุญถม ทะเสนฮด ชาวบ้านกลุ่มฅนนาโกไม่เอาเหมืองแร่ได้กล่าวต่อผู้ว่าฯ ว่า “การประกาศว่าจะทำเหมืองแร่บริเวณพื้นที่ตำบลนาโกนั้น พื้นที่ดังกล่าวเป็นตาน้ำเป็นแหล่งกำหนดของห้วยแก่งคำบอน ซึ่งมีน้ำไสไหลตลอดปีถ้าไปทำเหมืองแร่ทรายแก้วแล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียหาย แหล่งทำมาหากินของชาวบ้านก็จะเสียไป ที่สำคัญยังผิดต่อพระราชบัญญัติแร่ ปี 2560 มาตราที่ 17 วรรคสี่ ห้ามไม่ให้ทำเหมือง และตำบลนาโกยังเป็นตำบลที่มีข้าวเหนียวขาวเขาวงกาฬสินธุ์ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณภาพหากทำเหมืองก็จะทำให้พื้นที่ทำมาหากินของเราไม่มีและเสียหาย ถนนก็จะเสียหายทรุดโทรมทำให้เกิดอุบัติเหตุ เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ เราเห็นแก่ลูกหลานในอนาคตของเราต่อไป น้ำที่เคยไหลก็จะไม่ไหล เพราะตำบลนาโกเป็นอู่ข้าวอู่น้ำไม่แล้งไม่ท้วม อยากให้คนในหมู่บ้านอยู่ดีกินดี อาชีพในหมู่บ้านก็มี ขายข้าวก็มีเงินเลี้ยงครอบครัว ถ้าขายแร่ทรายก็ไม่ทราบว่าชาวบ้านจะได้อะไรจากการประกิจการเหมืองแร่ทรายแก้ว ฉะนั้นที่ชาวบ้านมาในวันนี้ก็อยากจะผู้ว่าฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดเพิกถอนและยุติการทำเหมืองทรายแก้ว”

          ขณะที่นางสาวสรวีย์ พลกุล ชาวบ้านกลุ่มฅนนาโกไม่เอาเหมืองแร่ได้กล่าวเสริมว่า “ตาน้ำของภาคอีสานแตกต่างจากภาคอื่น ที่มีลักษณะเป็นตาเล็ก ๆ แล้วมีน้ำผุด ซึ่งจุดที่เป็นน้ำผุดคือจุดตรงห้วยแก่งหลงที่จะห่างจากจุดทำเหมืองแร่ไม่เกิน 100 เมตร ซึ่งจะอยู่ในรัศมีที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งน้ำบ่อที่เป็นนำผุดในภาษาภูไทเรียกว่าน้ำสร้างที่มีหลาย ๆ จุดที่ผุดขึ้นมาร่วมกันเป็นแม่น้ำจากสายเล็กแล้วกลายเป็นสายใหญ่ พอฤดูแล้งน้ำน้ำในจากภูเขาจะไม่มีแล้ว แต่น้ำในจุดนี้ไม่เคยแห้งเลย เราจึงสามารถระบุได้ว่าเป็นน้ำซับซึม หนึ่งเราใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน สองเราใช้บุคคลอ้างอิง สามประวัติศาสตร์ตำบลนาโกระบุอยู่แล้วว่าแก่งคำบอนหรือแก่งหลงเป็นจุดของน้ำซับซึมที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นตายาย แล้วสิ่งที่อยากมาพูดในวันนี้ก็คือมีหนังสือของจังหวัดที่บอกว่ากรมทรัพยากรเข้าไปตรวจสอบและนิยามว่าแก่งคำบอนไม่ใช่แหล่งน้ำซับซึม และการลงไปพื้นที่เพื่อตรวจสอบทำไมไม่แจ้งให้ชาวบ้านรับทราบและให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม เราอยากรู้เหตุผลหรือหลักการพิจารณาว่าหน่วยงานใช้อะไรในการพิจารณาว่าไม่ใช่ ทั้งที่ในพื้นที่ของเรามีทั้งพยานบุคคล ประวัติศาสตร์ และเอกสารตรงนี้ชาวบ้านก็ไม่ยอมรับ”

          ด้านนางสาวสุเพลิน พลวัฒน์ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่และมีพื้นที่ทำนาติดกับเขตพื้นที่คำขอทำเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ตำบลเหล่าไฮงามได้กล่าวว่า “พื้นที่ขอประทานบัตรเป็นแหล่งต้นน้ำซึ่งเป็นเสมอสายเลือดของชาวบ้านตำบลเหล่าไฮงามที่มีให้ใช้ตลอดทั้งปีที่ชาวบ้านใช้ปลูกพืช ใช้เลี้ยงสัตว์ และเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ซึ่งก็ได้ทราบมาว่าเจ้าของบริษัทที่ขอทำเหมืองจะใช้น้ำใต้ดินในการแต่งแร่ ซึ่งมีความกังวลว่าการใช้น้ำระยะเวลา 20 ปี จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำลำธารและระบบนิเวศ จะไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค เพราะปกติเราก็ประกาศเป็นเขตภัยแล้งที่ขาดแคนน้ำอยู่แล้วในฤดูแล้ง และการทำเหมืองแร่ทรายแก้วเขาได้แจ้งว่าเป็นการทำเหมืองแร่แบบระบบหาบขันบันไดลึก 12 เมตร จากเนื้อที่ที่คำนวณปริมาณดินโดยเปรียบเทียบกันพื้นที่บ้านนาคำข่า ปริมาณดินที่มีอยู่ในประทานบัตรจะใช้ได้แค่ 5 ปีเท่านั้น แต่ทำไมถึงขอ 20 ปี สมควรไหมที่จะขอถึงระยะเวลานั้น ดังนั้นพื้นที่เหล่าไฮงามของเราไม่สมควรที่จะเป็นเขตเหมืองแร่เพราะเราเป็นที่ราบเชิงเขา หน่วยงานบอกว่าเขามีสิทธิที่จะทำประโยชน์ในที่ดินของเขาแต่เราผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียบริเวณข้างเคียง เรามีสิทธิที่จะปกป้องตัวของเรา ปกป้องสิทธิของชุมชนเราไหม”

          นางสาวเพรชรแสง พุทธผาย ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อปี 2561 ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าจะมีการมาทำเหมืองที่พื้นที่ตำบลเหล่าไฮงามและได้มีการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทรายแก้ว มีการขุดขนดินจากนอกพื้นที่แล้วเอามากองไว้ในคำขอประทานบัตร อีกส่วนหนึ่งเอาไปพักไว้ที่พื้นที่ที่บอกว่าเช่าคือพื้นที่ของชาวบ้าน ชาวบ้านรู้หลังจากที่เขามาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจึงได้รู้ว่าจะมีเหมืองเกิดขึ้นในพื้นที่ จึงคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นและมายื่นหนังสือให้ผู้ว่าฯ คนเดิม และได้มีคำสั่งยกเลิกคำขอทั้ง 2 แปลงให้ชาวบ้านในตอนนั้น แล้วในปี 2563 เขาก็กลับมาขอประทานบัตรอีกครั้งที่เดิมที่มีข้อพิพาท โดยที่การสอบสวนเรื่องเหมืองแร่ทรายแก้วเถื่อนในตอนนั้นยังไม่มีที่สิ้นสุดและยังไม่มีเอกสารรายงานใด ๆ ทั้งสิ้น”

          ทั้งนี้นายบุญถม ทะเสนฮด ชาวบ้านกลุ่มฅนนาโกไม่เอาเหมืองแร่ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “หนึ่ง ขอให้เพิกถอนคำขอประทานบัตร สอง อุตสาหกรรมจังหวัดทำไมถึงรวบรัดตัดตอนไม่แจ้งให้ชาวบ้านได้ทราบหรือให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตรวจสอบแหล่งน้ำซับซึม ควรพิจารณาทุกส่วนว่าเขารับหรือไม่รับ อุตสาหกรรมพิจารณายังไงถึงอนุญาตให้เขา ดังนั้นให้อุตสาหกรรมพิจารณาตัวเองว่าเหมาะสมหรือไม่ที่ทำให้ชาวบ้านเข้าเดือดร้อน ประชาคมก็ไม่ได้ เพราะติดโควิด-19 ดังนั้นขอให้ผู้ว่าพิจารณาย้ายอุตสาหกรรมแล้วเอาอุตสาหกรรมคนใหม่เข้ามา เพราะชาวบ้านของเราไม่มีส่วนร่วมด้วยเลย”

          ด้านนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้กล่าวต่อชาวบ้านว่า “การยื่นคำขอประทานบัตร ผู้ยื่นคำขอก็มีสิทธิที่จะยื่นคำขอ ส่วนการพิจารณาคำขอก็เป็นไปตามกระบวนการขอของหน่วยงานนั้น ๆ วันนี้ได้รับฟังข้อมูลจากชุมชน สิทธิชุมชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องพึ่งมี ที่ให้ชุมชนต่าง ๆ ร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ฉะนั้นการจะทำอะไรกฎหมายต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงสิทธิของชุมชนนั้นด้วย ในเมื่อยังมีปัญหาอยู่ก็คงจะไม่สามารถที่จะให้หน่วยงานเดินหน้าทำตามคำขอของผู้ประกอบการโดยที่ยังไม่ได้ตอบคำถามของชุมชน คงต้องขอให้มีการตรวจสอบกระบวนการใหม่ทั้งหมดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมิใช่แค่หน่วยงานอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันจะเชิญผู้ที่ยื่นคำขอมายื่นยันคำประสงค์ว่าจะยืนยันประสงค์ขอรับระทานบัตรในพื้นที่นั้น ๆ อยู่อีกหรือไม่ หรือจะดำเนินการยกเลิกคำขอ แล้วจะนำมาแจ้งให้ชาวบ้านได้ทราบ และสิ่งที่จะยืนยันก็คือช่วงนี้เป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การจะจัดให้มีการประชุมใด เช่น การประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ของทางอุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบของการได้มาซึ่งประทานบัตรยังไม่สามารถจัดได้ เนื่องจากมีคำสั่ง ศบค. โดยรัฐบาลว่าจังหวัดเราเป็นพื้นที่สีแดง ที่ควบคุมสูงสุด ใครจัดประชุมถือว่าผิดกฎหมายไม่ยอมรับ ยืนยันว่าประชุมเพื่อที่จะทำประชามติใด ๆ เพื่อที่จะแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ทำไม่ได้จนกว่าสถาณการณ์โควิดจะผ่านพ้นไป”

          ทั้งนี้หลังจากนั้นชาวบ้านกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองและชาวบ้านตำบลนาโกก็ได้ทำการยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกคำขอประทานบัตรที่ 1/2561 ของห้างหุ้นส่วน บัวขาวคลังแก้วจำกัด คำขอประทานบัตรที่ 2/2563 ของบริษัทแทนซิลิกาจำกัด ในพื้นที่ ตำบลเหล่าไฮงาม อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และขอให้เพิกถอนคำขอประทานบัตรและขอให้ยกเลิกประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่องขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ของบริษัทแซนด์ไมนิ่งจำกัด คำขอที่ 3/2563 ในพื้นที่ ตำบลนาโก อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

 

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาเผยแพร่

 

ด้วยความเคารพ

ชาวบ้านกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองและชาวบ้านตำบลนาโก จ.กาฬสินธุ์