ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

นักวิชาการระบุ เสรีภาพในการแสดงออกช่วงโควิด-19 ทรุดหนักกว่าเคย   แนะต้องแก้การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาท 

 

 

นักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนเผย สถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกและข้อมูลข่าวสารในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง และซ้ำหนักในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ระบุในรอบปีที่ผ่านมามีการดำเนินคดีและจับกุมผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาดที่ไม่ได้มาจากรัฐมากขึ้น ทั้งรัฐยังใช้ข้ออ้างเรื่องโรคระบาดมาสร้างข้อจำกัดไม่ให้ประชาชนรวมตัวกันชุมนุมเพื่อเรียกร้องประเด็นต่างๆ ตามหลักการประชาธิปไตยไม่ได้ แนะให้มีการพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อให้ประชาชนแสดงความเห็นได้อย่างมีอิสระ อันจะส่งผลดีต่อตัวรัฐบาลและประเทศเอง 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยร่วมกับ  คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) องค์กร ARTICLE 19 และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา เมื่อต้องพูดความจริงกับผู้มีอำนาจ” การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและข้อมูลข่าวสาร ในห้วงที่มีการระบาดของโควิด - 19 ในประเทศไทย เนื่องจาก ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญหน้ากับปัญหาการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างหนักโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีประชาชนหลายคนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลแต่กลับถูกดำเนินคดี งานเสวนาครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อย้ำให้เห็นถึงปัญหาการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย  

 

คาเทีย ชิริซซี รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเปิดงานว่า สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีระบุไว้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเป็นหลักการสำคัญในสังคมประชาธิปไตยด้วย อย่างไรก็ตาม สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบอาจถูกจำกัดในวิกฤติเช่นนี้ แต่รัฐยังต้องเคารพหลักการความชอบธรรมในกฎหมายต่างๆ โดยในสภาวะโรคระบาดเช่นนี้ ทุกคนควรได้รับข้อมูลและการรับมือต่อวิกฤติอย่างไม่มีข้อยกเว้น นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติหรือ UN ยังแสดงความกังวลต่อศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในไทยที่พุ่งเป้าไปยังคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐจนสร้างบรรยากาศให้ประชาชนต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง  

 

"ในห้วงเวลาที่ไม่แน่นอน พลเมืองย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความกังวลของตน ทุกคนต้องได้รับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกต่อประเด็นต่างๆ ทั้งนี้ UN ออกคำแนะนำต่างๆ ว่า กฎหมายอาญานั้นควรใช้ในกรณีที่รุนแรงอย่างที่สุดเท่านั้น เช่น การยุยงปลุกปั่นหรือจงใจสร้างความเกลียดชังอย่างรุนแรง และต้องไม่ใช้โรคระบาดเพื่อจำกัดความเห็นต่างจากประชาชน" คาเทียกล่าว 

 

ปัญหาการใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นในไทย 

อานนท์ ชวาลาวัณย์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw กล่าวว่า จากการชุมนุมบนท้องถนนที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 นั้นมีการแสดงความเห็นหลายประการที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต่างๆ ไม่สบายใจ ขณะที่ในโลกอินเตอร์เน็ตก็มีการเปิดกลุ่มตลาดหลวงที่คุยเรื่องการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก ซึ่งมีทั้งคนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในกลุ่ม โดยมีลักษณะที่ประชาชนเป็นผู้รวบรวมข้อมูลแล้วส่งต่อในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง ทำให้หลายคนรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งอีกฝ่ายก็โต้กลับด้วยการกระทำเช่นเดียวกัน และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งอันตรายในอนาคตได้ 

 

"อย่างไรก็ตาม ในแง่การจัดการชุมนุม ที่ผ่านมาแม้อยู่ในช่วงโรคระบาดแต่ก็มีการชุมนุมรำลึกของคนเสื้อแดงในหลายๆ ที่และมีการบริหารค่อนข้างดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยแสดงเสรีภาพและควบคุมโรคไปพร้อมๆ กัน แต่เมื่อมีกรณีการชุมนุมจากการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวชาวไทย จะพบว่าสถานการณ์การชุมนุมก็เข้มข้นและตึงเครียดมากขึ้น ในระยะหลังคนที่ออกมาชุมนุมก็ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 หรือมาตรา 112 ซึ่งตอนนี้มีจำนวนผู้ดำเนินคดีจากคดี 112 เยอะมาก ทั้งที่หลายคนนั้นเพียงแต่ตั้งคำถามเรื่องการใช้งบประมาณของรัฐในการให้งบด้านสาธารณะสุขกับงบสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น กลับถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ทั้งที่เป็นการวิจารณ์รัฐ ไม่ใช่การวิจารณ์สถาบัน" อานนท์กล่าว 

 

นอกจากนี้ อานนท์ยังขยายความว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงมากขึ้น มีคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐซึ่งบางครั้งอาจมีการใช้คำด่าหยาบคาย ภาครัฐควรนำเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้กลับไปทบทวนนโยบายของตน และควรเข้าใจว่าว่าบางครั้งเมื่อประชาชนแสดงความโกรธที่ไม่ได้นำไปสู่ความเสียหายใหญ่โตหรือมีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้คนเชื่อ การให้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนอาจเป็นการบรรเทาสถานการณ์ความตึงเครียดได้มากกว่าการไปไล่ดำเนินคดี  

 

บทบาทของสื่อในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 

วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ผู้ดำเนินรายการเจาะข่าวตื้น กล่าวว่า ที่ผ่านมาการคุกคามประชาชนและสื่อก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาในยุคโควิด-19 ตนก็เคยโดนข้อหาดูหมิ่นพนักงานซึ่งเกี่ยวข้องกับนายกฯ โดยมีการกล่าวว่าตนใช้คำหยาบคายและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ การที่สังคมเป็นเผด็จการและถูกปล้นประชาธิปไตยไป จึงเท่ากับว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักประชาธิปไตยสูญหายไปด้วย 

 

"ตอนนี้เราอยู่ในสังคมเผด็จการที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจเลือกใช้ดุลพินิจสูงมาก ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจนถึงอัยการ ที่น่ากังวลคือเรื่องการใช้เงินภาษีประชาชนในการคุกคามประชาชนผ่าน IO ที่ผ่านมาก็มีการจัดสรรงบให้ฝ่ายความมั่นคงสูงขึ้นเรื่อยๆ และตรวจสอบได้ยากมากยิ่งขึ้น มีการใช้ทรัพยากรของรัฐในการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงและมุ่งโจมตีคนที่กำลังทำงานเพื่อสังคมหรือแม้แต่สื่อเอง"  

 

“ผมรู้สึกอึดอัดเพราะกลับกลายเป็นว่าเราต้องหันไปหาหรือส่งเสียงจากองค์กรระดับสากลมากกว่าเพราะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสื่อหรือสิทธิมนุษยชนในไทยนั้นไม่สามารถฝากความหวังไว้ได้ รู้สึกว่าสื่อในไทยทำงานได้จำกัดตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 หรือคือวันที่มีรัฐประหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคลื่อนไหวเพื่อไปจับกุมคนที่ทำรัฐประหาร รัฐราชการเองก็ไม่ยอมขยับทำอะไรเพื่อประชาชนเลย ขณะที่ประชาชนออกมาคัดค้านและดิ้นรนกันเอง จึงรู้สึกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพในไทยยังวิกฤติอยู่มาก”  

 

วิญญูกล่าวเสริมต่อประเด็น “ปฏิบัติการข่าวสาร” หรือไอโอ (Information Operation หรือ IO) ว่า ตอนนี้เราอยู่ในสังคมที่เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องฟังประชาชน เมื่อประชาชนและสื่อพยายามเสนอข้อมูลที่ถูกต้องกลับเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี นับเป็นสภาวะวิกฤติอย่างรุนแรง ทำให้สื่อที่พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดยิ่งทำได้ลำบากเพราะอยู่ในสังคมเผด็จการ 

 

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและการควบคุมข่าวปลอม 

ภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า เชื่อว่าประเทศไทยให้เสรีภาพในการแสดงออกทางออนไลน์มากที่สุดติด 1 ใน 10 ของโลก เนื่องจากให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ทั้งหมด การแสดงออกในอินเตอร์เน็ตก็เป็นเรื่องเปิดกว้าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเน้นส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน เน้นผลักดันการส่งเสริมอินเตอร์เน็ตให้เข้าถึงประชาชนทุกคน ทั้งนี้ การแสดงออกต่างๆ ทำให้เกิดข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์มากขึ้นจนต้องมีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมโดยพยายามยึดหลักสากลมากที่สุดในการดำเนินงาน ทั้งนี้ การจะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้นั้นต้องมีองค์ประกอบคือ 1. เป็นการเข้าถึงระบบโดยมิชอบหรือเจาะระบบ 2. การเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหาย 3. การนำเข้าซึ่งข้อมูลบิดเบือน เป็นเท็จบางส่วนหรือทั้งหมดที่กระทบต่อประชาชน โครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน 

 

"การดำเนินการจับกุม ฟ้องร้องคดีนั้นมีการประชุมทุกวันจากสี่ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายเจ้าหน้าที่ หน่วย ปอท. และหน่วย สอท. มาพิจารณาว่าผิดจริงหรือไม่ จะเห็นว่าปัจจุบัน โลกออนไลน์ที่มีเฟกนิวส์มาจากการที่ทุกคนมีเสรีจนเกินไปด้วยซ้ำ คือสามารถสมัครเฟซบุ๊กโดยใช้ตัวตนปลอมก็ได้ นี่เป็นปัญหาที่ประชาชนต้องช่วยกัน นอกจากนี้ ประชาชนบางกลุ่มก็ยังไม่เท่าทันเฟกนิวส์ ทุกภาคส่วนต้องช่วยประเด็นนี้ด้วยกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ต่อประชาชน" ภุชพงค์กล่าว  

 

และว่าจุดประสงค์ของกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อแจ้งว่าข่าวใดปลอมบ้าง มีหน้าที่ในการรวบรวมหลักฐานในการสืบค้น พิสูจน์ตัวตนและต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย 

 

"อย่างไรก็ตาม หากเฟกนิวส์เกิดจากงานราชการเอง แต่ละหน่วยคือกระทรวง ทบวง กรมก็มีหน้าที่ไปชี้แจงเอง ให้เป็นข่าวที่ออกมาจากภาครัฐ แต่ถ้าข่าวที่มาจากสังคม สื่อมวลชน วิชาการ ก็ต้องให้แต่ละฝ่ายออกมาชี้แจงและทำความเข้าใจด้วยตัวเอง อยากเน้นว่าอย่าเอากระแสโซเชียลเป็นหลัก แต่ให้ช่วยกันพูดความจริง เช่น ประเทศจีนใช้วัคซีนซิโนแวคมีอัตราการติดต่อน้อยเพราะประชาชนมีวินัย เพราะประชาชนรู้สิทธิและหน้าที่ของตัวเอง ขณะที่ปัจจุบันบ้านเราคนรู้สิทธิของตัวมากกว่าหน้าที่" ภุชพงค์ปิดท้าย 

 

 

 

การแสดงความเห็นได้อย่างเสรีเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย 

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนดีขึ้นและให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน โดยที่ผ่านมา กสม. ได้มีนโยบายออกมาที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ช่วงนี้ คือเน้นการคุ้มครองด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม มุ่งไปที่การแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดจากโครงสร้าง และการส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างเป็นเรื่องสำคัญ  

 

"ที่ผ่านมามีการการแสดงความเห็นของนักร้อง ดาราหรือมีชื่อเสียง คิดว่าประชาชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะสถานการณ์โควิดที่ทุกคนเป็นห่วงสุขภาพและชีวิตของตน การจะใช้มาตรการในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ไม่ว่าในทางใดก็เป็นสิ่งไม่สมควร"  

 

วสันต์เสริมว่า โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการที่มีคนไปร้องทุกข์แจ้งความเพื่อจะดำเนินคดีกับทางประชาชนไม่ว่าจะด้วยข้อหาหมิ่นประมาทหรือนำเข้าข้อมูลเป็นเท็จใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คิดว่าประชาชนควรได้รับรู้ข่าวสารเพราะเป็นสิทธิด้านสุขภาพและสิทธิได้รับข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา หากภาครัฐเกรงว่าประชาชนจะได้รับข้อมูลที่ผิดก็ต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา 

 

"เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นรากฐานของประชาธิปไตย และสิทธิในการคิดและการให้ความเห็นก็เป็นเรื่องที่ควรได้รับการส่งเสริม ในอีกแง่หนึ่งคือ ประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นต่อฝ่ายการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในการเข้ามาบริหารบ้านเมือง ฝ่ายการเมืองจึงควรรับฟังและคำความเห็นเหล่านี้ไปพิจารณาปรับปรุงตัวเอง การไปปิดกั้นจะทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา คือทำให้ประชาชนเซ็นเซอร์ตัวเอง ทำให้สังคมมืดบอด วันหนึ่งก็อาจปะทุขึ้นมาได้ ส่วนอะไรที่เป็นเรื่องเท็จ ไม่ถูกต้อง ก็สามารถชี้แจงและอธิบาย ดีกว่าไปปิดปากและใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อไปเล่นงานซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตต่อสังคม"  วสันต์กล่าว 

 

กฎหมายหมิ่นและการบังคับใช้ในช่วงโรคระบาด  

รศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า กระบวนการบังคับใช้กฎหมายต่อการแสดงความคิดเห็นนั้นมีปัญหา โดยกฎหมายที่นำมาใช้ในการดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือการหมิ่นประมาท กับมาตรา 112 ทั้งสองส่วนก็มีจำนวนผู้ที่ถูกกล่าวหาสูงมากขึ้นในปัจจุบัน เราต้องดูว่ากฎหมายที่เราใช้คุ้มครองคนที่ถูกละเมิดต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการไปละเมิดสิทธิของคนอื่น จึงต้องระวังว่าไม่ให้คนอื่นหรือหน่วยงานของรัฐใช้ปิดปากประชาชน หากอยากคุ้มครองทั้งประชาชนและกษัตริย์ คำถามคือต้องคุ้มครองระดับใดจึงจะเหมาะสม ต้องระวังไม่ให้การคุ้มครองนั้นไปละเมิดสิทธิคนอื่น ทำให้เราต้องกลับมาดูว่าเราจำเป็นต้องเอาเป็นเอาตายกับคนที่หมิ่นประมาทซึ่งหน้ากันแค่ไหน ต้องคาดโทษเท่าไหร่ ตนคิดว่าสามารถใช้เป็นโทษปรับให้สูงขึ้นหรือคาดเป็นโทษละเมิดในทางแพ่งเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาก็ได้ 

 

"สำหรับมาตรา 112 ส่วนตัวเห็นว่าประมุขของรัฐควรได้รับการคุ้มครอง แต่ระดับการคุ้มครองนั้นควรเหมาะสมและไม่ถูกใช้ในการไปละเมิดสิทธิของคนอื่น เพราะมาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจนแยกไม่ออกว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์หรือหน่วยงานของรัฐ ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ต้องยอมรับว่ามีคนเห็นต่างมากขึ้น การใช้กฎหมายที่รุนแรงไม่มีทางลดจำนวนคนที่เห็นต่างลงได้เลย เราต้องกลับมาคิดกันอย่างจริงจังว่ามีวิธีการอื่นหรือไม่ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ยั่งยืนในระบอบประชาธิปไตย และมาตรา 112 อาจปรับเป็นโทษทางอาญาหรือเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอย่างเดียว ดังนั้นจึงเห็นว่า ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายทั้งที่คุ้มครองประชาชนทั่วไปและสถาบันพระมหากษัตริย์" รศ.ดร. มุนินทร์กล่าว 

 

นอกจากนี้ รศ.ดร. มุนินทร์ยังเสนอว่า ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากที่ภาครัฐซึ่งสนับสนุนให้ทุกคนอยู่บ้านและลดการรวมตัวกันในที่สาธารณะ กลับมีการดำเนินคดีไล่ฟ้องประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่หลายสิบคนเพื่อไปจับกุมคน ทำให้เจ้าหน้าที่มีความเสี่ยงติดโควิด ถามว่าคุ้มกันหรือไม่ที่เราบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความเสี่ยงเช่นนี้ ทั้งที่รัฐมีนโยบายลดจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ ทั้งนี้ สถานการณ์การละเมิดเสรีภาพในช่วงโควิด-19 นั้นรุนแรงกว่าในช่วงปกติเสียอีก ดังนั้นจึงควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือลดระดับโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทและมาตรา 112 ให้น้อยลง  

 

"หรือรัฐอาจต้องคิดว่ามีวิธีอื่นอีกหรือไม่ที่จะช่วยรักษาสิทธิและพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะหากแก้ที่กฎหมายไม่ได้ก็ต้องดูที่วิธีการบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรรับฟังและไม่ฟ้องดำเนินคดีต่อประชาชน อยากให้อัยการใช้ดุลพินิจมากกว่านี้ คดีใดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ศาลสามารถไม่รับฟ้องได้" รศ.ดร. มุนินทร์กล่าว  

 

การบังคับใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพและหลักการของสหประชาชาติ 

สัญหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล เสนอว่า ให้แก้ไขกฎหมายตามหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี สหประชาชาติหรือยูเอ็นแนะแนวหลักการในการพิจารณากฎหมายไว้ว่า กฎหมายที่ออกมาและการส่งผลต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายหมิ่นประมาท ต้องเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย คือทุกคนอ่านแล้วเข้าใจตรงกันไม่ใช่อยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ มีหลักวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้อันชอบธรรม เป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน โดย UN กล่าวไว้ว่ากฎหมายที่เอามาลงโทษคนที่แสดงออกไม่ควรมีโทษทางอาญา และยูเอ็นยังเคยกล่าวว่าให้เราทบทวนการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ด้วย ประการสุดท้ายคือกฎหมายต้องถูกใช้โดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่ปัจจุบันไม่แน่ใจได้เลยว่ามีการเลือกใช้ต่อกลุ่มการเมืองใดบ้างหรือไม่ 

 

"ยูเอ็นก็มีฎีกาต่างๆ ที่ใช้ในการตีความกฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ  หากสาธารณชนมีการถกเถียงเกี่ยวกับบุคคลสาธารณะโดยคนทางการเมือง คนทางการเมืองต้องยอมรับว่าต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่าบุคคลทั่วไป อาจมีการใช้คำหยาบคายก็ไม่อาจให้โทษทางอาญาต่อประชาชนได้ เพราะยูเอ็นมองว่าบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องได้รับการวิพากษ์ได้มากกว่าคนทั่วไป และอยู่ในจุดที่ยินยอมพร้อมใจที่จะถูกวิพากษ์มากกว่าบุคคลอื่น หากจะลงโทษต้องดูที่เจตนา ถ้าเป็นข้อความเท็จที่เผยแพร่โดยผิดพลาดหรือไม่มีเจตนาร้ายถือว่าไม่มีความผิด โดยเฉพาะช่วงมีโรคระบาดที่เป็นเรื่องปกติที่คนจะตระหนก ไม่ได้ต้องการก่อให้เกิดความเสียหาย จึงไม่ควรลงโทษ"  

 

สัญหวรรณทิ้งท้ายว่า ยูเอ็นเสนอให้สู้ด้วยความจริงและมีหลักฐานพร้อม และรัฐควรจะยุติข้อมูลเท็จที่สร้างความเกลียดชังและกระตุ้นใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชายขอบ ซึ่งในประเทศไทยนั้นจะพบว่าช่วงที่การระบาดของโรคโควิด-19 ระบาดระลอกสองนั้นมีการใช้คำพูดแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติในไทย รัฐควรนำทรัพยากรไปยุติไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น แต่รัฐกลับไม่ทำ 

 

ข้อเสนอแนะต่อประเด็นการบังคับใช้กฎหมายที่ว่าด้วยการแสดงออกในช่วงโรคระบาด 

อานนท์กล่าวว่า กฎหมายไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วยจุดประสงค์อื่นที่ไม่ใช่เจตนารมณ์ดั้งเดิมตามกฎหมาย ส่วนวิญญูเสริมว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมประชาธิปไตยและนี่เป็นรากฐานที่ทำให้เราแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างยากลำบาก เป็นเวลากว่าเจ็ดปีแล้วที่เรากำลังสืบทอดอำนาจเผด็จการนี้ไปเรื่อยๆ จนฝังรากลึกลงไปในรัฐราชการไทยและหลายๆ ภาคส่วนรวมถึงฝั่งกระบวนการยุติธรรม  

 

ขณะที่ภุชพงค์ทิ้งท้ายว่า การจะเช็คข่าวใดๆ ก็ตามที่ประชาชนมองว่ายังคลุมเครือนั้นสามารถเช็คได้ที่ศูนย์ข่าวปลอม ทั้งนี้ ให้ประชาชนพิจารณาว่า บางข่าวนั้นแชร์ไปแล้วจะเกิดประโยชน์หรือไม่ หากไม่เกิดประโยชน์ก็แนะนำให้ไม่แชร์ดีกว่า โดยสิ่งที่ออกจากภาครัฐนั้นแชร์ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งอ