ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

แอมเนสตี้เรียกร้องผู้นำอาเซียนต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในเมียนมา

 

ในวาระการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์และส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐภาคีอาเซียนประเทศสมาชิกอาเซียน ให้สอบสวนพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ตามข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อว่า มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นในเมียนมา ในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ อินโดนีเซียมีพันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินคดี หรือต้องส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อมีผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดอยู่ในดินแดนของตน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังระบุว่า ผลลัพธ์ร้ายแรงจากการทำรัฐประหารในเมียนมา นับเป็นบททดสอบใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เรียกร้องให้กลุ่มระดับภูมิภาคแห่งนี้ ให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในเมียนมา และป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง จนเกิดวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม 

เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการด้านวิจัยประจำภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า วิกฤตในเมียนมาอันเป็นผลมาจากกองทัพ นับเป็นบททดสอบใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของอาเซียน พันธกิจแบบเดิมที่เน้นการไม่แทรกแซงในภูมิภาคนี้ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เพราะสถานการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ปัญหาภายในของประเทศเมียนมา หากเป็นวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมของทั้งภูมิภาคและพื้นที่อื่น ๆ

“วิกฤตครั้งนี้เป็นผลมาจากกองทัพเมียนมาที่มุ่งสังหารบุคคลอย่างปราศจากจิตสำนึก ทำให้สถานการณ์ในประเทศลุกลามบานปลาย และทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านมนุษยธรรมและด้านอื่น ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะหากกองทัพยังคงกระทำการละเมิดและก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อไป โดยไม่ต้องรับผิดอย่างสิ้นเชิง

“นอกจากนั้น ทางการอินโดนีเซียมีหน้าที่ต้องสอบสวนพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่ทหารคนอื่นจากเมียนมา ซึ่งอาจร่วมเดินทางกับเขาไปยังกรุงจาการ์ตา

“ต้องมีการสอบสวนต่อผู้นำรัฐประหารในเมียนมา ตามข้อกล่าวหาที่มีการบันทึกข้อมูลอย่างกว้างขวางโดยคณะทำงานค้นหาข้อเท็จจริงในเมียนมาขององค์การสหประชาชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และหน่วยงานอื่น ๆ ทางการอินโดนีเซียและรัฐภาคีอาเซียนอื่น ๆ ไม่สามารถเพิกเฉยต่อความจริงที่ว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรงสุดในครั้งนี้ ซึ่งเป็นข้อกังวลสำหรับประชาคมระหว่างประเทศโดยรวม”

โดยในจดหมายเปิดผนึก ถึงอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนในการประชุมสุดยอดนัดพิเศษ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

สำหรับอาเซียน:

  • ให้ร่วมกันประณามต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกประการที่เกิดขึ้นในเมียนมา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ และให้ยุติการใช้กำลังถึงขั้นเสียชีวิตกับเด็ก ผู้ชุมนุมโดยสงบ และผู้สังเกตการณ์
  • สั่งการให้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) จัดทำแนวทางร่วมกันเพื่อประกันว่า การดำเนินงานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาต้องให้ความสำคัญ และมุ่งแก้ไขข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งสอดคล้องตามอำนาจหน้าที่ของ AICHR ในข้อ 4.11 ของกรอบอ้างอิงของตน อาเซียนควรรับรองแนวทางร่วมกันเช่นนี้ และให้ถือเป็นแนวปฏิบัติขององค์กรในภูมิภาคในการมีส่วนร่วมใด ๆ ในเมียนมา รวมทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และการปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร
  • สนับสนุนการทำงานของกลไกอิสระระหว่างประเทศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา เพื่อสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา
  • กระตุ้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ให้ส่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาทั้งหมด เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ
  • สนับสนุนข้อเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายอาวุธจากทั่วโลกกับเมียนมา
  • สนับสนุนข้อเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ใช้มาตรการแทรกแซงทางการเงิน โดยมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงไปที่เจ้าหน้าที่ที่คาดว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและการละเมิดร้ายแรง รวมทั้งที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 

 

สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน

  • งดเว้นการส่งกลับบุคคลใด ๆ ไปยังเมียนมาภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ โดยไม่คำนึงถึงสถานะการเข้าเมืองของบุคคลนั้น ให้ยุติการเนรเทศและส่งกลับใด ๆ จนกว่าจะมีการรับประกันความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน การส่งกลับบุคคลภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ ย่อมถือเป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ (Non-Refoulement) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีด้านสิทธิมนุษยชน ที่ห้ามการส่งกลับบุคคลอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเข้าเมืองมาอย่างไรก็ตาม กรณีที่การส่งกลับไปยังประเทศอื่นที่เชื่อได้ว่า อาจทำให้บุคคลนั้นได้รับอันตรายที่ไม่อาจแก้ไขกลับคืนได้ อันเป็นผลมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
  • ให้การประกันว่าการส่งกลับหรือการส่งคืนผู้ลี้ภัยกรณีใด ๆในอนาคต ไม่เพียงต้องเกิดขึ้นในสภาพที่ปลอดภัย เป็นไปโดยสมัครใจและมีศักดิ์ศรีเท่านั้น หากยังต้องมีการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน รวมทั้งการให้บุคคลเหล่านั้นเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ ประเทศต่าง ๆ ควรมีการประเมินเป็นรายบุคคล เพื่อจำแนกความจำเป็นด้านการคุ้มครองระหว่างประเทศ
  • ดำเนินการตามเขตอำนาจศาลสากลและอำนาจศาลในรูปแบบอื่น เพื่อสอบสวนพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายตามข้อกล่าวหาว่าได้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอื่น ๆ ตามกฎหมายระหว่างประเทศในเมียนมา 

 

 

 
 

 

**********
 
เนาวรัตน์ เสือสอาด
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร
Naowarat Suesa-ard
Media and Communications Supervisor