ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เว็บ thaingo.org จะปรับค่าบริการจากเดิม 300 บาทเป็น 500 บาท
From January 1, 2023, thaingo.org will adjust job announcement fee from 300 baht to 500 baht.

ThaiNGO team support only thaingo.org and thaingo.in.th.

เว็บไซต์ที่ทีมงาน thaingo ดูแลคือ thaingo.org และ thaingo.in.th เท่านั้น

‘ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ชนเผ่าพื้นเมืองก็เช่นกัน’ การเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ยังไม่ตกถึงมือชนพื้นเมือง

ขอบคุณภาพจาก อิสรานิวส์ : https://www.isranews.org/isranews-news/72716-news-72716.html

 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานพูดคุยหัวข้อ “ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์ ตอน สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง” ผ่านช่องทาง zoom เนื่องในวาระครบรอบ 7 ปีการหายตัวไปของบิลลี่- พอละจี รักจงเจริญ โดยมีผู้เข้าร่วมการพูดคุยคือ เกรียงไกร ชีช่วง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (KNCE) และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ธนกฤต โต้งฟ้า  เยาวชนกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง พชร คำชำนาญ ผู้แทนจากภาคีเซฟบางกลอยและพีมูฟ และพรสุข เกิดสว่าง ผู้อำนวยการเพื่อนไร้พรมแดน

โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์บนโลกนั้นมีมากกว่า 5,000 ชาติพันธุ์ ถือเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก และในเอเชียนั้นมีกลุ่มชาติพันธุ์ 70 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก ซึ่งนิยามของชนพื้นเมืองคือระบุว่าตนนั้นเป็นชนพื้นเมือง มีประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับภูมิภาค ดินแดนและทรัพยากรธรรมชาติโดยรอบรวมทั้งมีอารยธรรมเป็นของตนเอง มีระบบสังคม เศรษฐกิจ สังคมที่เป็นเอกลักษณ์ และส่วนใหญ่พบว่าถูกเลือกปฏิบัติจากภาครัฐ ทั้งนี้ ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองหรือ UNDRIP ระบุว่าชนเผ่าพื้นเมืองนั้นมีเสรีภาพและความเท่าเทียมกับกลุ่มคนอื่นๆ และมีสิทธิจะใช้สิทธิโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ โดยเฉพาะบนพื้นฐานของความเป็นชนเผ่าพื้่นเมืองหรืออัตลักษณ์โดยกำเนิดของแต่ละคน

 

ไม่ได้เรียกร้องเพื่อให้มีเอกสิทธิ์มากกว่าคนอื่น แต่เรียกร้องเพื่อให้เท่าเทียมกับคนอื่น

เกรียงไกร ชีช่วง จากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ในขบวนของชนเผ่าพื้นเมืองในไทย พยายามจะทำความเข้าใจพัฒนาการของชนเผ่าพื้นเมืองมาโดยตลอด เมื่อเรานึกถึงชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่ ในยุคล่าอาณานิคมชนเผ่าพื้นเมืองถูกกระทำ ถูกฆ่า เช่น ในอเมริกาที่มีอินเดียนแดงถูกล่า และอีกสถานการณ์หนึ่ง แต่ละรัฐชาติจะรวมความเป็นหนึ่ง กลุ่มชาติพันธุ์จึงต้องเข้ามารวมเป็นหนึ่งในชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น เช่น รัฐไทยที่กำหนดให้พูดภาษาไทยเท่านั้น กะเหรี่ยงที่มีภาษาของตัวเองจึงไม่ตรงตามที่รัฐนิยาม

"ในประเทศไทย Indigenous people หมายถึงประชาชน ประชาชาติที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์กับสังคมก่อนการรุกรานหรือล่าอาณานิคม มีความต่างจากภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม และมีความมุ่งมั่นจะสืบทอดอัตลักษณ์ของตนต่อคนรุ่นอนาคต และขณะเดียวกันก็พร้อมจะสร้างสถาบันขึ้นมาในสังคมของตน ทั้งนี้พวกเขามิได้เป็นกลุ่มครอบงำของสังคม เพราะชนเผ่าไม่ได้มีพื้นที่ขนาดนั้นแต่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงสร้างหลัก”

และเสริมว่าในประเทศไทย สภาชนเผ่าพื้นเมืองถือเป็นพัฒนาของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ในไทยที่ร่วมกันเปิดสภามาตั้งแต่ปี 2550 มีการนิยามตัวเองเช่น ชาวเขา ชาวเล ชาวไทยภูเขา กลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย เป็นต้น โดยรวมนั้นมีการพยายามจะให้สมาชิกและกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มใช้คำร่วมกันคือ Indigenous people

สำหรับประเด็นเรื่องการเรียกแทนตัวเองนั้น คำว่ากะเหรี่ยงถือเป็นภาษาทางการ และมีชื่อเรียกเฉพาะเช่น พี่น้องปกากะญอ หรือพี่น้องม้ง หรืออาข่า หรือในภาคใต้ก็มีพี่น้องมอแกน หรือมอแกลน หากเราเรียกถูกก็ถือเป็นการยอมรับในขบวนการเคลื่อนไหวนั้น

เวลานี้กำลังอยู่ในขั้นกลไกสภาเป็นการรวมกลุ่มชาติพันธุ์ 47 กลุ่ม และพยายามทำกิจกรรมสื่อสารสาธารณะ และพยายามผลักดัน พ.ร.บ. ชนเผ่าสาธารณะ ซึ่งตอนนี้ พี่น้องหลายส่วนพยายามผลักดันให้เกิดการคุ้มครอง พ.ร.บ. คุ้มครองชาติพันธุ์ โดยแบ่งออกเป็นสามร่าง มีร่างแรกคือร่างจากรัฐที่มีหน่วยงานหลักเป็นศูนย์มานุษยวิทยาภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม, ร่างที่สองคือร่างจากสภาชนเผ่าพื้นเมืองที่พี่น้องรวมกันทำ และเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมาก็ได้ยื่นรายชื่อให้รัฐสภา และร่างที่สามคือร่างจากคณะกรรมาธิการภายใต้สตรี เด็ก เยาวชน คนพิการและ LGBT โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นพัฒนาการของสภาชนเผ่าพื้นเมือง

"ขอขยายความว่า การพัฒนากฎหมายคุ้มครองสิทธิชาติพันธุ์ต่างๆ เราไม่ได้พัฒนาเพื่อจะได้มีกฎหมายที่เป็นเอกสิทธิ์มากกว่าคนอื่น มากกว่าประชาชนคนไทย เราพัฒนาเพื่อจะให้สิทธิต่างๆ ที่ถูกกดทับ ถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับการเข้าถึง ให้มันได้ เราไม่ได้พัฒนาเพื่อเราจะพิเศษกว่าคนอื่น แต่เราจะพัฒนาสิ่งที่เราสูญเสีย ถูกละเมิดไปให้เท่ากับคนอื่น" เกรียงไกรกล่าว

 

คนอยู่กับป่าและป่าอยู่กับคน

ธนกฤต โต้งฟ้า เยาวชนกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง กล่าวว่า ที่ผ่านมาการต่อสู้ของชนเผ่าพื้นเมืองนั้นมีปัญหาจากนโยบายและความไม่ใส่ใจของรัฐ ในไทยมีชาติพันธุ์ราวๆ 63 ชาติพันธุ์ คิดเป็นชนเผ่าพื้นเมือง 39 กลุ่ม ล่วงเลยมาถึงปัจจุบันนี้ ยังมีทัศนคติหรือแนวความคิดของคนที่ปกครองประเทศ โดยเฉพาะภาครัฐ ที่นิยามชนเผ่าพื้นเมืองว่าเป็นผู้ทำลายป่า ติดยา ด้อยพัฒนา โดยไม่ได้เข้าไปศึกษาหรือเรียนรู้วิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจริงๆ ว่าพวกเขากลมกลืนและมีวัฒนธรรมกับป่าอย่างไรบ้าง

“แนวคิดที่ว่าชนเผ่าทำลายป่านั้นกลายเป็นแนวคิดที่ล้าหลังเสียเอง แนวคิดของรัฐที่บอกว่าป่าต้องเป็นป่าเท่านั้นจึงผิดมหันต์ เพราะในป่ามีคนอยู่ คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ แนวทางการพัฒนาประเทศต่างๆ ของรัฐจึงมองข้ามคนที่อยู่ในป่าไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ จะมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหารและมีทรัพยากรที่ล้วนเป็นที่ต้องการของคนและรัฐที่อยากเข้าไปพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาแร่ เหมืองต่างๆ โดยไม่มีกระบวนการหรือกลไกใดๆ รองรับประชาชน ทั้งยังไร้ความรับผิดชอบหรือการเยียวยาต่อเผ่าชาติพันธุ์”

ธนกฤตยกตัวอย่างกรณีหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่เป็นหมู่บ้านของตนอยู่ที่กาญจนบุรี และมีบริษัทเอกชนเข้าไปสัมปทานเหมือง ขุดแร่ตะกั่วใกล้ๆ หมู่บ้าน ห่างกันไม่เกิน 12-13 กิโลเมตร แล้วเอาแร่ที่ได้มาแปรที่ริมห้วย เมื่อถังที่รองรับตะกั่วล้นก็ไหลลงน้ำ ทำให้ลำห้วยมีสารปนเปื้อนมาจนถึงปัจจุบัน โดยรัฐก็ไม่ได้ไปดูแล ควบคุมใส่ใจการดำเนินการของเอกชนเลย ทำให้คนในพื้นที่ต้องสู้ด้วยตัวเอง

"ทั้งหมดนี้ทำให้พวกเราต้องหาแนวทางการต่อสู้อื่นไปเรื่อยๆ จนช่วงหลังมีกลุ่มนักวิชาการ ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยเหลือ ชาวบ้านจึงสู้จนชนะคดี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ห้วยกลับมาอยู่ในสภาพที่สะอาดจนใช้ได้อีกต่อไป ชาวบ้านยังมีค่าตะกั่วในเลือด เด็กก็มีค่าตะกั่ว ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าสิทธิคนที่อยู่บนดอยมันจึงลำบากมาก" ธนกฤตกล่าว

และว่าอยากให้นึกภาพว่า บ้านใคร ใครๆ ก็รัก คนที่อยู่ป่าเขาก็ต้องรักป่า เขาต้องพึ่งพาป่า เขาก็ต้องรักษาป่าเสมอ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะทำลายป่าเลย

 

ประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่เคารพชนเผ่าพื้นเมือง

พรสุข เกิดสว่าง ผู้อำนวยการเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวว่า ในการต่อสู้หลายๆ ครั้ง เมื่อเราโฟกัสเรื่องเสรีภาพการแสดงออก การมีส่วนร่วมทางการเมืองต่างๆ นั้น บางทีถ้าคนทำงานในแวดวงนี้พูดเรื่องสิทธิชนพื้นเมืองมักถูกบอกว่า เอาไว้ก่อน เชื่อกันว่าถ้าการเมืองดีก็จะได้สิทธินั้นมาเอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในพม่าเช่นกัน เท่าที่ผ่านมา ตนพบว่าคนที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง เมื่อพูดเรื่องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองจะถูกมองว่าเป็นเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งตนมองว่ามันเป็นสิทธิมนุษยชนเช่นกัน เพราะแต่ละสิทธิแยกขาดจากกันไม่ได้

“การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนชาวพม่านั้นมีการลุกฮือของประชาชนหลายครั้ง กลุ่มนักศึกษาจะได้รับการพูดถึงเยอะ ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ก็เผชิญปัญหาของตัวเองมานานกว่า 50-60 ปี จากการถูกกดดัน กวาดล้างแย่งชิงทรัพยากร แต่เสียงของพวกเขานั้นไม่มีใครได้ยิน จนเกิดการรัฐประหารล่าสุด ผู้คนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐประหาร

 สิ่งที่เปลี่ยนไปมากจริงๆ คือเสียงของชนเผ่าถูกได้ยินอย่างชัดเจนขึ้นมาก คนพม่ารุ่นใหม่หันมารับฟังเพื่อนของตน จึงได้ข้อสรุปว่า ประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้นได้หากคุณไม่เคารพชนเผ่าพื้นเมือง ฉะนั้นการต่อสู้ในครั้งนี้จึงเปลี่ยนไปเยอะ ส่วนตัวมองว่าเป็นการเรียนรู้ของประชาชนที่น่าตื่นเต้นมากพอสมควร”

ข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองมันมีความข้ามพรมแดนอยู่ เนื่องจากคำนี้ไม่ได้แปลว่าคนดั้งเดิมที่แปลว่าผู้คนต้องอยู่ตรงนั้น ในสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองจึงมีสู้ร่วมกันได้ เรียกร้องร่วมกันได้ ไม่ได้แบ่งว่านี่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองไทยหรือชนเผ่าพื้นเมืองพม่า

 

การรุกไล่ในนามของรัฐต่อพี่น้องบางกลอย

พชร คำชำนาญ ผู้แทนจากภาคีเซฟบางกลอยและพีมูฟ เริ่มการพูดคุยด้วยการตอบคำถามที่ว่าปัจจุบันชนเผ่าพื้นเมืองด้อยสิทธิกว่าคนไทยอย่างไร โดยยกตัวอย่างเรื่องพี่น้องบางกลอยซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่เกิดในพื้นที่ป่า ทำไร่หมุนเวียน เก็บของป่า ประวัติศาสตร์ของบ้านชาวบ้านเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2455 จากแผนที่ภาพถ่ายของกรมทหารบก ให้นึกว่าหากวันดีคืนดีมี มีพระราชบัญญัติป่าไม้ ระบุว่าบ้านเราเป็นป่าตามนิยามของรัฐ ต่อมาปี 2504 มี พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับแรก ตามมาด้วยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติขึ้น ที่ทำให้บ้านของเรากลายเป็นพื้นป่า ทับซ้อนอย่างน้อย พ.ร.บ. สามฉบับ นี่คือสิ่งที่พี่น้องบางกลอยต้องเผชิญ

“ชาวบ้านจึงแทบไม่หลงเหลือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เด็กที่ยังไม่ได้คลอดก็อยู่อย่างผิดกฎหมายตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว นี่คือสิ่งที่พี่น้องชาติพันธุ์ด้อยกว่า จากนั้นก็มีการพยายามผลักดันพี่น้องลงมาหลายครั้ง โดยพื้นที่ที่อพยพลงมาใช้เวลาเดินเท้าลงมาสองวัน คือหมู่บ้านโป่งลึก”

และว่า เมื่อนำพี่น้องลงมาก็ถูกเรียกว่าหมู่บ้านบางกลอยล่าง ซึ่งกลายเป็นการเบียดเบียนพี่น้องบ้านโป่งลึก สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีพี่น้องบางกลอยไม่ได้รับการจัดสรรพื้นที่ทำกินเลย หรือทำกินแบบเดิมไม่ได้ ทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ รวมทั้งเข้าถึงระบบน้ำต่างๆ ไม่ได้ พี่น้องบางส่วนจึงกลับขึ้นไป จนการเข้ามาของหัวหน้าอุทยานชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้นที่สร้างยุทธการตะนาวศรี นำเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่แล้วผลักดันชาวบ้านลงมาหลายครั้ง จนเกิดการเผาบ้าน ยุ้งข้าวที่ถูกเผาไป 98 หลัง

"การขับไล่ในวันนั้นต้องเรียกว่าการผลักดันโดยไม่มีการจัดสรรใดๆ ชาวบ้านจึงต้องทนทุกข์อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเหมือนค่ายกักกัน ทั้งนี้ ผ่านมา 25 ปีชาวบ้านยังคงเจ็บปวด ครูป๊อด-ทัศกมล โอบอ้อม ที่เป็นทนายความถูกลอบสังหาร บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ที่เป็นแกนนำต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทั้งหลายโดยเฉพาะในชั้นศาลปกครอง และถูกอุ้มหายปี 2557" พชรกล่าว

 

บิลลี่ที่ทุกคนรู้จัก

ช่วงท้ายของการพูดคุย มีการพูดคุยถึงบิลลี่ โดยเกรียงไกรกล่าวว่า หลังเครือข่ายกะเหรี่ยงรวมตัวโดยที่บิลลี่ได้เข้ามาร่วมด้วย บิลลี่ต้องการสื่อสารความจริงว่าที่บางกลอยนั้นมีเหตุการณ์อะไรแน่ การที่ชนเผ่ากะเหรี่ยงลุกขึ้นสู้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่บิลลี่พยายามเรียนรู้และเข้าหาภาคหน่วยของทุกรัฐ ไปฝึกเรื่องการสื่อสาร ฝึกบันทึกวิดีโอ ส่วนตัวคิดว่าเหตุที่บิลลี่ถูกอุ้มหายนั้นเพราะคนที่จับตาบิลลี่อยู่นั้นยอมไม่ได้เพราะกลัวได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของบิลลี่

โดยพรสุขเสริมว่า ตนรู้จักกับบิลลี่ครั้งแรกปี 2555 ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เจอก็รู้สึกว่าบิลลี่พิเศษกว่าคนอื่นตรงที่เป็นคนเปิดกว้างมาก พร้อมเรียนรู้ทุกสิ่ง บิลลี่อยากทำหนังเล่าเรื่องเพื่อให้ได้เข้าถึงคนจำนวนมาก นอกเหนือไปจากงานวิจัยและงานเขียนที่เขาพยายามทำ ส่วนตัวจึงรู้สึกว่าบุคลิกเช่นนี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ และอาจไม่ได้เจอคนแบบนี้บ่อยนัก

ด้วยบุคลิกเป็นคนร่าเริงและอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้หลายๆ คนรอบตัวไม่ได้ระวังว่าบิลลี่จะตกอยู่ในอันตราย ทั้งที่ทุกคนรู้ว่าบิลลี่มีความเสี่ยง ตนก็รู้สึกผิดที่ไม่ได้เตือนเขา แล้วเมื่อถึงวันที่บิลลี่หายไปจริงๆ ก็รู้สึกผิดอย่างมาก หลังจากนั้นจึงคิดว่าสำคัญมากที่คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทุกคนต้องช่วยกันดูแลเรื่องนี้

พชรเสริมว่า ไม่ได้รู้จักกับบิลลี่เป็นการส่วนตัว แต่เคยติดตามกรณีการหายตัวของบิลลี่สมัยเรียน และได้อยู่ในเหตุการณ์ที่ DSI แถลงพบชิ้นส่วนกระดูกที่คาดว่าเป็นกระดูกของบิลลี่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับบิลลี่และทนายนั้นเป็นความเจ็บปวดของคนในชุมชนอย่างมาก ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของบิลลี่นำมาสู่การเคลื่อนไหวของพี่น้องบางกลอยในทุกวันนี้

โดยพรสุขกล่าวปิดท้ายว่า "ในฐานะที่เป็นมิตรสหายของชนเผ่าพื้นเมืองในไทย รู้สึกว่าคำตอบสำคัญคือการทำงานกับคนรุ่นใหม่ๆ อยากฝากถึงการเชื่อมประสานร่วมงานกับชนเผ่าอื่นๆ ข้ามพรมแดน ซึ่งหากเราเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ก็อยากให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้และแม่นในหลักการนี้เข้าไว้ เพื่อให้เราสามารถยืนยันว่าเรามีสิทธิ มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ที่ใครจะพรากไปจากเราไม่ได้ และไม่มีใครมอบให้เราได้เช่นกัน"

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าเนื่องในโอกาสครบรอบเจ็ดปีการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องอีกครั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดในกระบวนการพิสูจน์หลักฐานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ โดยต้องให้ญาติหรือครอบครัวสามารถเข้าถึงความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และควรมีผู้ถูกลงโทษจากการถูกบังคับให้สูญหายครั้งนี้ ดังนั้นต้องมีการนำตัวผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของบิลลี่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ความเป็นธรรมและเยียวยาครอบครัวผู้สูญหายและชุมชนที่เกี่ยวข้องโดยยึดหลักตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้