ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

‘กองทัพดูแลดุจญาติมิตร’ การซ่อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน กองทัพและเกณฑ์ทหารในไทยไปถึงไหนแล้ว

ขอบคุณ ภาพจาก https://prachatai.com/journal/2017/11/74316

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานเสวนา ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์  ตอน เกณฑ์ทหารกับสิทธิมนุษยชน: ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในโลก? เนื่องด้วยวันต้านการเกณฑ์ทหารสากล เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีวิทยากรคือ พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO Startdee และอดีตทหารเกณฑ์, พงศธร จันทร์แก้ว อดีตทหารเกณฑ์, ณิชกานต์ หงษ์กาญจนพงษ์ ผู้ช่วยวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และชวนพูดคุยโดย พริม มณีโชติ

 

ทั้งนี้ วันที่ 15 พฤษภาคมนี้เป็นวันต้านการเกณฑ์ทหารสากล โดยเฉพาะในยุโรปจัดกิจกรรมรำลึกถึงบุคคลที่ลุกขึ้นมาปฏิเสธการเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารและการเกณฑ์ทหาร (Conscientious Objectors) ในอดีต หลายคนถูกลงโทษจำคุกหรือแม้แต่ประหารชีวิต คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNCHR) มีมติรับรองว่าการปฏิเสธเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารและการเกณฑ์ทหารบนพื้นฐานของเสรีภาพทางความคิดและมโนธรรมนี้ เป็นไปตามสิทธิในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

 

"เราก็เป็นแค่ของเล่นเขา" งานวิจัยที่ว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหาร

ณิชกานต์ หงษ์กาญจนพงษ์ ผู้ช่วยวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ทำวิจัยหัวข้อ "เราก็เป็นแค่ของเล่นเขา" (We were just toys to them) ซึ่งเผยแพร่ไปเมื่อปีที่แล้ว ในงานวิจัยพบการละเมิดทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศต่อทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย ซึ่งทำให้ได้รู้ว่า ผู้ที่เป็นอดีตทหารเกณฑ์และให้ข้อมูลมาทำวิจัยชิ้นนี้ทุกรายนั้นต่างตกอยู่ในความหวาดกลัวทั้งสิ้น เนื่องจากในค่ายทหารนั้น มีการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีความรับผิดชอบหรือกระบวนที่ทำให้เกิดความยุติธรรมกับทหารเกณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น การลงโทษหรือการซ่อม ซึ่งมักจะพบว่าเกิดขึ้นอย่างไม่เหมาะสม เป็นต้นว่าทหารเกณฑ์จะถูกสั่งให้วิดพื้นหนึ่งร้อยครั้งในระยะเวลาที่เป็นไปไม่ได้ หรือถูกลงโทษเพราะครูฝึกมองว่าทหารเกณฑ์บางนายไม่ให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือกอดผู้เข้ามาเยี่ยมแน่นเกินไปเพราะตามกฎอนุญาตให้แค่จับมือหรือกอดหลวมๆ

 

"มีหลายกรณีที่ครูฝึกเห็นว่าเราทำตามคำสั่งได้ไม่ดี ก็จะต้องโดนซ่อมในคืนนั้น โดยจะโดนทำร้ายร่างกายเฉพาะจุดใต้ร่มผ้าเพื่อไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นบาดแผลหรือรอยช้ำ หรือหากมีรอยฟกช้ำที่ชัดเจน ทหารเกณฑ์นายนั้นจะถูกส่งไปยังห้องพยาบาลเพื่อไม่ให้มีผู้จับได้ บางรายต้องหายไปเป็นสัปดาห์ นอกจากการทำร้ายร่างกายโดยตรงก็ยังมีการละเมิดในลักษณะอื่น เช่น การสั่งให้ออกกำลังกายเกินกำลัง โดนซ่อมเพราะอาบน้ำช้าเกินไปหรือขานรับไม่ดังพอ โดยจะถูกครูฝึกสั่งให้ออกกำลังกายในปริมาณที่อันตรายต่อร่างกาย หรือท่าปักหัวลงพื้นยางมะตอย เมื่อทำเป็นระยะเวลานานหลายนานกลางแดดร้อนจัดอาจจะเกินขีดจำกัดของร่ายกาย ทหารเกณฑ์หลายๆ คนก็จะเป็นลมและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยไม่อาจปฏิเสธว่าไม่ทำหรือทำไม่ไหวได้ เพราะหากปฏิเสธเพื่อนทั้งกองจะต้องรับผิดชอบด้วยและต้องมาเดือดร้อนร่วมกัน" ณิชกานต์กล่าว

 

ทั้งนี้ ณิชกานต์ยังขยับไปยังประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่พบในงานวิจัยเช่นกัน โดยหากนายทหารที่ให้สัมภาษณ์ไม่ได้โดนเองก็ต้องเคยพบเห็นเพื่อนโดนจากครูฝึกหรือนายทหารชั้นสัญญาบัตร เช่น มีกรณีที่ทหารเกณฑ์นอนบนเตียงห้องนอนรวม แล้วโดนครูฝึกลวนลาม หรือโดนข่มขืนด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการถูกเรียกไปยังห้องน้ำทุกเช้าแล้วถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย แม้ว่าทหารเกณฑ์เหล่านี้มีภรรยาหรือมีลูกแล้วก็ตาม ตลอดจนการทำ 'รถไฟ' ที่ขณะอาบน้ำรวม ทหารเกณฑ์จะถูกสั่งให้จับอวัยะเพศของเพื่อนข้างๆ แล้วเดินไปมา เป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยมากและเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ นับเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในค่ายทหารมาก หรือให้ทหารเกณฑ์เปลือยแล้วนอนหมอบทับกัน หรือให้นอนเปลือยแล้วเอาหน้าไปวางบนบั้นท้ายของคนข้างหน้า แล้วสั่งให้นายทหารสูดดมเป็นจังหวะ หรือครูฝึกบางคนจะออกคำสั่งให้ทหารเกณฑ์สำเร็จความใคร่ใส่ขันแล้วโชว์ให้ครูฝึกเห็นก่อนแล้วจึงจะได้ไปอาบน้ำ ทำให้เกิดความอับอายมากจนทุกวันนี้ หลายคนยังฝังใจจนฝันเห็นอยู่

 

"นอกจากนี้ยังมีการทำให้อับอายโดยไม่ได้ใช้กำลังโดยตรงหรือล่วงละเมิดทางเพศ แต่เป็นการลงโทษโดยการลดทอนศักดิ์ศรีโดยการใช้วาจา เช่น เรียกด้วยชื่อที่ไม่ชอบ หรือถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่น่าอับอาย เช่น เทอาหารร่วมกันลงพื้นแล้วกินจากพื้น ทั้งยังมีกรณีที่รุนแรงอย่างการให้โดดลงบ่อเกรอะจนมิดหัว ซึ่งส่วนใหญ่พบในค่ายที่ต่างจังหวัดซึ่งอาจมีกระบวนการตรวจสอบที่น้อยลง นอกจากนี้ยังมีการขูดรีดเงินโดยครูฝึก หรือบังคับให้จ่ายค่าสบู่หรือค่าเครื่องแบบอันเป็นสิ่งที่ทหารเกณฑ์ควรได้รับตามสิทธิอยู่แล้ว" ณิชกานต์กล่าว และว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่กองบัญชาการทหารสูงสุดยืนยันว่าปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์ดุจญาติมิตร ดังนั้น เพื่อจะแก้ปัญหานี้ รัฐสภาไทยต้องจัดตั้งคณะกรรมการการตรวจสอบ เพื่อยุติการละเมิดสิทธิของทหารเกณฑ์ในอนาคต และผ่าน “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระท าให้บุคคลสูญหาย พ.ศ...." ให้ได้

 

"แอมเนสตี้มองว่า สิ่งที่เราทำได้ใกล้สุดคือ การตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบโดยไม่ใช้ให้กองทัพมาตรวจสอบกันเอง เนื่องจากจะโปร่งใสและเป็นธรรมไม่ได้เลย ดังนั้น จึงต้องประกอบด้วยบุคคลภายนอกที่เข้ามาตรวจสอบ และมีระบบการสรุปการร้องเรียนเหล่านี้เพื่อแจ้งกลับไปยังสภา และดำเนินการให้เกิดการลงโทษต่อทหารชั้นสัญญาบัตรหรือครูฝึกที่ละเมิดสิทธิทหารเกณฑ์ เราต้องสร้างกลไกการป้องกันแก่ผู้ร้องเรียน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกฝ่ายจะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง สิ่งที่รัฐบาลทำได้ในทันทีคือเรื่องการสื่อสารต่อคนภายนอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายคืออะไร เพื่อสนับสนนุให้เกิดวัฒนธรรมความโปร่งใส และต้องปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์ นักเรียนเตรียมทหารอย่างเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน" ณิชกานต์กล่าว โดยตนอยากขอร้องเรียนกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงในการดำรงความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในสังคม

 

กองทัพ ทหารและความเป็นชายอันแสนเป็นพิษ

พงศธร จันทร์แก้ว อดีตทหารเกณฑ์และปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่าทุกครั้งที่ต้องฟังหรือสื่อสารประเด็นนี้ก็มักรู้สึกว่าเป็นภาระทางอารมณ์เสมอ เนื่องจากตนเคยไปอยู่ในค่ายทหารและผ่านประสบการณ์การถูกล่วงละเมิด อาการหายใจติดขัดและพูดตะกุกตะกักยังเกิดขึ้นกับตนทุกครั้งที่ต้องสื่อสารเรื่องนี้

 

โดยพงศธรมองว่า ในรั้วทหารนั้นมีแนวคิดเรื่องความเป็นชายและความเป็นทหารอยู่ อะไรที่ผิดไปจากนี้นับเป็นความอ่อนแอและจะถูกกลั่นแกล้ง ทำให้อับอายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทหารเกณฑ์บางส่วนถูกเลือกไปเป็นทหารรับใช้บ้านนายพล โดยอาจจะใช้เส้นสายเข้าไปเพื่อจะได้ไม่ต้องฝึกหนักเท่าคนอื่น ตนก็เคยเป็นทหารรับใช้และยืนยันว่าชีวิตสบายกว่าคนอื่นจริง กับอีกประการคือถูกเลือกเข้าไป โดยต้องเป็นทหารเกณฑ์ที่มีบุคลิกเรียบร้อย ทำให้ส่วนหนึ่งของทหารที่ถูกเลือกไปทำงานรับใช้เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเพราะกองทัพมักโยงผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ากับงานบ้านต่างๆ เช่น กวาดลานบ้าน ทำกับข้าว ซักผ้า เสิร์ฟน้ำ จองตั๋วเครื่องบิน อาบน้ำหมา เป็นต้น

 

"ถ้าจะมีสิ่งที่ต้องเปลี่ยนในระบบการเกณฑ์ทหารคือ วิธีการเข้าไปในนั้น การพาเข้าไปในนั้นก็นับเป็นการละเมิดตั้งแต่แรก เราเองเสียเวลาในค่ายทหารหนึ่งปี เป็นหนึ่งปีที่รู้สึกถึงความต้อยต่ำที่สุดในแง่ของคุณค่าในชีวิต และการถูกปฏิบัติที่เป็นมนุษย์น้อยที่สุดตั้งแต่เกิดมา ดังนั้น จึงต้องแก้ไข พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฯ ให้เป็นรูปแบบการสมัครใจ และประการต่อมา ต้องทำให้มั่นใจว่าเมื่อเข้าไปแล้ว ทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีอย่างเป็นมนุษย์ เคารพกัน และดึงศักยภาพออกมาได้มากที่สุดจริงๆ เพราะหลายอย่างที่เกิดขึ้นในค่ายทหารนั้นไม่มีเหตุผล เช่น ถูกสั่งให้หมอบทั้งกองเพราะมีคนมองหน้าครูฝึก และอีกประการหนึ่งคือ กองทัพต้องตรวจสอบได้ โดยผู้ตรวจสอบไม่ควรเป็นทหารด้วยกัน ผู้ที่จะทำหน้าที่นี้คือประชาชนหรือผู้แทนที่มาจากประชาชนโดยตรง"

 

พงศธรเสริมว่า สมัยที่ตนเป็นทหารเกณฑ์และได้รับความไม่เป็นธรรมนั้น ก็ไม่เคยเข้าไปในกระบวนการร้องเรียนเลยสักครั้ง เพราะเมื่อเข้าไปในรั้วทหารจะรู้ได้ทันทีว่าการร้องเรียนตามกระบวนการต่างๆ ของทหารนั้นไม่ได้ผล ทั้งที่ในชีวิตจริงๆ โดยวิสัยแล้วตนมักร้องเรียนและทวงสิทธิของตัวเองอยู่เสมอ

 

"ส่วนตัวมองว่า หากมีทหารเกณฑ์คนไหนอยากร้องเรียน เราไม่แนะนำช่องทางของทหารทุกช่องทาง แต่อาจจะหาช่องทางอื่นที่เป็นตัวแทนของประชาชน เช่น คณะกรรมการของสภาฯ ที่ดูแลเรื่องนี้ หรือนักการเมืองที่เราวางใจ หรือสื่อมวลชน เพราะทหารค่อนข้างอ่อนไหวจากการถูกจับตาโดยสื่อสาธารณะ ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวในกองทัพมักขับเคลื่อนโดยการถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือสื่อมวลชน" พงศธรกล่าว และว่า นอกเหนือจากเรื่องนโยบายที่ควรผลักดันแล้ว ก็ควรจะปฏิรูปวัฒนธรรมกองทัพด้วย เรื่องจากมีแนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ที่ผูกโยงกับความเป็นทหาร ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น

 

"ในฐานะประชาชน สิ่งที่เราสามารถทำได้ในฐานะประชาชนในระบบประชาธิปไตย คือการพยายามหานักการเมืองที่พูดเรื่องนี้อย่างชัดเจน ให้ส่งเสียงพูดเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เพราะนี่เป็นอำนาจโดยตรงของประชาชน แต่เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอแล้วโดนปัดตกก็ทำให้เกิดคำถามเรื่องที่มาของรัฐสภาและเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลายเป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย

 

"หรือหากมองจากอีกมุม เราควรหยิบยกความเป็นทหารออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การจัดอบรม นโยบายที่แทรกซึมเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปในวัฒนธรรมทหาร ซึ่งอาจต้องเริ่มต้นจากผู้บังคับบัญชาในพื้นที่หรือจากหน่วยฝึกนั้นๆ และอาจจะช่วยชีวิตของทหารเกณฑ์ในแง่การถูกปฏิบัติและคุณภาพชีวิตได้"

 

การเกณฑ์ทหาร งบประมาณและความคุ้มได้ไม่คุ้มเสียทางเศรษฐกิจและทรัพยากร

พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO Startdee และอดีตทหารเกณฑ์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่เป็นส่วนน้อยมากที่ยังเกณฑ์ทหารอยู่ในช่วงที่ไม่มีสงคราม การยกเลิกการเกณฑ์ทหารไม่ได้แปลว่าจะให้ยกเลิกกองทัพ คือยังมีกองทัพอยู่แต่ประกอบไปด้วยคนที่สมัครใจ เพราะปัจจุบันแม้จะมีคนที่สมัครใจแต่ยังมีอีกหลายคนที่ถูกบังคับเข้าไปอยู่

 

โดยพริษฐ์เล่าถึง การที่กองทัพบอกว่าการเกณฑ์ทหารยังจำเป็นเนื่องจากหากยกเลิกการเกณฑ์ทหารจะไม่มีกำลังพลมากพอ ซึ่งไม่จริง หากคำนวณว่าประเทศกำลังบังคับผู้ชายจำนวนหนึ่งแสนคนหรือ 1 ใน 3 ไปเป็นอาชีพทหารเพียงอาชีพเดียว นับเป็นการไปลดจำนวนคนทำงานในสาขาอาชีพอื่นลง นับเป็นการสูญเสียราคาทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เนื่องจากมีหลายคนที่มีรายได้เยอะมาก แต่ต้องเสียเวลาไปเป็นทหาร หรือเมื่อออกมาแล้วก็กลับไปทำรายได้แบบเดิมไม่ได้อีก หรืออาจต้องพลัดพรากจากครอบครัว ภาระการพิสูจน์ว่าการเกณฑ์ทหารนั้นจำเป็นจึงเป็นสิ่งที่กองทัพต้องตอบให้ได้ หากอธิบายไม่ได้จะสร้างราคาอันมหาศาลต่อเศรษฐกิจภาพรวมและต่อชีวิตคนรายปัจเจก

 

อย่างไรก็ดี ในบรรดาทหารเกณฑ์หนึ่งแสนคนที่กองทัพเรียกร้องนี้ อยากตั้งคำถามว่าเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลแล้วหรือในโลกสมัยใหม่ ตนคิดว่าไม่จำเป็น ตามสถิติของประเทศทั่วโลก ประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 6 รองจากประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม เช่น เกาหลี รัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีภัยความมั่นคงชัดเจน จึงเห็นได้ชัดว่าไทยมีกำลังพลสูงเกินไปหากเทียบกับจำนวนประชากร ทั้งในจำนวนหนึ่งแสนคนนี้ก็มียอดผี หรือคนที่จ่ายสินบนเพื่อไม่ต้องเข้าไปในค่ายทหาร ทำให้เห็นว่าแม้กองทัพจะขาดคนจำนวนนี้ไปก็ไม่ส่งผลใดๆ ต่อประเทศ โดยอย่าลืมว่า เกือบทุกปีนั้นมีคนที่สมัครใจไปเป็นทหารอยู่แล้วราว 4-5 หมื่นคน ถามว่าอะไรทำให้กองทัพต้องหาคนอีกครึ่งหนึ่งมาถมให้เต็มหนึ่งแสนในสภาวะเช่นนี้

 

"ภัยคุกคามจากนอกประเทศก็เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว ความจำเป็นในการมีกำลังพลจึงอาจจะลดน้อยลง ส่วนตัวจึงเห็นว่าตัวเลขหนึ่งแสนนั้นลดลงได้ และลดได้ราว 50 เปอร์เซ็นต์ซึ่งก็เพียงพอแล้ว เท่ากับจำนวนผู้ที่สมัครเข้ามาเกณฑ์ทหารพอดี หรือหากกองทัพอยากให้คนสมัครมาเป็นทหารก็ให้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของทหารเกณฑ์ ต้องเพิ่มรายได้ให้ทหารด้วย และต้องมาคิดอย่างละเอียดถึงสวัสดิการที่ทหารเหล่านี้ควรได้รับ เช่น ในปีที่มีการนำเสนอ กศน. เข้ามาในค่ายทหาร ยอดสมัครก็สูงขึ้นเช่นกัน" พริษฐ์กล่าว ก่อนเสนอนโยบาย 4 ประเด็น ได้แก่

 

1.) การแก้กฎหมายเพื่อยกเลิกการบังคับการเกณฑ์ทหาร ทำได้สองวิธีคือแก้พระราชบัญญัติที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาหกสิบปีแล้ว กับแก้ที่ตัวรัฐธรรมนูญ

2.) แม้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้วก็อาจยังมีการละเมิดสิทธิทหารที่สมัครใจเข้าไป คือการตั้งคณะกรรมการ "คณะผู้ตรวจการกองทัพ" (Military Ombudsman) ที่ประกอบไปด้วย ส.ส. จากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่มาจากประชาชน เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจและงบประมาณของกองทัพ ตลอดจนรับเรื่องร้องเรียนและสืบสวนสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

3.) การปลูกฝังและให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่เข้าไปดำรงตำแหน่งในกองทัพ

4.) ปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพแทรกแซงมายังการเมืองด้วยผ่านการทำรัฐประหาร และต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการล้างมรดกที่กองทัพทิ้งไว้ เราจึงต้องร่วมกันแยกทหารออกจากการเมืองและสร้างระบอบประชาธิปไตยให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน

 

นอกจากนี้ พริษฐ์ยังเสริมประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางชีวิตและร่างกายที่ทำให้พลทหารเสียชีวิตจากการซ่อมเกินขอบเขต มีการธำรงวินัยด้วยวิธีการต่างๆ ที่ขัดหลักสากล ทั้งยังสร้างความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ฝึกที่ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือแม้เป็นทหารที่สมัครเข้าไปก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดกรณีละเมิดสิทธิ เพราะหลายครั้งมีกรณีที่เสียชีวิตก็เป็นกรณีที่นายทหารสมัครเข้ากองทัพเอง

 

"ทั้งยังมีประเด็นเรื่องการทุจริต ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการเกณฑ์ทหารมีข้อครหาว่าเป็นบ่อกำเนิดการทุจริต อุปกรณ์หลายอย่างที่มีการจัดซื้อจัดจ้างที่ราคาสูงกว่าราคาท้องตลาด การยกเลิกการเกณฑ์ทหารจึงช่วยลดการทุจริตตรงนี้ได้ และอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ที่ถูกคัดหรือได้ใบแดงไปเป็นทหารมักมาจากครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินไม่ดีเท่าไหร่เพราะไม่ได้เรียนมัธยมปลายซึ่งจะทำให้ได้เรียน รด. เพื่อละเว้นการเกณฑ์ทหาร จึงมีเรื่องความเหลื่อมล้ำแฝงอยู่ด้วย" พริษฐ์กล่าว และว่า เป้าหมายที่ควรตั้งหลักคือ ทำอย่างไรไม่ให้ปีหน้ามีการเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นจะดีกว่า ทุกอย่างเป็นไปได้หมดหากอำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง อย่าลืมว่ากองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน เมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งจึงจะเข้าไปตรวจสอบงบประมาณได้มากกว่า เราจึงต้องกลับมายืนหยัดว่ากองทัพก็เป็นเหมือนหน่วยงานราชการอื่นและไม่ได้มีอภิสิทธิ์เหนือหน่วยงานใดๆ

 

ทั้งนี้ ตนเสนอประเด็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหารอยู่บ่อยครั้ง โดยหากใครที่เห็นด้วยก็อยากเชิญชวนให้มาลงรายชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตนกับทีม Re-solution ร่างขึ้นมาที่ https://bit.ly/3tPxl2o

 

ดูแลทหารกองประจำการดุจญาติมิตรในครอบครัว!?

ที่ผ่านมา กองทัพไทยมีนโยบายในการดูแลทหารกองประจำการ "ดุจญาติมิตรในครอบครัว" พร้อมย้ำว่าการปฏิบัติต่อทหารกองประจำการมีระเบียบปฏิบัติของทางราชการที่วางไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็นับเป็นนโยบายที่ต้องถกเถียงกันต่อไปว่าเหมาะสมหรือไม่

 

ณิชกานต์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข่าวที่ทหารถูกละเมิดสิทธิมากมายทุกปี โดยกองทัพไม่เคยต้องรับผิดชอบ เห็นได้จากกรณีกราดยิงโคราชเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา หากครอบครัวของผู้เสียหายพยายามร้องเรียนสิทธิอันชอบธรรมของคนในครอบครัวตัวเองต่อกองทัพ ก็จะถูกคุกคามหรือข่มขู่ กองทัพต้องกลับไปมองนโยบายและการปฏิบัติของตัวเองว่า เมื่อให้คำพูดที่เบาหวิวขนาดนี้โดยไม่ปฏิบัติใดๆ เลย ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากกองทัพจนไม่น่ามีใครเชื่อถือในคำพูดของกองทัพอีกแล้ว

 

ขณะที่พงศธรเสริมว่า นโยบายที่ว่ารักกันดุจพี่น้อง ญาติมิตรนั้น อย่าลืมว่าทหารมีแนวคิดเรื่องทหารที่ต่างไปจากคนอื่น มันก็นำมาสู่วัฒนธรรมการทารุณกรรมและมีเรื่องชนชั้นทางอำนาจมาเกี่ยวข้องอยู่ดี จึงต้องแทรกซึมเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปในค่ายทหารให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

 

ปิดท้ายที่พริษฐ์ ซึ่งระบุว่าตนไม่เห็นด้วยกับนโยบายรักกันดุจพี่น้อง ญาติมิตรเลย กองทัพไม่ได้เป็นอะไรกับเรา เราไม่จำเป็นต้องถูกบังคับให้เป็นสมาชิก หรือหากสมัครไปแล้วไม่พอใจก็ควรจะเดินออกมาได้ การจะบอกว่าพลทหารเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวคือการบอกว่าเราเลือกตัดขาดออกมาไม่ได้ และประเทศไทยเองมีปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ทั้งทางร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศ ดังนั้น ก็เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นไม่ว่าในครอบครัวใดก็ตาม และหากกองทัพพยายามเปรียบเทียบตัวเองเป็นครอบครัว จะมีค่านิยมที่ครอบงำจนทำให้กองทัพไม่มีความเป็นมืออาชีพ เช่น บางครั้งเมื่อเห็นสามีตีภรรยา คนที่เข้าไปช่วยจะถูกห้ามว่าไม่ควรไปยุ่งเพราะเป็นเรื่องภายใน ค่านิยมแบบนี้เมื่อนำมาใช้ในกองทัพก็จะเป็นการยอมรับว่า คนนอกนั้นไม่สามารถตรวจสอบกองทัพได้ ต้องเป็นแค่กองทัพตรวจสอบกันและกันเท่านั้น หรือมีวาทกรรมเช่น ทำร้ายร่างกายเพราะรัก ก็คงไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเห็น และเมื่อไรก็ตามที่เริ่มเปรียบเทียบพลทหารเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ จะมีเรื่องของบุญคุณแทรกเข้ามาทันที ถ้าผู้บังคับบัญชาทำไม่ดีกับเราอาจมีการอ้างบุญคุณด้วยได้ ดังนั้นจึงอันตรายมากหากเอาค่านิยมครอบครัวเข้ามาใช้ในกองทัพ กองทัพควรบริหารอย่างมืออาชีพมากกว่า