สรุปคำพิพากษา คดีขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงตามมาตรา 12 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
22 June 2015
5877
สรุปคำพิพากษา
คดีขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงตามมาตรา 12 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
(คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2558 วันที่ 18 มิถุนายน 2558)
ข้อพิพาท เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของกฎที่ออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ที่มา ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงตามมาตรา 12 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
รายละเอียดของคู่ความ
นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ, พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา, พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ฟ้องนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบอำนาจให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (นางสาวทิพอุษา อุทยานานนท์) ประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของเรื่องเพื่อขอข้อมูลและสู้คดี
ในคดีนี้ นพ.เทพ เวชวิสิฐ ได้ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
สรุปคำพิพากษา
ความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการในการร่างกฎกระทรวง
- สิทธิในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ เป็นสารัตถะเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายที่บุคคลพึงมี ซึ่งสิทธิในชีวิตและร่างกายนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การรับรองไว้ การออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของประชาชนนั้น รัฐมีหน้าที่จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงก่อนการดำเนินการตาม ม.57 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
- สช. ได้ดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ แล้ว เช่น จัดประชุมเพื่อเป็นแนวทางในการร่างกฎกระทรวง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น 4 ภาค แพทยสภาได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น และ สช. ร่วมกับกรมการแพทย์จัดประชุมวิชาการ
- ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวผ่านกระบวนการในการพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ฝ่ายการพิจารณาและให้ความเห็นชอบให้เสนอต่อ ครม. โดย คสช., ผ่านความเห็นชอบของ ครม., ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งลงนามโดยผู้มีอำนาจและประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
ความชอบด้วยกฎหมายของเนื้อหา
- การที่บุคคลแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯ มีผลทำให้แพทย์ต้องเคารพการตัดสินใจดังกล่าว ในกรณีนี้ไม่ใช่สิทธิเลือกที่จะไม่มีชีวิตอยู่แต่เป็นสิทธิในการเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลเพื่อที่จะได้ตายตามธรรมชาติ
- การที่บุคคลทำหนังสือแสดงเจตนาฯ เป็นการแสดงสิทธิในชีวิตและร่างกาย โดยเป็นการยื่นความประสงค์ไว้ล่วงหน้าเพื่อประกาศให้สาธารณชนทราบความประสงค์ของตนว่าจะใช้สิทธิเช่นใด จึงไม่ใช่การกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
- กฎกระทรวงฯ กำหนดองค์ประกอบในการแสดงสิทธิไว้คือ
- หากมีผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาหนังสือแสดงเจตนาต้องครบถ้วนบริบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
- แพทย์ไม่มีหน้าที่ทำให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาถึงแก่ความตายโดยวิธีการใดๆ
- ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ยังคงได้รับการดูแลแบบประคับประคอง
- ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาจะต้องมีภาวะตามที่กฎกระทรวงกำหนด
- แพทย์มีหน้าที่รับผิดชอบการรักษามีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์
- ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาต้องการตายตามธรรมชาติ
- กฎกระทรวงไม่ใช่การปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยงดเว้นไม่ให้การรักษา หรือการใช้ยา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต
- หากผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาจะระบุในหนังสือแสดงเจตนาให้งดเว้นการรักษา หรือใช้ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิตที่ไม่ใช่วาระสุดท้าย (เร่งการตาย) แพทย์ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ หากปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว แพทย์จะใช้มาตรา 12 วรรค 3 แห่งพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มายกเว้นความผิดของตนเองไม่ได้
- การปฏิบัติตามกฎกระทรวงมิได้เป็นการทอดทิ้งผู้ป่วยที่พึ่งตนเองมิได้ เนื่องจากแพทย์ยังให้การดูแลแบบประคับประคอง ดังนั้นจึงไม่มีความผิดฐานทอดทิ้งผู้ป่วยตามประมวลกฎหมายอาญา
- การที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงฯ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2550 เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในเรื่องการจัดการงานด้านสุขภาพของประเทศ มิใช่เป็นการไปกำหนดมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด
- กฎกระทรวงฯ เป็นการอธิบายความและกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ เท่านั้น
- กฎกระทรวงฯ ไม่ได้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และองค์ประกอบในการปล่อยให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาเสียชีวิตลงโดยไม่รับการรักษา หรือการใช้ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อยุติชีวิต แต่กฎกระทรวงกำหนดการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ตายตามธรรมชาติ เพื่อมิให้ยื้อความตายโดยสิ้นหวัง หรือทำให้ผู้นั้นต้องทรมานจากการเจ็บป่วย ทั้งๆ ที่หากไม่มีบริการสาธารณสุข ผู้นั้นควรจะตายตามธรรมชาติแล้ว
สรุป พิพากษายกฟ้องนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข