ขอบคุณภาพจาก BBC : https://www.bbc.com/thai/features-51473472
จากกรณีที่ทางการไทยได้ประกาศใช้มาตรการป้องกันไวรัสอย่างเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพฯ และอีก 9 จังหวัด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 กรกฎาคม เป็นต้นไป แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการให้ใช้มาตรการควบคุมเหล่านี้เพียงเพื่อแก้ปัญหาอัตราการติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ต้องไม่นำมาใช้เพื่อลงโทษโดยพลการ หรือไม่ได้สัดส่วนกับบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิของตนเอง
ในวันที่ 9 กรกฎาคม ทางการไทยได้ประกาศมาตรการควบคุมใหม่เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่อัตราการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มาตรการใหม่เหล่านี้ รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว การจำกัดการเดินทาง การปิดห้างสรรพสินค้า และการจำกัดการทำกิจกรรมสาธารณะที่มีการรวมตัวกันของบุคคลห้าคนหรือมากกว่านั้น ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ยังไม่สามารถออกจากที่พักระหว่างสามทุ่มถึงตีสี่
มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ทางการไทยต้องแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้มาตรการที่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการควบคุมจำกัดที่มีสัดส่วนเหมาะสม เป็นการดำเนินงานชั่วคราวและมุ่งประโยชน์อย่างชัดเจนเพื่อคุ้มครองสาธารณสุขที่จำเป็น
“ทางการควรเน้นการจัดหาวัคซีนที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคนโดยเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าพวกเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน และมีความสามารถในการซื้อหรือไม่ โดยให้เริ่มจากการฉีดวัคซีนกลุ่มที่มีความจำเป็นมากที่สุดก่อน”
“แม้การควบคุมหรือจำกัดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบอาจกระทำได้ หากเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสาธารณสุขของสังคม แต่บุคคลที่ถูกดำเนินคดีจากการละเมิดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม อันเป็นผลมาจากการชุมนุมโดยสงบจะต้องไม่ถูกลงโทษจำคุก”
“นอกจากนั้น ประชาชนยังต้องสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรีผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีอาญา”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใด ๆ ต่อบุคคลหลายร้อยคนที่ทำการชุมนุมและเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ในช่วงกว่า 12 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ในขณะที่ประเทศไทยกำลังรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่เกิดการระบาดขึ้นมา แอมเนสตี้เรียกร้องทางการไทยให้จัดทำและดำเนินการตามแผนการจัดสรรวัคซีนระดับชาติที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากสุด และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มที่มักต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากโรคโควิด-19
ทางการควรประกันว่าบุคคลทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ เป็นกลางและมีหลักฐานสนับสนุนเกี่ยวกับวัคซีน และดำเนินการทั้งปวงเพื่อประกันให้มีการกระจายวัคซีนอย่างเป็นผลและรวดเร็ว เพื่อคุ้มครองระบบสาธารณสุขและให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับสิทธิและสวัสดิภาพของผู้ทำงานด้านสุขภาพ
ข้อมูลพื้นฐาน
คนไทยหลายหมื่นคนได้ออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปให้มีระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ตลอดทั้งปี 2563 รวมทั้งปี 2564 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงและตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย
ในขณะที่การชุมนุมเริ่มลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ทางการได้เอาผิดทางอาญาและควบคุมตัวผู้ชุมนุมโดยสงบ โดยใช้อำนาจตามมาตรการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้รับมือกับโรคโควิด-19 แม้ว่าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีการระบาดจนทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายพันคนในเรือนจำหรือสถานคุมขังอื่นๆ ของประเทศ
ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าระหว่างเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงมิถุนายน 2564 มีบุคคลอย่างน้อย 695 คนที่ถูกดำเนินคดีอาญา รวมทั้งในข้อหายุยงปลุกปั่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ความผิดทางคอมพิวเตอร์ การละเมิดกฎหมายชุมนุมสาธารณะ โดยมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมโดยสงบ 374 คดี ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 44 คน ทั้งยังมีผู้ชุมนุม 18 คนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาล โดยมีนักกิจกรรมหนึ่งคนที่ถูกศาลตัดสินจำคุกสี่เดือนในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564
ตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันนี้ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การละเมิดมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่ประกาศใหม่นี้ อาจส่งผลให้ถูกจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ทั้งนี้ใครก็ตามที่นำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทั้งทางหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักร