ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

จับตารัฐ หวั่นปิดปากประชาชนผ่านพ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้

 

ภาคประชาสังคมชี้ หากผ่านร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน จะส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มของประชาชนในทุกรูปแบบอย่างกว้างขวาง นำมาสู่การเปิดพื้นที่ให้รัฐเข้ามาควบคุมปิดกั้นการแสดงออกจากภาคประชาชน ด้านองค์กร NGO สากลย้ำว่าหากผ่านเป็นกฎหมายจะไม่มีใครได้ประโยชน์ทั้งสิ้นแม้แต่รัฐเอง

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เมื่อรัฐสั่งให้ภาคประชาสังคมเงียบ: บทเรียนจากทั่วโลกถึงไทย” สืบเนื่องมาจากร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันซึ่งกำลังอยู่ในวาระการพิจารณาจากรัฐบาลขณะนี้ จะส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มของประชาชนในทุกรูปแบบอย่างกว้างขวาง และจะส่งผลกระทบต่อสมาคม มูลนิธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตลอดจนคณะบุคคลที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย แต่ทำกิจกรรมโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหารายได้หรือกําไร ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีความคลุมเครือและกว้างขวางอย่างมาก และยังมอบอำนาจให้รัฐบาลพิจารณาว่าจะยกเว้นองค์กรใดภายใต้การบังคับใช้กฎหมายนี้ด้วย อาจนำไปสู่การปิดกั้นการแสดงออกและการลงโทษจากภาครัฐในเวลาต่อมา

 

บทเรียนจากอินเดีย เมื่อกฎหมายไม่เป็นธรรมยิ่งเสริมสร้างความเหลื่อมล้ำ

อาการ์ พาเทล อดีตผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดียกล่าวว่า ที่ประเทศของเขานั้น ประเด็นหลักของกฎหมายฉบับนี้คือการที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือเอ็นจีโอ (NGO) ที่ต้องการได้รับเงินจากต่างประเทศต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานรัฐบาลกลาง โดยต้องอธิบายว่าต้องใช้เงินไปทำอะไร ต้องกรอกแบบฟอร์มต่างๆ มากมาย และจากนั้นรัฐบาลจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติหรือแม้แต่ไม่ตอบเลยก็ได้ เอ็นจีโอไม่อาจเดินเรื่องเพื่อไปรับเงินซึ่งทำให้ทำงานต่อไม่ได้ ซึ่งผลให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต้องประกาศยุติภารกิจในประเทศอินเดีย รวมทั้งเอ็นจีโออื่นๆ อีกจำนวนมาก

 

"เอ็นจีโอ กว่า 90 เปอร์เซ็นในอินเดียต้องเดินทางมายังเมืองนิวเดลีทั้งที่เป็นช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อมาทำกระบวนการด้านการเงินที่อยู่กลางเมืองหลวง ทำให้เอ็นจีโอที่อยู่ต่างจังหวัดและทุนน้อยได้รับความยากลำบากมาก ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพราะองค์กรเอ็นจีโอในนิวเดลีเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้"

 

"นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดว่า อนุญาตให้นำเงินไปใช้เพื่อการบริหารต่างๆ ในองค์กรได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นทั้งที่กิจการในองค์กรนั้นมีจำนวนมากและไม่ได้จัดการได้โดยง่าย และยังทำให้กระจายเงินต่อองค์กรต่างๆ ได้อย่างยากลำบากด้วย ทั้งที่จริงๆ มีเอ็นจีโอทำงานท้องที่และไม่มีสำนักงานในเมืองหลวง ไม่สามารถระดมทุนได้แบบองค์กรเอ็นจีโอระดับใหญ่ ทำให้องค์กรเล็กๆ เหล่านี้เกิดความยากลำบากมากและไม่อาจสานต่องานของตัวเองได้"

 

อาการ์ยังยกตัวอย่างงานวิจัยว่า กฎหมายด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้นั้นทำให้รัฐบาลอินเดียกำหนดให้ออฟฟิศเอ็นจีโอที่ต้องการเงินสนับสนุนจากต่างประเทศต้องมอบข้อมูลชีวภาพของตนให้รัฐบาล เช่น ลายนิ้วมือ ตลอดจนเป็นกฎหมายที่ทำให้องค์กรเอ็นจีโอหลายแห่งทำงานได้ยากมากขึ้น โดยองค์กรเอ็นจีโอที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ด้านการศึกษา จะไม่สามารถใช้เงินบริจาคจากต่างประเทศเพื่อใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ได้เลย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่องค์กรหลายแห่งไม่สามารถรับเงินมาซื้อถังออกซิเจนได้ หรือจัดทำกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากกิจกรรมที่ได้แจ้งรัฐบาลไว้

 

"เคยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาบุกรุกออฟฟิศในปี 2561 และองค์กรถูกยึดบัญชีธนาคาร ตนถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังต้องขึ้นศาลเพราะกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นไปตามที่ควรเป็น ตนต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมอย่างหนักหน่วง นี่เป็นสิ่งที่เอ็นจีโอในอินเดียต้องเผชิญหลังจากมีการผ่านกฎหมายนี้ ตนหวังว่าคนไทยจะไม่ต้องเจอกับกฎหมายนี้เช่นเดียวกับในอินเดีย" อาร์กากล่าว

 

บทเรียนจากฮังการีและประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในยุโรป

แอรอน ดิมิเทอร์ ผู้อำนวยการโครงการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮังการี แบ่งปันประสบการณ์จากฮังการีว่า ที่ผ่านมา ฮังการีผ่านกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้เมื่อปี 2560 โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 รัฐบาลพยายามปิดปากเอ็นจีโอที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองของรัฐบาล โดยกล่าวหาว่าแอมเนสตี้พยายามล้มรัฐบาลด้วยการรับเงินทุนจากต่างประเทศ โดยตอนนั้นแอมเนสตี้และเอ็นจีโออื่นๆ ถูกรัฐบาลฮังการีกล่าวหาหลายข้อหา เช่น ข้อหาหลบเลี่ยงภาษีโดยไม่มีหลักฐานใดๆ

 

"ต่อมาในปี 2559-2560 เกิดวิกฤติผู้ลี้ภัยในยุโรปและประเทศฮังการีมีระบบให้การลี้ภัยแย่ที่สุด เพราะว่าหากเอ็นจีโอองค์กรใดต้องการรณรงค์ประเด็นผู้ลี้ภัยจะถูกรัฐบาลเพ่งเล็งอย่างมาก ทั้งรัฐบาลยังอ้างว่าองค์กรเอ็นจีโอเหล่านี้รับเงินมาจาก จอร์จ โซรอส นักธุรกิจที่ทำมูลนิธิด้านสิทธิมนุษยชน สนับสนุนให้กลุ่มประเทศยุโรปรับผู้อพยพและมักบริจาคเงินให้องค์กรไม่แสวงผลกำไร จนรัฐบาลฮังการีออกแคมเปญ Stop Soros เพื่อหาทางเอาผิดเอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ โดยต่อมามีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ และกำลังรอคำสั่งจากศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปด้วยว่าจะพิจารณาประเด็นแคมเปญกับข้อกฎหมายนี้อย่างไร" แอรอนกล่าว

 

นอกจากนี้ แอรอนยังเล่าเพิ่มว่า  ในปี 2563 ที่ผ่านมานี้ ฮังการีผ่านกฎหมาย พ.ร.บ. ความโปร่งใสขององค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยมีการตั้งมาตรฐานขั้นต่ำของเงินที่ได้รับจากต่างประเทศที่ 25,000 ยูโร (ประมาณ 970,000 บาท) หากองค์กรใดได้มากกว่านี้ต้องจดทะเบียนว่าเป็นองค์กรที่ได้รับเงินจากต่างประเทศและต้องทำเรื่องรายงานข้อมูลส่วนตัวของคนที่ให้เงินมาด้วย ซึ่งแอมเนสตี้ ฮังการีออกมาประกาศว่าจะอารยะขัดขืนต่อกฎหมายฉบับนี้ และอาจเป็นไปได้ว่าอาจต้องไปต่อสู้คดีที่ศาล

“ที่ยุโรปนั้นมีศาลยุโรปเข้ามาช่วยตัดสินว่ากฎหมายเป็นไปตามรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศหรือไม่ โดยต่อมากฎหมายฉบับนี้ ศาลยุโรปได้แถลงว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของศาลยุโรปและให้รัฐบาลฮังการียกเลิกกฎหมายในเวลาต่อมา แต่รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น

 

"ช่องทางทางกฎหมายนั้นสำคัญมาก ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคม หากสามารถนำกฎหมายไปยื่นศาลทั้งในระดับประเทศหรือภูมิภาคก็เป็นสิ่งที่ควรทำ รวมทั้งต้องเคลื่อนไหวในช่องทางอื่นๆ เพื่อตอบโต้การถูกคุกคามต่างๆ เหล่าองค์กรเอ็นจีโอที่เข้มแข็งควรจะสร้างเครือข่ายขึ้นมาเพื่อสื่อสารต่อประชาชนในสังคมว่ากฎหมายนี้มันส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วนอย่างไร" แอรอนกล่าว

 

องค์กรไม่แสวงผลกำไรในประเทศไทยยืนยันรัฐต้องถอดถอนร่าง พ.ร.บ. ควบคุมภาคประชาสังคม

ไพโรจน์ พลเพชร ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวถึงข้อสังเกตต่อการผ่านกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้ว่า องค์กรประชาสังคมในไทยนั้นแบ่งออกเป็นองค์กรพัฒนาสังคมหรือเอ็นจีโอ ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากปัญญาชนที่อยากพัฒนาสังคม เคลื่อนไหวต่อกลุ่มเป้าหมายที่ตนสนใจ ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน เด็กหรือผู้สูงอายุ อีกประเภทหนึ่งคือเป็นองค์กรของประชาชน และกลุ่มที่สามเป็นองค์กรชุมชน เป็นการรวมตัวเพื่อปกป้องคุ้มครองชุมชนตัวเอง

 

"หลังจากมีรัฐธรรมนูญ 2540 เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบภาครัฐ และทำให้องค์กรภาคประชาชนแข็งแรงมากขึ้น รัฐไม่อาจกำหนดทิศทางนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวอีกต่อไปแล้ว เป็นการสร้างสมดุลแห่งอำนาจใหม่ในสังคมไทย ตนคิดว่านี่เป็นเหตุผลให้มีการออกกฎหมายควบคุมภาคสังคม เนื่องจากระยะหลังรัฐถูกตรวจสอบบ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้ทำให้รัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐประชาธิปไตยหรือรัฐราชการแบบปัจจุบัน ย่อมต้องการกำกับควบคุมองค์กรเหล่านี้ รัฐจึงจำเป็นต้องออกกฎหมายเฉพาะขึ้นมายุติความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐว่าไม่ได้ใช้กฎหมายตามอำเภอใจ"

 

นอกจากนี้ ไพโรจน์ยังเสริมว่ารัฐอยากกำหนดกฎหมายกลาง กำกับซ้ำเข้าไปเพื่อคลุมองค์กรเอ็นจีโอทั้งหมดให้เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรนิติบุคคล มูลนิธิที่จดทะเบียนกับกฎหมายอื่นๆ ก็เข้ามาอยู่ใต้กฎหมายนี้ โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ขึ้นทะเบียนแต่รวมตัวกันเป็นคณะบุคคลตามรัฐธรรมนูญ โดยส่วนมากเป็นองค์กรประชาชนเล็กๆ หมายความว่าทุกองค์กรที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนต้องมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวงว่าแต่ละองค์กรต้องมีจำนวนคนเท่าไหร่ ทำกิจกรรมอะไร แต่หากไม่ยอมไปขึ้นทะเบียนจะไม่อาจทำกิจกรรมในประเทศไทยไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่รณรงค์เพื่อแก้ปัญหาน้ำเสีย ก็อาจทำกิจกรรมไม่ได้เลย กฎหมายเหล่านี้จึงจะทำให้กลุ่มชาวบ้านเล็กๆ เหล่านี้ล้มหายไป

 

ไพโรจน์กล่าวเสริมว่า ตนเชื่อว่าเป้าหมายที่แท้จริงของกฎหมายฉบับนี้คือเพื่อจับตาการรับเงินจากต่างประเทศ ทั้งที่จริงๆ การรับเงินจากต่างประเทศก็ต้องถูกตรวจสอบ มีกระบวนการต่างๆ โดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่กฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อกำกับว่าจะให้ไปรับเงินหรือไม่ จึงเป็นการพยายามควบคุมกิจกรรม ควบคุมรายได้ของแต่ละองค์กร

 

"หากกฎหมายนี้ผ่าน จะทำให้องค์กรทั้งหลายที่ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะได้รับผลกระทบ ประชาชนต่างๆ จึงได้รับผลกระทบไปด้วย ตลอดไปจนสังคมและทำให้ช่องว่างระหว่างคนกับรัฐกว้างขึ้น และรัฐจะยิ่งเอียงข้างให้กลุ่มทุนและธุรกิจมากยิ่งขึ้น ประชาชนจึงเสียสิทธิต่างๆ เพราะไม่มีองค์กรภาคประชาสังคมคอยส่งเสียงเรียกร้องให้ ที่สำคัญมันคือการกีดกันคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วม" ไพโรจน์กล่าว

 

หากผ่าน พ.ร.บ.ควบคุมภาคประชาสังคมจะเป็นการทำร้ายประชาชนและรัฐเองด้วย

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เสริมว่า วาทกรรมหวาดกลัวจอร์จ โซรอส ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในฮังการีเท่านั้น แต่ในประเทศไทยเองก็มีทั้งยังถูกกล่าวถึงอย่างรุนแรงหลังคนรุ่นใหม่ลุกมาเรียกร้องประชาธิปไตยท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมา หลังจากที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหายตัวไปก็ทำให้คนรุ่นใหม่ให้มาชุมนุมกัน ระหว่างการชุมนุมก็มีการละเมิดสิทธิ นักกิจกรรมโดนจับกุมคุมขัง องค์กรสิทธิก็พยายามเรียกร้อง ทำให้ถูกมองว่าชังชาติและถูกตั้งคำถามว่าเอาเงินช่วยเหลือมาจากไหน ทั้งยังมีการสร้างความเข้าใจว่าแอมเนสตี้ได้ทุนหรือผูกโยงกับประเทศมหาอำนาจ

 

"สถานการณ์ต่างๆ เป็นเครื่องสะท้อนว่าปัญหามีอยู่ทุกที่ และเป็นสิทธิของทุกคนที่จะออกมาเรียกร้อง บทบาทสำคัญขององค์กรไม่แสวงหากำไรจึงสำคัญมากโดยเฉพาะเมื่อรัฐไม่ตอบโจทย์ของประชาชน แก้ปัญหาได้ไม่ทั่วถึง การชุมนุมตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงปีนี้มีการชุมนุมกว่า 1,500 ครั้ง มีการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหลายมิติมาก ที่ผ่านมาองค์กรไม่แสวงผลกำไรทำงานแยกส่วน จนกระทั่งหลังรัฐประหารปี 2557 ทำให้องค์กรเหล่านี้ร่วมมือกันเนื่องจากพบว่าแต่ละปัญหาล้วนเชื่อมโยงกัน"

 

ปิยนุชตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้ได้รับการพิจารณาเร็วมาก ขณะที่กฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายกลับแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย เรื่องความสูญหายของคนที่ออกมาพูดเชิงต่อต้านรัฐหรือประเด็น 112 ก็ล้วนเกิดในภูมิภาคนี้แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ หากยุโรปมีศาลยุโรปหรือมีสถาบันควบคุมดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ทางตนก็ได้แต่อิจฉา เพราะอาเซียนมีไอชาร์ (คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน-ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights หรือ  AICHR) แต่ยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวใดๆ จากองค์กรดังกล่าว

 

"รัฐบาลอย่าลืมว่ารัฐบาลหยุดเวลาไม่ได้ เราหยุดการเติบโตของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ จิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่จะต้องเติบโตต่อไป รัฐบาลจึงต้องปกป้องสิทธิของบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่ไปละเมิดสิทธิ หากว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้ผ่านการพิจารณาจะเป็นการทำร้ายพวกเราทุกคนและตัวรัฐบาลเอง เพราะการรับทุนจากต่างชาตินั้นไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เอ็นจีโอเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลเองด้วย" ปิยนุชกล่าว

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมอย่างยั่งยืน

ไพโรจน์กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะให้มี พ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้ ก่อนหน้านี้ กระทรวงพัฒนาสังคมได้เสนอกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมอีกฉบับแต่ ครม. กลับเอากฎหมายการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้มาเป็นหลัก ทั้งที่จริงๆ ถ้าเอากฎหมายที่กระทรวงพัฒนาสังคมเสนอ ภาคประชาชนจะกำกับกันเองและเป็นพลังให้กันได้มากกว่า ฝากกรรมาธิการพิจารณาว่าหากอยากให้องค์กรภาคประชาสังคมดูแลกันเองหรือเป็นหุ้นส่วนในการดูแลประเทศ ก็ต้องส่งเสริมองค์กรเหล่านี้ เพราะกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้จะยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้งให้นายกฯ มีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ

 

"ย้ำว่ากฎหมายภาคประชาสังคม ล้วนทำเรื่องสิทธิทั้งนั้น องค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผลักดันจนเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในที่สุด ถ้าไม่มีองค์กรเหล่านี้ผู้คนจะยังต้องเผชิญเรื่องหนักหน่วงมากกว่านี้ ไม่ว่าจะประเด็นโควิดในสลัมหรือคนเร่ร่อน การมีองค์กรภาคประชาสังคมจึงทำให้สิทธิต่างๆ ของประชาชนเติบโตขึ้น" ไพโรจน์กล่าว และว่า นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยให้เลือกปฏิบัติได้ แปลว่าเปิดช่องให้องค์กรที่สมยอมกับรัฐก็จะได้รับการยกเว้นหลายอย่าง นับเป็นเจตนาที่เลวร้ายมาก

 

ปิยนุชกล่าวว่า ไม่ควรมีกฎหมายนี้เลย ไทยเองผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนาน นี่นับเป็นอีกประเด็นที่จะต้องใช้ทักษะช่วยกันต่อต้านประเด็นนี้ เสนอว่าตามหลักการระหว่างประเทศจะแนะนำให้ใช้ระบบองค์กรประชาสังคมรายงานให้รัฐทราบถึงความเป็นอยู่ต่างๆ ทั้งนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวเต็มไปด้วยปัญหาในเชิงกระบวนการและเนื้อหา ทั้งยังทับซ้อนกับกฎหมายฉบับอื่นๆ อยากเตือนรัฐว่าเพิ่งได้รับการลดระดับมาเป็นกลุ่มเทียร์ 2 เฝ้าระวังในรายงานการค้ามนุษย์ และนี่จะกระทบต่อรัฐโดยตรงทั้งภาครัฐ เศรษฐกิจ และภาคธุรกิจ หากรัฐผ่านกฎหมายตัวนี้จะไม่ทำให้สถานการณ์และความเชื่อมั่นต่างๆ ดีขึ้นเลย

 

"ทั้งนี้ มันอาจยังไม่จบง่าย และลำบากมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบในสังคมมากๆ ช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤติของโรคโควิด-19 หากสกัดไม่ให้องค์กรภาคประชาสังคมทำงาน ก็จะล้มกันทั้งหมด" ปิยนุชกล่าว และว่า อยากย้ำว่าบทบาทของแต่ละองค์กรและการที่เคียงข้างกันนั้นสำคัญแค่ไหน องค์กรเพื่อนบ้านก็ให้ความสนใจ อยากบอกรัฐบาลว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ คนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับประเด็นเหล่านี้มาก คนเหล่านี้เป็นอนาคตและเป็นกลไกสำคัญ ภาคประชาสังคมจึงต้องช่วยกัน ต่อให้รัฐบีบให้พื้นที่เราน้อยลง แต่ถ้าเราไม่สยบยอมและยืนหยัดในหลักการของเราเพื่อสร้างสังคมเท่าเทียมและเป็นธรรม และเชื่อมั่นว่าเราก็ต้องผ่านไปให้ได้

 

ด้านอาร์กาเสนอว่า ช่องทางการควบคุมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดของรัฐบาลอินเดียคือแรงกดดันจากต่างประเทศ พันธมิตรของอินเดียในยุโรปและอเมริกาเลยพยายามสร้างแรงกดดัน อยากเตือนประเทศไทยว่าเมื่อกฎหมายออกมาแล้วจะแย่ลงเรื่อยๆ จึงต้องหยุดให้เร็วที่สุด ซึ่งการกดดันจากต่างประเทศก็มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอาเซียนหรือจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

แอรอนเสริมว่า สนับสนุนการทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ในภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว ทักษะการเล่าเรื่อง การสื่อสารจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สุดในการสื่อสารกับคนทั่วไป เราต้องการใช้แรงกดดันจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะองค์กระระหว่างประเทศหรือรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่จะสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลไทย และอย่าลืมสร้างแรงสนับสนุนในประเทศจากประชาชนด้วย ดังนั้นเราจึงต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าทำไมเราจึงต้องการให้มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง "หากเราล้มเลิกทำในสิ่งที่รัฐบาลอยากให้เราล้มเลิก เท่ากับว่าเราไม่ได้ชนะและปล่อยให้รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะในที่สุด" แอรอนกล่าว